xs
xsm
sm
md
lg

“สมจิตต์” จี้ถาม รบ. ไยกีดกันไม่ให้ทูตวีรชัย ปกป้องแผ่นดินไทยจากเล่ห์เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวช่อง 7
ชาวเน็ตแชร์กันว่อน เอกสารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปลด “วีรชัย พลาศรัย” ออกจากการทำหน้าที่เจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชา หลังนั่งเก้าอี้นายกฯ ได้ดือนเดียว เผยถูกกาหัวเขี่ยพ้นทางตั้งแต่สมัย “ติ๊งเหล่” เป็นใหญ่ในบัวแก้ว “สมจิตต์” จี้ถาม รบ.ปู ทำไมจึงกีดกันไม่ให้คนดีปกป้องแผ่นดินไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในแวดวงโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีการแชร์ต่อกันว่อน เอกสารด่วนของทางราชการเมื่อวันที่ 9 ก.ย.54 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติตัดนายวีรชัย พลาศรัย ออกจากองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการชายแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) และ ครม. มีมติอนุมัติตามที่เสนอเมื่อ 13 ก.ย.54 ตามเอกสารด้านล่าง





ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นางสมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวช่อง 7 ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว สมจิตต์ นวเครือสุนทร ตอกย้ำว่า ก่อนที่ทูตวีรชัย พลาศรัย จะได้แสดงฝีมือให้คนไทยได้ประจักษ์ในการรักษาแผ่นดินไทย จากการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จนเป็นฮีโร่ในใจคนไทยวันนี้

รัฐบาลที่มีรากมาจาก ทักษิณ ชินวัตร เขี่ยทูตวีรชัย พลาศรัย ออกจากการทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชาถึงสองครั้ง คนไทยควรจะต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า ทำไมจึงกีดกันไม่ให้คนดีปกป้องแผ่นดินไทยจากเล่ห์เขมร

รัฐบาลพรรคพลังประชาชน

นพดล ปัทมะ ในขณะเป็น รมว.ต่างประเทศ ย้ายทูตวีรชัย พลาศรัย จากอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และที่ปรึกษากฎหมายปลัดกระทรวงการต่างประเทศ โดยคำฟ้องของ ป.ป.ช.ระบุ ถึงสาเหตุว่าเกิดจากการที่ทูตวีรชัย ทำบันทึกข้อความคัดค้านการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย

สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ เสนอ ครม. ถอดทูตวีรชัย ออกจากการเป็นกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา ในวันที่ 9 ก.ย.54 ครม. มีมติอนุมัติในวันที่ 13 ก.ย.54 หลังจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าบริหารประเทศเพียงเดือนเศษเท่านั้น

อนึ่งก่อนหน้า นางสมจิตต์ โพสต์ข้อความภายใต้หัวข้อ “สิ่งที่คนไทยต้องรู้” ดังนี้..

ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำลังโหนกระแสเอาหน้ากับผลงานทีมกฎหมายไทยที่มีทูตวีรชัย พลาศรัย เป็นหัวหน้าทีม จากการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอย่างเข้มแข็ง เพียบพร้อมไปด้วยน้ำหนักของหลักฐาน ข้อเท็จจริง และความชาญฉลาดในการหักล้างข้อกล่าวหาของกัมพูชา และคนไทยก็กำลังปลาบปลื้มกับผลงานของทีมกฎหมายไทย แม้ว่าจะยังไม่มีคำตัดสินจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งคงจะต้องรออีกประมาณ 6 เดือนกว่าจะรู้ผล

แต่การต่อสู้อย่างเข้มแข็งของทีมกฎหมายไทยที่มีการเตรียมการกันมานานตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการรักษาอธิปไตยของประเทศ เพราะยังมีกลไกอื่นๆ ที่ต้องขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพไปพร้อมๆ กันด้วย โดยเฉพาะในระดับนโยบายที่จะเป็นผู้กำหนดแนวทางให้ฝ่ายปฏิบัติไปดำเนินการ

กลไกสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา คือ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี ซึ่งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่งตั้งให้ อัษฎา ชัยนาม อดีตอธิบดีกรมการระหว่างประเทศเป็นประธาน ถูกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปลดจากตำแหน่ง ตั้ง บัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ในหลายประเทศ ซึ่งมีปูมหลังเคยรับใช้ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ยุคระบอบทักษิณเรืองอำนาจมาดำรงตำแหน่งประธานเจบีซีแทน โดยมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนี้ในวันที่ 13 ก.ย.54 หลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงเดือนเศษเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังเปลี่ยนที่ปรึกษาเจบีซี จากนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แล้วตั้งนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุง มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ มาทำหน้าที่แทน

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสำคัญยิ่ง เพราะเจบีซีคือกลไกในการเจรจาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาตามกรอบของเอ็มโอยู 43 หากฝ่ายไทยไม่มีความเข้มแข็งปฏิบัติตามนโยบายฝ่ายการเมือง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง สุดท้ายประเทศชาติก็ยังหนีความเสี่ยงในเรื่องอธิปไตยบริเวณรอบปราสาทพระวิหารไม่พ้น

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือยอดที่งอกจากต้นไม้ ทักษิณ และแนวทางที่ ทักษิณ ยึดมาโดยตลอดเกี่ยวกับเขตแดนไทย-กัมพูชา คือ การโอนอ่อนตามความต้องการของเขมรบนความสมประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่ความสมประโยชน์ของสองชาติ แต่เป็นความสมประโยชน์ร่วมกันของผู้นำมากกว่า

อย่าลืมว่า การสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวมีจุดเริ่มต้นจากรัฐบาลทักษิณ และมาปิดจ๊อบในรัฐบาลสมัคร โดยนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ไปลงนามออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียวจนสำเร็จ ทั้งๆ ที่ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ได้ดำเนินการคัดค้าน พร้อมกับเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา จนทำให้ในปี 2550 คณะกรรมการมรดกโลก ไม่กล้ามีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามข้อเสนอของกัมพูชา จนต้องเลื่อนการประชุมออกไป

แต่เมื่อนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชา สนับสนุนให้เขมรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2551 จึงมีมติรับรองให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามเป้าประสงค์ของกัมพูชา แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นโมฆะ แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งมติของคณะกรรมการมรดกโลกได้

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ทนายความกัมพูชาได้หยิบยกเอาการสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลสมัครไปใช้ประโยชน์ในการสู้คดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อโน้มน้าวให้ศาลเข้าใจว่า ไทยเคยยอมรับว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาจึงไม่มีการคัดค้านการขึ้นทะเบียนดังกล่าวที่จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่ในส่วนนี้เพื่อให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้อย่างสมบูรณ์

จนถึงวันนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บริหารประเทศมาแล้วเกือบ 2 ปี ไม่เคยมีคนในรัฐบาลแม้แต่คนเดียวที่จะประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา เพื่อต่อยอดจากรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมัคร เดินหน้าพัฒนาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร โดยไม่คำนึงถึงผลในทางพฤตินัยว่าจะกลายเป็นการยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือพื้นที่ปราสาทพระวิหารไปโดยปริยายหรือไม่

ประเด็นที่สังคมไทยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อจากนี้ไป จึงไม่ใช่เพียงแค่การรอคอยคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายแนวรบที่ไทยต้องยืนยันสิทธิ และอธิปไตยของประเทศที่จะไม่ให้กัมพูชาเข้ามาปล้นแผ่นดินไทย

เพราะแนวรบสำคัญคือ คณะกรรมาธิการเจบีซี ที่ไทยเคยมี อัษฎา ชัยนาม และทูตวีรชัย เป็นขุนพลหลักในการปกป้องเขตแดนไทย ได้ถูกปลดออกจากการเป็นแนวหน้าปกป้องชาติจากความกลับกลอก และเล่ห์เหลี่ยมของเขมรไปเสียแล้ว

หน้าที่ของทูตวีรชัย ได้ทำอย่างสมบูรณ์ในการปกป้องอธิปไตยชาติ และรักษาเกียรติภูมิของชาติไทยในเวทีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจบแล้ว แต่หน้าที่ของคนไทยยังไม่จบเพราะยังต้องเกาะติดเพื่อไม่ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไปฝักใฝ่ผลประโยชน์กัมพูชายิ่งกว่าผลประโยชน์ประเทศไทย เหมือนที่นพดล ปัทมะ ถูก ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการไปออกแถลงการณ์ร่วมกับเขมรมาแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น