พท.ได้ทีชื่นชมรัฐบาล ทีมกฎหมายไทยสู้คดีเขาพระวิหารเต็มที่ ตอกหน้าพวกกล่าวหาว่าไม่สู้ คณะบินกลับไทยพรุ่งนี้ ก่อนเข้ารายงานนายกฯจันทร์ที่ 22 เมษาฯ อ้าง “ปู” มี 2 สถานะ พ.ร.บ.นิรโทษเป็นเรื่องของสภา ปัดหมกเม็ดช่วย “นช.แม้ว” ย้ำ ส.ส.และ ส.ว.สายรัฐบาลไม่แจงแก้ รธน.ต่อศาล รธน. เหตุไม่รับอำนาจศาลฯ เพราะก้าวกายฝ่ายนิติบัญญัติ เตรียมแจ้งความดำเนินคดี พร้อมยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบ
วันนี้ (20 เม.ย.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแถลงคดีปราสาทพระวิหารด้วยวาจาต่อศาลโลกว่า พรรคเพื่อไทยขอยกย่องและชื่นชมนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และทีมกฎหมาย ในการทุ่มเทปกป้องดินแดนอย่างสุดกำลัง แม้รัฐบาลจะถูกสบประมาทจากฝ่ายต่อต้านตั้งแต่แรกว่า ไม่สู้ ไม่ทำ สู้ไม่เต็มที่ เตรียมตัวแพ้ วันนี้เห็นชัดทั้งโลกว่า ทั้งรัฐบาลไทย กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพ ได้พิสูจน์ผ่านการถ่ายทอดสด ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ถ่ายทอดสด เพราะสามารถป้องกัน ตัดโอกาสกลุ่มที่จ้องจะบิดเบือน ทั่วโลกต่างชื่นชมที่รัฐบาลไทยถ่ายทอดสดการขึ้นชี้แจงต่อศาลโลก เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ประชาชนรับทราบข้อมูลแต่ยังเป็นการให้เกียรติศาลอีกด้วย
นายอนุสรณ์กล่าวว่า การทำหน้าที่ของทุกฝ่ายนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งต้องยกย่องว่าทำงานได้ดีมาก ทั้งหยิบยกประเด็นต่างๆ มาชี้แจงให้ศาลเข้าใจอย่างชัดเจนทุกประเด็น ซึ่งหลังการแถลงปิดนายกรัฐมนตรีได้โทรศัพท์ทางไกลไปยังคณะทนายความ ที่กรุงเฮก เพื่อแสดงความขอบคุณ คณะทำงานทั้งหมดจะเดินทางกลับจากกรุงเฮกมาถึงอาคารรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ เวลาประมาณ 06.00 น. จากนั้นจะได้เข้าสรุปภาพรวมการต่อสู้คดีต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบในวันที่ 22 เม.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล
“ที่สุดเราได้แต่คาดหวังว่าคงไม่มีกระบวนการยุติธรรมใดที่พึงตัดสินให้เกิดความวุ่นวาย หวังว่าการตัดสินของศาลครั้งนี้จะนำไปสู่การทำให้ทั้งสองประเทศอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขและหวังว่าคงไม่มีกลุ่มการเมืองใดๆ ภาวนาให้ผลการตัดสินไปในทางอื่น ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร วันนี้ทุกฝ่ายคงได้เห็นแล้วรัฐบาลทุ่มเททำเต็มที่ ทำอย่างดีที่สุด เราต้องยืนหลังพิงกัน สามัคคีกัน นี่เป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ของความรักชาติที่ไม่ใช่คลั่งชาติ แม้จะมีคนเชียร์ว่าถ้า 51 ปีที่แล้ว มีรัฐบาลที่สู้เต็มที่แบบนี้เราคงไม่เสียปราสาท แต่ความจริงคือความจริง เราเสียปราสาทไปเมื่อ 51 ปีมาแล้ว วันนี้เราอย่าเสียประสาท จากนี้เชื่อว่าพวกเราจะร้อง ฟังเพลงชาติอย่างมีความภาคภูมิใจความสุขยิ่งขึ้น”
นายอนุสรณ์กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เลิกตีสองหน้ากรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ถ้าการตีสองหน้าหมายถึงการทุ่มเททำงานอย่างหนักใน 2 ฐานะ 2 บทบาทที่ต้องปฏิบัติ คือ ฐานะที่ 1 เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารราชการแผ่นดิน กับฐานะที่ 2 เป็น 1 ใน 500 ส.ส. และเป็น 1 ใน 650 สมาชิกรัฐสภา ก็ต้องยอมรับว่านายกฯ มี 2 สถานะ 2 บทบาทจริง เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน เคารพกติกา ที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะบทบาทไหน รวมถึงการทำหน้าที่บทบาทในสภา การพิจารณาข้อกฎหมาย ซึ่งชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ปรองดอง หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องของสภา ก็ต้องให้สภาว่ากันไป
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะเห็นด้วยหรือไม่ก็หาเหตุผลมาหักล้าง ไม่ใช่มาพูดกระแนะกระแหน เสียดสี ตีกินรายวัน หากมีความเห็นที่แตกต่างก็เสนอเข้ามาได้ตามครรลอง ฝ่ายบริหารจะไปชี้นำหรือแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้อยู่แล้ว ถือเป็นดุลพินิจของสภา ตนไม่เชื่อว่าฝ่ายค้านจะไม่เข้าใจ และน่าจะเป็นฝ่ายที่เข้าใจดีด้วยซ้ำ บางทีปัญหาที่เกิดทุกวันนี้ก็มาจากพวกที่รู้ดีแต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ วอล์คเอ้าท์ตลอดยังกับเป็นพวกกลัวข้อเสื่อม มีโอกาสวอล์คทันที
นายอนุสรณ์กล่าวว่า หลังจากที่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯ ให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนในช่วงเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในเดือน ส.ค.นั้น ในช่วงปิดประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยทุกคนจะเดินลงพื้นที่ชี้แจงประชาชนให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา 3 มีเนื้อหาหมกเม็ดช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น มาตรา 3 ระบุชัดเจนว่า บรรดาการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองให้พ้นผิดหลังจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ โดยให้ช่วยเหลือเฉพาะประชาชนที่มาชุมนุมเท่านั้น ยกเว้นแกนนำ ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส.ส.เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือประชาชน พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้สั่งการให้ทำ แต่พรรคประชาธิปัตย์ชอบนำชื่อพ.ต.ท.ทักษิณมาหากินเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้งที่แกนนำพันธมิตรฯบางคนที่เป็น ส.ว.สรรหาก็ไม่ได้คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะเห็นว่า ประชาชนได้ประโยชน์
“พ.ต.ท.ทักษิณบอกตลอดว่า ให้ช่วยเหลือประชาชนก่อน นี่คือประชาชนต้องมาก่อน ของแท้ ไม่ใช่แค่วาทกรรมสวยหรู ส่วนคนที่ถูกคดีก่อการร้ายนั้น แกนนำเสื้อแดงทุกคนยืนยันว่าไม่ขอรับอานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้”
นายอนุสรณ์กล่าวว่า หลังจากที่ ส.ส.และส.ว.ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการรับวินิจฉัยการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของ ส.ส.และส.ว.312 คน ดังนั้น จากนี้ไป จึงไม่จำเป็นต้องไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ภายใน 15 วันตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด เพราะเมื่อสมาชิกรัฐสภา ไม่ยอมรับอำนาจศาล ก็ไม่จำเป็นต้องไปชี้แจง และขั้นตอนต่อไป ก็กำลังดำเนินการรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับศาลรัฐธรรมนูญ ข้อหาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ กรณีรับคำร้องตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา
ขณะเดียวกัน ส.ส.และส.ว.ก็จะเข้าชื่อกันถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะ โดยจะยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนต่อไปในเร็วๆนี้ ซึ่งเหตุผลที่ต้องดำเนินการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการรักษาหลักการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการไว้ ไม่ใช่เปิดโอกาสให้บางอำนาจขับรถคร่อมเลนคนอื่น เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ระบุชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับรับคำร้องเรื่องนี้ไว้วินิจฉัย
อีกทั้งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญแนะนำให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เมื่อปฏิบัติตามก็ยังรับคำร้องไว้ดำเนินการอีก จึงเห็นว่าการกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการก้าวก่ายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติชัดเจน หากไม่ทำอะไรเลยต่อไปฝ่ายนิติบัญญัติจะไปแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นๆไม่ได้ ก็จะถูกยื่นตีความไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด กลายเป็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มีใหญ่กว่ารัฐสภาที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ
“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญต้องไปพิจารณาว่า เมื่อท่าทีของฝ่ายนิติบัญญัติแสดงออกมาเช่นนี้ ศาลก็ต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไร เป็นปรกติที่ทุกฝ่ายควรหันกลับมาสำรวจอำนาจหน้าที่ของตัวเองว่า ได้ดำเนินการถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่อยากเห็นอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติกระทบกระทั่งกับฝ่ายตุลาการ จนทำให้อธิปไตยของประชาชนสั่นคลอน ทั้งนี้ในมาตรา 291 ไม่มีถ้อยคำใดให้ศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจสอบการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการขอแก้ไขมาตรา 68ไม่ใช่การตัดสิทธิประชาชนที่จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทำเพื่อให้เกิดความชัดเจน และอำนวยความยุติธรรมแก่คู่ความในคดี”