xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” ยื่นศาล รธน.ยุบ ปชป.ร่วมสังฆกรรมรื้อ ม.68 พร้อมค้าน 8 ตุลาการฯ วินิจฉัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ (แฟ้มภาพ)
“เรืองไกร” เจ้าเดิม ยื่นศาล รธน.ยุบ ปชป. ฐานร่วมสังฆกรรมแก้ไข รธน.ม. 68 ขณะเดียวกันยังเหิมห้ามไม่ให้ 8 ตุลาการฯ พิจารณาคำร้องวินิจฉัย อ้างทั้ง 8 เป็นผู้มีส่วนได้เสียหลังเคยตีความให้ศาลฯ รับคำร้องตาม ม.68 จากประชาชนได้ จี้ศาลฯ ใช้มาตรฐานเดียวกับการรีบพิจารณาคำร้อง “ส.ว.สมชาย” แต่กลับคัดค้านรับคำร้อง “สมชาย”

วันนี้ (9 เม.ย.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้ส่งนายวิรัตน์ กัลยาศิริ และพวก ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์รวม 11 คน เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และมาตรา 237 ตามสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของนายวิรัตน์และพวก เข้าลักษณะมีมูลที่ศาลรัฐธรรมนูญควรจะรับไว้พิจารณาเช่นเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 ของประธานรัฐสภาและพวกซึ่งเป็น ส.ส.และ ส.ว.312 คน เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

โดยตนได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน สั่งให้กรรมาธิการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 11 คนหยุดทำหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยด้วย

นอกจากนี้ ในคำร้องยังได้คัดค้านไม่ให้ 8 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกเว้นนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นองค์คณะพิจารณาพิจารณาคำร้องดังกล่าวรวมถึงคำร้องของนายสมชาย เนื่องจาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ของรัฐสภาในขณะนี้เป็นการแก้ไขเพื่อตัดสิทธิการยื่นคำร้องโดยตรงของบุคคล ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ว่า ศาลสามารถรับคำร้องตามมาตรา 68 จากบุคคลที่ทราบการกระทำว่าจะมีการล้มล้างการปกครองได้โดยตรง ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ดังนั้นจึงถือว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 8 คนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ข้อ 10 (1) บัญญัติห้ามมิให้ตุลาการที่มีส่วนได้เสียกับเรื่องนั้นๆ เป็นองค์คณะพิจารณา

รวมทั้งยังได้คัดค้านการรับพิจารณาคำร้องของนายสมชาย เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภากระทำในรูปแบบของญัตติแก้ไข ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2554 ว่าศาลฯ มีอำนาจรับพิจารณาเฉพาะร่าง พ.ร.บ.เท่านั้น ไม่มีอำนาจรับพิจารณากรณีเป็นญัตติ

“ที่ผมยื่นให้ตรวจสอบการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ถ้าจะมองเป็นการเมือง ก็ยอมรับ แต่เห็นว่าเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ววอล์กเอาต์ บอยคอต อันนี้ก็ไม่ต้องยื่น แต่นี่ก็ร่วมอภิปราย แล้วพรรคก็ส่ง ส.ส.ตามสัดส่วนเข้ามาเป็นกรรมาธิการแก้ไข ก็ต้องถือว่ามีส่วนได้เสียด้วย ซึ่งผมก็เห็นว่าก่อนหน้านี้คุณสมชาย (แสวงการ) ได้ยื่นมาแล้ว อันนั้นแค่เข้าชื่อเสนอญัตตินะ 312 คนบวกประธานรัฐสภา แต่จริงๆ ในชั้นโหวตรับหลักการ 374 คน เข้าใจว่าคุณสมชายคงจะยื่นเพิ่มเติม และเดี๋ยวก็คงมีผู้แปรญัตติ ก็จะดูว่าผู้แปรญัตติมีส่วนร่วมหรือไม่ ซึ่งก็จะได้มายื่นเติมเต็มให้ครบถ้วน ไม่อยากต้องมายื่นซับซ้อนกับคุณสมชายเพราะกลายเป็นการสร้างภาระให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านี้ประธานศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลต้องรีบพิจารณาคำร้องของคุณสมชายว่าเพราะมีการขอคุ้มครองชั่วคราว ก็คิดว่าศาลฯ คงใช้มาตรฐานเดียวกับคำร้องของผม เพราะก็ขอคุ้มครองชั่วคราวเช่นเดียวกัน”

ด้านนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับคำร้องของนายเรืองไกร เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะทำสำเนาคำร้องส่งให้คณะตุลาการทั้ง 9 คน ก่อนที่จะมีการประชุมพิจารณาคำร้องดังกล่าว แต่ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีวาระการประชุมเมื่อไหร่ ส่วนที่ในคำร้องคัดค้านไม่ให้คณะตุลาการทั้ง 8 คน เข้าร่วมการพิจารณา ยกเว้นนายจรัญ ภักดีธนากุล เนื่องจากเห็นว่า ตุลาการทั้ง 8 คน มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพิจารณานั้น ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะมีมติอย่างไร ซึ่งตนไม่สามารถตอบได้ ต้องรอฟังผลจากที่ประชุมเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น