xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” พอใจสู้คดีพระวิหาร พร้อมส่งพิกัดแผนที่ศาลโลก เชื่อไม่เสียท่า ผลออกมาสันติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ รับพอใจทนายสู้คดีพระวิหาร โต้เขมรทุกประเด็น ย้ำมั่นใจในข้อมูล เชื่อแนวทางศาลโลกตัดสินก่อสันติ พร้อมชงข้อมูลพิกัดแผนที่ตามคำขอศาล ยันไม่เข้าทางให้ศาลพิจารณาคดี รอฟังทีมสู้คดีก่อนวางแผนต่อ ลั่นสู้เต็มที่พร้อมระวังความสัมพันธ์



วันนี้ (18 เม.ย.) ที่รัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กรณีกัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 เมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า พอใจการให้การของทีมทนายความ เพราะได้ให้การต่อสู้ในทุกประเด็น และทุกอย่างก็เป็นไปตามที่เราได้คาดหมายไว้ เมื่อถามว่าได้มีการประเมินภาพรวมการแถลง รวมถึงแนวทางตัดสินไว้หรือไม่ว่าจะเป็นอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การประเมินคงไม่สามารถบอกคำตอบได้ แต่เรามีความเชื่อมั่น เนื่องจากข้อมูลต่างๆ และการให้ถ้อยคำด้วยวาจา ที่ทีมทนายได้ทำอย่างเต็มที่ สามารถตอบโต้ในทุกประเด็น และเชื่อว่าทางศาลโลกคงมีแนวทางตัดสินที่ทำให้เกิดความสงบสุข

เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับทีมทนายความหลังจากศาลโลกให้ส่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ตามแผนที่ของทั้ง 2 ฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพูดคุยกันต่อ แต่ก็เชื่อมั่นในแง่ของการต่อสู้ที่ยังเป็นไปตามที่ทีมทนายคาดหวังไว้ และในเรื่องของข้อมูลและแนวพิกัดต่างๆ เราก็มีพร้อมที่จะชี้แจง ส่วนจะได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรกับการที่ศาลให้ส่งพิกัดแผนที่ไปนั้น นายกฯ ระบุว่ายังถือว่าดีอยู่ เรามีข้อมูลหลักฐานทั้งหมด และพร้อมให้คำชี้แจง เมื่อถามย้ำว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่ศาลโลกให้ส่งพิกัดแผนที่ดังกล่าวอาจจะมีแนวโน้มว่าจะรับพิจารณาคดี นายกฯ กล่าวว่า “ไม่หรอกค่ะ ในแง่ของศาลคงต้องการเอาข้อเท็จจริงไปศึกษาเพราะอันนี้เป็นการให้ถ้อยคำโดยวาจา คงต้องส่งข้อมูลหลักฐานพยานต่างๆ และยืนยันว่าเรามีหลักฐานทั้งหมดพร้อมที่จะส่งอยู่แล้ว” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

ต่อข้อถามถึงแนวทางการต่อสู้ในการแถลงครั้งต่อไป ได้เน้นย้ำอะไรบ้างหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คงต้องฟังทางทีมทนายความอีกครั้งเพราะต้องรอประเมินฟังการแถลงของกัมพูชาในวันนี้ด้วย ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นเป็นสิ่งที่เราพึงระวังอยู่แล้ว และเราก็มองว่าการต่อสู้คดีก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ทางด้านของการรักษาความสัมพันธ์ก็ต้องรักษาความสัมพันธ์เพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งต่างๆ ต่างคนก็ต้องทำหน้าที่ของตนไป เราก็ต้องทำหน้าที่ในศาลอย่างเต็มที่ และหวังว่าศาลจะพิจารณาให้มีทางออกที่สันติและทำให้ทุกอย่างเดินหน้าได้

ด้านกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่ข่าวผ่านเว็บไซต์ www.phraviharn.org เมื่อเวลา 10.17 น. วันที่ 18 เม.ย. ว่า เมื่อบ่ายวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้บรรยายสรุปแก่ผู้สื่อข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงทางวาจารอบแรกของฝ่ายไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี ๒๕๐๕ มีสาระสำคัญ ดังนี้

๑) ไทยมั่นใจในคำแถลงทางวาจาในวันนี้ ซึ่งสามารถโต้แย้งและหักล้างประเด็นที่กัมพูชาแถลงต่อศาลฯ ก่อนหน้านี้ได้อย่างครบถ้วนและหนักแน่น

๒) ที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติของไทยได้ย้ำจุดยืนและข้อต่อสู้ของฝ่ายไทย โดยได้ให้เหตุผลประกอบหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อแสดงให้ศาลฯ เห็นว่าคำขอของกัมพูชาไม่ใช่การขอตีความคำพิพากษาฯ แต่เป็นการอุทธรณ์ให้ศาลฯ ตัดสินว่าเส้นเขตแดนต้องเป็นไปตาม “แผนที่ภาคผนวก ๑” ซึ่งศาลฯ ได้ปฏิเสธที่จะตัดสินอย่างชัดแจ้งแล้วในคำพิพากษาฯ นอกจากนี้ ที่ปรึกษากฏหมายยังได้เน้นว่าไทยและกัมพูชาไม่ได้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาฯ ซึ่งไทยได้ปฏิบัติตามอย่างครบถ้วน และกัมพูชาได้ยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วในหลายโอกาส สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิพาทใหม่ที่เกี่ยวกับเขตแดน ซึ่งทั้งสองฝ่ายควรต้องเจรจากันในกรอบผ่านคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – กัมพูชา (JBC)

๓) ผู้พิพากษาอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ ได้ขอให้ไทยและกัมพูชาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจว่า “บริเวณใกล้เคียง” (vicinity) ของปราสาทอยู่ที่ใด โดยอ้างอิงจากแผนที่ที่เคยเสนอในคดีเดิมหรือแจ้งพิกัดของพื้นที่ดังกล่าว โดยให้ส่งเอกสารชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรให้ศาลฯ ภายในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๐๐ น. และ ส่งข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับคำตอบของอีกฝ่ายหนึ่งให้ศาลฯ ภายในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๗.๐๐ น.

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นว่า ฝ่ายไทยไม่มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับความประสงค์ข้างต้นของผู้พิพากษาอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ เพราะไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนมาโดยตลอด ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ว่าไม่ได้สร้างความห่วงกังวลให้แก่ฝ่ายความมั่นคงแต่อย่างใด

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และตัวแทนประเทศไทยในการต่อสู้คดีฯ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการขอรับคำชี้แจงเพิ่มเติมของผู้พิพากษาอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ ว่าเป็นการร้องขอเฉพาะตน ไม่ใช่ในนามขององค์คณะผู้พิพากษาทั้งหมด และเป็นเรื่องปกติที่ผู้พิพากษาจะมีคำถามเพิ่มเติมต่อคู่กรณีได้ ซึ่งในชั้นนี้อยู่ระหว่างรอคำถามดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายทะเบียนศาล ขณะเดียวกันก็จะได้หารือกับคณะที่ปรึกษาเพื่อเตรียมการในเรื่องนี้ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น