xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” พอใจไทยรุกกลับหักล้าง “แผนที่เขมร” กังวลศาลโลกรับฟังหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา (ภาพจากแฟ้ม)
ส.ว.สรรหาเผยพอใจการต่อสู้คดีของฝ่ายไทย ที่นำแผนที่ปี 2505 หักล้างกับแผนที่ “เอเนกซ์ วัน” ที่กัมพูชากล่าวอ้าง แต่กังวลศาลจะรับฟังหรือไม่ เปรียบมวยไล่ถลุงแต่กรรมการไม่กดคะแนน ชี้ศาลจะใช้แผนที่ผิดพลาดมาใช้ไม่ได้



วันนี้ (17 เม.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ถึงผลการให้การโดยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีปราสาทพระวิหาร โดยระบุว่า เป็นไปตามคาดว่าไทยต่อสู้ทางเทคนิค ไทยแพ้ 2505 เพราะหลักกฎหมายปิดปาก ก็พยายามแสดงให้เห็นว่าเมื่อกัมพูชาไม่เคยคัดค้านในสิ่งที่ไทยปฏิบัติเมื่อปี 2505 ก็ถือว่ายอมรับด้วย จะมาพูดอะไรเมื่อ 50 ปีผ่านไป ที่พิเศษในวันนี้คือ ทนายความชาวโรมาเนีย ซึ่งเป็นผู้ช่วยของ ศ.อแลน แปลเลต์ ชาวฝรั่งเศส ขึ้นมาพูดเรื่องแผนที่โดยเฉพาะ ซึ่งทำลายความน่าเชื่อถือหรือความถูกต้องของแผนที่ the Annex I map หรือแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ตารางเมตรของกัมพูชา โดยได้ยกแผนที่ของไทยที่แสดงในคดีเมื่อปี 2505 ที่มีการสำรวจเมื่อปี 2504 และแสดงแผนที่ในชั้นศาลเป็น Map Sheet 4 และ The Big Map ในชั้นแถลงด้วยวาจาเมื่อปี 2505 ไทยได้สร้างแผนที่ขนาดยาว 4 เมตรครึ่ง คูณ 3 เมตรขึ้นแสดงในศาล ซึ่งศาลได้สกัดออกมาเป็น 45% เฉพาะส่วนที่สำคัญ เป็นแผนที่ที่ศาลจัดทำขึ้น เรียกว่า 85P ในนั้นเปรียบเทียบโดยนำมาทาบทับแผนที่ Annex I และแผนที่กัมพูชาให้สถาบัน BAI แสดงให้เห็นว่าแผนที่ Annex I แสดงเส้นสันปันน้ำไม่ถูกตามข้อเท็จจริง แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาอ้างแผนที่ Annex I มาตลอดแล้วเจอเดอะบิ๊กแมป

ขณะเดียวกัน ยุทธวิธีที่ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไม่ได้กล่าวถึงอำนาจศาล แต่ให้ทนายความที่เป็นชาวต่างประเทศเป็นโปรเฟสเซอร์ชาวต่างประเทศมาพูดถึงเรื่องอำนาจศาล ก็มีความชัดเจนพอสมควรว่า สิ่งใดที่ศาลไม่ได้พิพากษาเมื่อปี 2505 สิ่งนั้นศาลก็ไม่มีอำนาจที่จะตีความในปีนี้ และสิ่งที่ศาลไม่ได้พูดถึงในปี 2505 ที่ชัดเจนมาโดยตลอด คือไม่อยู่ในบทปฏิบัติการหรือคำสั่ง คำพิพากษา คือเรื่องความถูกต้องของแผนที่ หรือ Annex I map และเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งกัมพูชากำลังใช้เล่ห์เหลี่ยมที่จะร้องในครั้งนี้ให้ศาลเมื่อผ่านไป 50 ปี กลับมาตัดสินชี้ขาดในสิ่งที่ศาลไม่ได้ชี้ขาดเมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยแอบแฝงในรูปของการตีความตามธรรมนูญศาลมาตรา 60 ชี้ให้เห็นถึงเล่ห์ของฝ่ายกัมพูชา เท่าที่ดูมีการใช้คำค่อนข้างแรงใส่กัมพูชา เมื่อเปรียบเทียบกับท่าทีของฝ่ายไทยมักจะพูดแบบตั้งรับ แต่เที่ยวนี้หลายขั้นตอนก็ทำให้เห็นชัดว่าไทยก็รุกกลับได้

“แต่อย่างที่บอก มวยมันมีสี่ยก กติกาเขาให้ผลัดกันชกทีละยก เมื่อจบยกฝ่ายที่พูดก็เหมือนกับเป็นต่อ แต่ทีนี้เรากลับมาเป็นต่อ พรุ่งนี้กัมพูชา วันสุดท้ายเป็นของไทย แต่สุดท้ายที่เราต้องจำก็คือ คนดูไม่ได้ตัดสิน คนตัดสินคือกรรมการ เปรียบเทียบกับการชกมวย บางทีไล่ถลุงเขาข้างหนึ่งอย่างจัดแจ้ง กรรมการก็ไม่กดคะแนนให้มันก็แพ้ ก็ต้องดูต่อไปว่าศาลท่านจะว่าอย่างไร ก็อีก 5-6 เดือน เพราะเรื่องนี้ต่อสู้กันด้านเทคนิคเป็นหลัก คือ อำนาจการตีความของศาล กัมพูชาพยายามลากศาลให้ตีความในสิ่งที่ศาลในปี 2505 ไม่ได้กล่าวไว้ในบทปฏิบัติการ เราก็ต้องชี้ให้ศาลเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจไปทำในสิ่งที่ 50 ปีที่แล้วไม่ได้ทำไว้” นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า วันนี้แสดงให้ชัดเจนว่าไทยรุกหนักกลับไป ไม่ใช่แค่ตั้งรับ ถ้าเปรียบกับมวยจากที่เป็นมวยจังหวะสอง ไปป้องกันอย่างเดียว จะรุกก็ต่อเมื่อมีโอกาส แต่กัมพูชาเป็นมวยบุก แสดงให้เห็นว่าเราก็บุกเป็น ไฮไลต์ก็อยู่ที่สองวันสุดท้ายว่ากัมพูชาจะตอบโต้เรื่องบิ๊กแมปอย่างไร ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่ทราบเพราะไม่ได้อยู่ในคำพิพากษาปี 2505 แต่มันอยู่ในกระบวนการพิจารณา แต่ทนายชาวโรมาเนียก็ทำได้ดี แต่ถึงที่สุดแล้วไม่ว่าฝ่ายไทยจะทำอย่างไร พยายามอย่างไร ก็อยู่ที่กรรมการจะให้คะแนนยังไง อยู่ที่ศาลตัดสินอย่างไร ที่ตนห่วงลึกๆ มาโดยตลอดคือเรื่องอำนาจศาล วันนี้เราพอใจที่ได้ทำลายความถูกต้องของแผนที่ Annex I โดยแผนที่ที่สเกมาฮอนชี้แจงและทำเอาไว้ก็ถือว่าชัดเจนระดับหนึ่ง ถ้าศาลจะกล้าตีความถึงขนาดให้อินฟินิตี้ของตัวปราสาทเป็นไปตามแผนที่ Annex I ถือว่าเกินไป แม้กระทั่งกัมพูชาก็รู้ว่าแผนที่นั้นผิดพลาด ไปหลงทิศเรื่องห้วยโอตาเซม การเอาเรื่องนี้มาประกาศให้รู้ว่า ศาลจะเกินเลยใช้แผนที่ที่ผิดพลาดมาใช้หลอกหลอนไทยจะทำไม่ได้ แต่ศาลอาจจะบอกว่า เป็นไปตาม ครม.4 ก.ค. 2505 ถือว่าเสมอตัว ชนะคดี แต่ถ้าศาลกำหนดอินฟินิตีใหม่ เหมือนกำหนดเขตรูปสี่เหลี่ยมคางหมูถือว่าน่าเป็นห่วง


กำลังโหลดความคิดเห็น