ทูตสยามให้การโดยวาจารอบแรกต่อศาลโลกคดีปราสาทพระวิหารแล้ว เน้นสวนกลับแผนที่สู้ ซัดคำร้องมิชอบชัด จวกปฏิบัติตามเอ็มโอยู 43 มาตลอดแต่ฉวยโอกาสจะนำ 4.6 ตร.กม.ไปขึ้นทะเบียนร่วมจึงมีปัญหา ชี้ต้นตอการต่างประเทศที่ก้าวร้าวและทะเยอทะยาน สับบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือ
วันนี้ (17 เม.ย.) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเวลา 15.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย ตัวแทนฝ่ายไทยนำโดยนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เริ่มให้การโดยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) แล้ว โดยก่อนหน้านี้นายวีรชัยได้ระบุว่าทางฝ่ายไทยที่จะขึ้นพูดเรื่องแผนที่ คือ ทนายความหญิงอลินา มิรอง ผู้ช่วยของ ศ.อแลน แปลเลต์ เพราะเป็นผู้ที่ทำงานเรื่องแผนที่โดยเฉพาะกว่า 60 ฉบับ โดยนายวีรชัยจะขึ้นพูดเป็นลำดับแรก จากนั้น ศ.โดนัล เอ็ม แม็กเรย์ น.ส.อลินา มิรอง ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด และสุดท้ายคือ ศ.แปลเลต์
นายวีรชัย ให้การต่อตุลาการศาลโลกว่า ในปี 2505 (ค.ศ.1962) ศาลโลกยืนยันชัดแล้วว่า ไม่มีการพิจารณาแผนที่ตามภาคผนวก 1 แต่คำร้องครั้งนี้ของกัมพูชาเป็นคำร้องโดยมิชอบ ซึ่งก่อนหน้านี้กัมพูชายอมรับคำสั่งตามบันทึกความเข้าใจเอ็มโอยู 43 มาตลอด และจุดประสงค์ที่แท้จริงของกัมพูชานั้น ก็คือการพยายามฉวยโอกาสในดินแดง 4.6 ตร.กม.ของไทย ที่เห็นว่ามีความจำเป็นต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อตัวปราสาทพระวิหาร ข้อโต้แย้งของกัมพูชาในปัจจุบัน เป็นเรื่องขอให้ศาลตัดสินเรื่องเขตแดน และคำอ้างของกัมพูชาขณะนี้ เป็นการอ้างเส้นในแผนที่ 1:200,000 ตามอำเภอใจ ทั้งนี้ไทยปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกตั้งแต่ปี 2505 มาตลอด แต่กัมพูชาก็ให้ตัวเองอยู่ในโลกคู่ขนาน บอกว่าค้นพบแผนที่ลับ เป็นความลึกลับที่ครม.ของกัมพูชาเพิ่งได้เรียนรู้
นายวีรชัย ระบุว่า กัมพูชากล่าวหาการเมืองภายในของไทยเป็นต้นตอแห่งปัญหาแต่สาเหตุแท้ที่จริงแล้วเป็นนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวและทะเยอทะยานของกัมพูชา การโต้แย้งโดยไม่มีมูลฐาน แสดงให้เห็นชัดเจนในข้อพิพาทบริเวณพื้นที่เมื่อเทียบปี 2505 บิดเบี้ยวไปมาก โดยไม่สนใจในเรื่องภูมิประเทศ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในเอ็มโอยู 2543 รวมถึงการปักปันเขตแดน ไม่พูดถึงคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร เป็นเพียงขั้นตอนสำรวจสันปันน้ำ กัมพูชาปลอมแปลงเอกสาร แผ่นที่3และ4 ในภาคผนวก 49 รวมทั้งแผนที่ภาคผนวก1 เรื่องการร่างเขต 4.6 ตร.กม. สิ่งที่กัมพูชาทำเป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือ
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ซึ่งได้เข้าร่วมฟังการให้การโดยวาจาต่อศาลโลกครั้งนี้ได้โพสต์ข้อความในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า นายวีรชัย พลาศรัย ได้ทำลายความถูกต้องของ 'the Annex I map' (แผนที่ตามภาคผนวก 1 ที่กัมพูชานำมากล่าวอ้าง) ด้วยการหยิบยก map sheet 3 ใน Annex 49 ท้ายคำต่อสู้คดีของไทยเมื่อปี 2504 (รายงานสเกมาฮอน ที่มีการเดินสำรวจสถานที่จริงบริเวณพระวิหาร) มาหักล้างด้วย
หลังจากนั้น นายคำนูณได้โพสต์รายงานความคืบหน้าการให้ถ้อยคำของทนายความฝ่ายไทยอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก "โปรเฟสเซอร์แมคเร (Donald McRae) ทนายชาวแคนาดาของไทย บอกว่าศาล ณ วันนี้ไม่มีอำนาจตีความในสิ่งที่ศาล ณ ปี 2505 ไม่ได้พิพากษา (the Annex I map และเขตแดน)
โปรเฟสเซอร์อแลง เปเล่ ทนายชาวฝรั่งเศสของไทย กำลังออกอาวุธด้วยกระบวนท่า 'ยืมหอกคืนสนองผู้ใช้' ว่าถ้าสมเด็จนโรดม สีหนุไม่คัดค้านการกำหนดอาณาเขตปราสาทพระวิหารของไทยตามมติ ครม. 10 กรกฎาคม 2505 ก็ต้องถือว่ายอมรับ เพราะท่านเป็นถึงประมุขแห่งรัฐ
อลีนา มีรอง ทนายคนใหม่ของไทย (ผู้ช่วยของโปรเฟสเซอร์อแลง เปเล่ ทนายชาวฝรั่งเศสของไทย) เป็นอาวุธลับที่ขึ้นมาพูดเรื่อง 'map' โดยเฉพาะ กำลังขึ้นมาฉีก 'the Annex I map' ของกัมพูชาเป็นชิ้น ๆ โดยใช้อาวุธหนักที่ทรงพลานุภาพของไทยตั้งแต่เมื่อปี 2505 ชื่อ 'map sheets 3' ที่อยู่ในรายงานสเกมาฮอน แห่งสถาบัน ITC พยานผู้เชี่ยวชาญของไทย (Annex 49) ที่มาจากภาพถ่ายทางอากาศของอเมริกัน ผสมกับการเดินสำรวจสถานที่จริงของนานเฟรเดริค อัครมัน ผู้ช่วยของศาสตราจารย์วิลเลม สเกมาฮอน
'map sheet 3' หรือ 'The big map' ที่ไทยใช้แสดงในการให้การด้วยวาจาของศาสตราจารย์สเกมาฮอนต่อศาลเมื่อ 15 มีนาคม 2505
ศาลได้สกัด 'the big map' เฉพาะส่วนสำคัญออกมา 45 % ให้ชื่อว่า 'map 85 d' เป็นแผนที่เดียวที่ศาลเมื่อปี 2505 จัดทำขึ้น และอะลีนา มีรองได้นำมาแสดงอีกครั้งต่อศาลแห่งนี้หลังเวลาผ่านไป 51 ปี เพียงแต่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น จึงไม่ต้องทำเป็นแผนที่ขนาดยาว 4.5 คูณ 3 เมตรมาแสดงเหมือนเดิม ใช้เพียงภาพฉาย
หลังจากนั้นนายคำนูณได้โพสต์ภาพ 'map 85d' พร้อมคำบรรยาย ดังนี้
ส่วนหัวของ 'map 85 d' เอกสารชิ้นเดียวที่ศาล ณ ปี 2505 จัดทำขึ้นเอง โดยสกัด 45 % มาจาก 'the big map' (จาก map sheets 3, 4 ใน Annex 49) ของไทยที่แสดงในศาลชั้นให้การด้วยวาจาโดยผู้เชี่ยวชาญเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2505 จัดทำโดยสถาบัน ITC ของ ศ.วิลเลม สเกมาฮอน พื้นฐานมาจากภาพถ่ายทางอากาศของอเมริกันประกอบกับการเดินสำรวจพื้นที่จริงของนานเฟรเดอริค อัครมัน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2504
'map 85 d' นี้เปรียบเทียบนำเส้นตาม the Annex I map และแผนที่ของผู้เชี่ยวชาญกัมพูชา map LXVI c หรือ map 66 c โดยสถาบัน D.A.I. ทาบลงไปด้วย เพื่อให้เห็นว่าไม่ตรงกับสันปันน้ำ
ทีมไทยมอบให้อลินา มิรอง ทนายความชาวโรมาเนีย ขึ้นมาพูดเรื่องนี้โดยเฉพาะ