xs
xsm
sm
md
lg

บูชายัญนพดล สังเวยคดีพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารของนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนให้กับกัมพูชาและเป็นเรื่องที่นายนพดลต้องชดใช้ด้วยชีวิต โดยล่าสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตั้งองค์คณะขึ้นเพื่อพิจารณาคดีที่เกิดจากการกระทำดังกล่าวของนายนพดลแล้ว

19 มีนาคม 2556 คือวันที่นายนพดลต้องจดจำ เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้มอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องนายนพดลต่อศาลฎีกาฯ เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในกรณีที่นายนพดลไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ที่สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย

พฤติกรรมอำพรางส่อเจตนายกแผ่นดินไทยให้เขมร ป.ป.ช.ได้ย้อนความในสำนวนฟ้องว่านับแต่ศาลโลกลงความเห็นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ภายใต้อาณาเขตอธิปไตยของกัมพูชาฯ และไทยได้ยื่นแถลงการณ์เพื่อประท้วงคำพิพากษาศาลโลกและยังสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคตด้วย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติกำหนดเขตปราสาทพระวิหารเพื่อปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกโดยขีดเส้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหารเนื้อที่ประมาณ 1 ใน 4 ตร.กม. และยึดถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้

กระทั่ง พ.ศ. 2548 กัมพูชายื่นเอกสารต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว ทางนายมนัสพาสน์ ชูโต เอกอัคราชฑูตไทยประจำสหรัฐ ไปคัดค้านไว้ในการประชุมบอร์ดมรดกโลกที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ จนกัมพูชาไม่สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ ต่อมาสมัยนายสมัคร สุนทรเวช รับหน้าที่นายกรัฐมนตรี ช่วงระหว่างวันที่ 3 - 4 มีนาคม 2551 นายสมัคร ได้ไปพบผู้นำกัมพูชาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปหารือกับนายสก อาน รองนายกฯ และรมต.ประจำสำนักนายกฯกัมพูชา โดยกัมพูชาขอให้ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร

จากนั้นนายนพดล ได้นำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ให้ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศพิจารณา ทางนายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในขณะนั้น มีบันทึกช่วยจำคัดค้านเรื่องดังกล่าว แต่จำเลยไม่เห็นด้วยจึงเสนอครม.ให้นายวีระชัย พลาศรัย พ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงทักท้วง แต่นายนพดล ยังยืนยันว่าไม่สามารถรวมงานกับอธิบดีที่มีความคิดเช่นนี้ได้

ต่อมานายนพดล ยังเดินทางไปเขมรอีกหารือกับนายสก อาน เรื่องปราสาทพระวิหารรวมไปถึงการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างประเทศ และมีความประสงค์จะทำแถลงการณ์ร่วมโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ แบบปิดบังอำพรางและมีเหตุจูงใจแอบแฝง แล้วนำเข้าที่ประชุมครม.โดยไม่มีเอกสารแจกให้ที่ประชุมพิจารณาล่วงหน้า เพียงแต่แสดงแผนที่บนจอภาพ ใช้เวลา 15 นาที มีรัฐมนตรีอภิปรายทักท้วงในเรื่องเขตแดน แต่นายนพดล ก็ยืนยันว่าไม่มีปัญหา และกระทำอย่างลุกลี้ลุกลนให้ครม.ยอมรับร่างคำแถลงการณ์ จนวันที่ 18 มิถุนายน 2551 นายนพดล ได้ลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว ไม่สนใจในเสียงทักท้วง ท้วงติงจากหลายฝ่าย

"คำแถลงการณ์นี้มีผลทำให้ราชอาณาจักรไทยต้องสละสิทธิ์ในข้อสงวนที่ประเทศไทยจะต้องเอาประสาทพระวิหารกลับคืนมาในอนาคต กรณีศาลโลกได้พิพากษาเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 เป็นการยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากของปราสาทพระวิหาร ทั้งยังเป็นการแสดงเจตนายืนยันชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขตที่จัดทำโดยกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จึงมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย ประเด็นการกระทำของนายนพดล จึงขัดต่อมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ...."

“นายนพดล ปัทมะ รู้อยู่อย่างถ่องแท้ว่า แถลงการณ์ร่วมนี้อาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศไทย มีผลกระทบทางสังคม แต่จำเลยได้กระทำไปโดยปกปิดซ่อนเร้น บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง จำเลยเอาใจฝักใส่ในผลประโยชน์ประเทศกัมพูชายิ่งกว่าผลประโยชน์ของประเทศไทย ด้วยเจตนาที่แอบแฝงในประโยชน์ที่ตรงข้ามกับประโยชน์ของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้สมเจตนาแห่งตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดน และอำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยเจตนาไม่สุจริต จึงถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เหมาะสม ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี อำนาจหน้าที่แห่งตน มิได้ยึดถือว่าตนเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ไม่ปฎิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กระทำขัดรัฐธรรมนูญ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ไม่รับฟังความเห็นของประชาชน” คำฟ้องของ ป.ป.ช. ระบุให้เห็นถึงพฤติกรรมการกระทำของนายนพดลที่กระทำผิดอาญาแผ่นดิน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2556 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ลงมติเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน เพื่อพิจารณาคดีดังกล่าว โดยผลการลงมติ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกนายเอกชัย ชินณพงศ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา, นายชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายวีระพล ตั้งสุวรรณ, นายนิยุต สุภัทรพาหิรผล, นายกรองเกียรติ คมสัน, นายชาติชาย อัครวิบูลย์, นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นายกำพล ภู่สุดแสวง และนายปัญญา ถนอมรอด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา (อดีตประธานศาลฎีกา) หลังจากนี้องค์คณะทั้งเก้าจะร่วมกันประชุมภายในเพื่อลงมติเลือกผู้พิพากษา 1 ใน 9 เป็นเจ้าของสำนวน และกำหนดนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่ ในวันที่ 26 เมษายน 2556

คดีนี้ นายนพดลเคยลิงโลดอยู่พักใหญ่เพราะอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องมาแล้ว ซึ่งนายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกและกรรมการป.ป.ช. เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า คดีนี้ ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ส่งเรื่องให้อัยการยื่นฟ้องนายนพดลต่อศาลฏีกาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่อัยการแจ้งกลับมาว่าควรจะสอบสวนเพิ่มเติม กระทั่งเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 คณะทำงานร่วม ป.ป.ช. กับสำนักงานอัยการสูงสุด ประชุมร่วมกัน ทางอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายนพดลเพราะเห็นว่าการกระทำของนายนพดลไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ทางป.ป.ช.จึงต้องยื่นฟ้องคดีนี้เอง

หลังจากถูกป.ป.ช.ยื่นฟ้องและศาลฎีกาฯ ตั้งองค์คณะขึ้นมาพิจารณาคดีแล้ว นายนพดลยังปากดีโวไม่หวั่น แถมยังทวงบุญคุณด้วยว่าแถลงการณ์ร่วมฯ นั้นทำเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย ปกป้องพื้นที่ทับซ้อนไม่ให้กัมพูชานำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซ้ำยังป้ายความผิดให้กับข้าราชการผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศว่าให้ความเห็นว่าคำแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาและไม่มีบทบัญญัติเปลี่ยนแปลงอาณาเขตจึงไม่ใช่หนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่เอาเข้าสภา

การพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ เป็นช่วงเวลาเดียวกับการเริ่มนับถอยหลังการพิจารณาคดีพระวิหารของศาลโลก ซึ่งนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ผู้ที่เคยคัดง้างกับนายนพดลจนหลุดจากตำแหน่งอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายมาแล้ว ในฐานะหัวหน้าคณะดำเนินการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารฝ่ายไทย แถลงเตรียมพร้อมให้การต่อศาลโลกในระหว่างวันที่ 15 - 19 เมษายน 2556ที่จะถึงนี้ โดยวางกรอบแนวทางการต่อสู้คดี 4 ข้อ ได้แก่ 1.การยืนยันว่าคำร้องของฝ่ายกัมพูชาไม่ใช่คำขอตีความคำตัดสินเดิม แต่เป็นคำฟ้องคดีใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว ดังนั้นศาลโลกจึงไม่มีอำนาจตีความ แต่ที่ฝ่ายไทยจำเป็นต้องเข้าให้การในศาลโลกก็เพื่อไม่ให้ศาลโลกฟังความจากกัมพูชาฝ่ายเดียว

2.ที่ผ่านมาฝ่ายไทยและกัมพูชาไม่เคยมีข้อขัดแย้งเรื่องพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณรอบปราสาทประวิหาร ดังนั้นศาลโลกจึงไม่ต้องตีความ3.การชี้ให้ศาลเห็นว่าคำร้องของฝ่ายกัมพูชาเป็นเรื่องเดิมที่ศาลเคยปฏิเสธมาแล้วในการตัดสินเมื่อปี 2505 ทั้งในเรื่องเขตแดนและแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งเป็นเหมือนการอุทธรณ์แฝงมาในรูปของการขอตีความ

และ 4.การอ้างสิทธิทับซ้อนบนพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา ไม่มีความเชื่อมโยงกับคดี เพราะเป็นเรื่องที่เกิดใหม่ภายหลังจากการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวของกัมพูชา ซึ่งควรที่จะใช้ช่องทางดำเนินการภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย - กัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย - กัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี พ.ศ. 2543 หรือเอ็มโอยู 2543

ต้องติดตามกันต่อไปว่าคำแก้ตัวของนายนพดลจะฟังขึ้นหรือไม่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาฯ แล้ว และคำตัดสินของศาลโลกรอบสอง จะทำให้ไทยเสมอตัวหรือพ่ายแพ้เพราะความจัญไรของคนที่ฝักไฝ่ในผลประโยชน์ของกัมพูชายิ่งกว่าผลประโยชน์ของแผ่นดินเกิด
กำลังโหลดความคิดเห็น