“สมชาย-ประสาร” เตือนรัฐขัด รธน.หากลุยวาระ 3 ชี้ ต้องประชามติถาม ปชช.ก่อน ย้อนแก้ราย ม.ก็ได้ เตือนเพื่อน ส.ส.-ส.ว.เห็นชอบ อาจขัด ม.68 และประโยชน์ทับซ้อน แฉหวังล็อบบี้ ส.ว.เสนอยืดอายุพวกเลือกตั้งรวม 9 ปี แลกแก้ ม.309 คืนชีพนายใหญ่ครองอำนาจ เป็นผลต้องตั้ง ส.ส.ร.มาบังหน้า หวั่นรู้มุก-เผย กมธ.เรียกสอบ “เหลิม” หลังสมาคมนักข่าว นสพ.-วิทยุโทรทัศน์ ยื่นร้องถูกคุกคาม หลัง ตร.ยิงแก๊สน้ำตาช่วงพิทักษ์สยามชุมนุม
วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ และ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการที่รัฐบาลจะเดินหน้าโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โดย นายสมชาย กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการกระทำขัดต่อต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 3 ก.ค.2555 ที่ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มาจากการลงประชามติของประชาชน ดังนั้น หากจะแก้ไขจะต้องถามความเห็นของประชาชนก่อนว่าจะแก้ไขหรือไม่เสียก่อน ซึ่งรัฐสภาก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เป็นรายมาตราอยู่แล้ว ดังนั้น ตนอยากเตือนเพื่อน ส.ว.และ ส.ส.หากจะลงมติในวาระ 3 จะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำขัดต่อคำสั่งของศาลอาจส่งผลต่อการยุบพรรคและพ้นจากสมาชิกภาพได้ อย่างไรก็ตาม หากยังดำเนินการลงมติในวาระ 3 พวกตนก็จะจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพื่อคัดค้านต่อไป
นายประสาร กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามยื่นขนมหวานให้ ส.ว.เลือกตั้งโหวตรัฐธรรมนูญโดยแลกกับการต่อวาระการดำรงตำแหน่งให้อีก 3 ปี เมื่อรวมกับ 6 ปี ในวาระที่ครบในปีหน้าก็จะได้เป็น 9 ปี ซึ่ง ส.ว.เลือกตั้งหลายคน อาทิ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. นายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา นายสุรจิตต์ ชิระเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะทราบว่า การแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ต้องการแก้มาตรา 309 ซึ่งเป็นกล่องดวงใจที่สามารถปลดพันธนาการและคืนอิสรภาพให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีกลับคืนสู่อำนาจได้ และเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องตั้งส.ส.ร.ขึ้นพิจารณา เพราะหากนำมาแก้เป็นรายมาตราในรัฐสภาจะทำให้สังคมรู้ทันว่าจะแก้อะไรบ้าง
“ผมเชื่อว่า หากรัฐบาลยังผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ก็จะเกิดความขัดแย้งอีกรอบ ซึ่งเป็นเหมือนระเบิดลูกเก่า แต่นำมาวางใหม่ ดังนั้น ยื่นเข้ามาในสภาเมื่อไหร่จะเกิดเรื่องเมื่อนั้น ดังนั้น เมื่อมีคนยื่นขนมหวานมาให้ ส.ว.เลือกตั้งอยู่ต่ออีก 3 ปี ก็อาจเออออด้วย แต่ขอเตือนว่าจะสุ่มเสี่ยงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะยกมือให้ตัวเองได้ประโยชน์” นายประสาร กล่าว
ขณะเดียวกัน นายสมชาย ยังแถลงว่า หลังจากที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และกมธ.การศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาธิบาล วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ชุมนุมและสื่อมวลชน ขณะนี้ กมธ.ทั้ง 2 คณะ ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการร่วมกันฝ่ายละ 5 คน โดยมีตน เป็นประธานอนุกรรมการ มี พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา เป็นรองประธานคนที่ 1 นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา เป็นรองประธานคนที่ 2 นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการ นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยน ร่วมด้วย
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ภารกิจของอนุกรรมการ คือ จะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ข้อมูลการถูกทำร้าย ซึ่งจากนี้จะมีการประชุมอนุกรรมการสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยในวันที่ 11 ธันวาคม เวลา 13.00 น.จะเชิญ ช่างภาพ สื่อมวลชน ที่ประสบเหตุ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้าให้ข้อมูล ส่วนในวันที่ 14 ธันวาคม จะเชิญ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เข้าให้ข้อมูลในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนพี่น้องประชาชนที่ประสบเหตุ ก็สามารถมาร้องต่อคณะอนุกรรมการได้เช่นกัน