xs
xsm
sm
md
lg

จบศึกแลกหมัด ขึงพืดไทยรุกราน VS เขมรกลิ้งกลอกเจ้าเล่ห์ (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา หัวหน้าคณะทนายความฝ่ายกัมพูชา
ศึกแลกหมัดระหว่างไทย-กัมพูชาที่ศาลโลกเปิดให้ทั้งสองฝ่ายแถลงด้วยวาจาปิดฉากลงแล้ว ท่ามกลางแรงเชียร์ทีมต่อสู้คดีของฝ่ายไทยและความหวังที่มีลุ้นปิดประตูแพ้ หักล้างข้ออ้างเขมรเรื่องแผนที่ 1:200,000 ในจินตนาการ ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาหวังศาลจะรับตีความเพราะยังมีข้อพิพาท พร้อมงัดหลักฐานฟ้องยูเอ็นประท้วงไม่ยอมรับการล้อมรั้วรอบปราสาทพระวิหารตามมติครม.ของไทยเมื่อปี 2505

การเปิดให้ทีมกฎหมายฝ่ายไทยและกัมพูชาแถลงด้วยวาจาในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ที่ศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนอเธอร์แลนด์ โดยกัมพูชาเป็นฝ่ายแถลงด้วยวาจาก่อนเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2556 และในวันที่ 17 เมษายน 2556 ประเทศไทยจะเป็นฝ่ายขึ้นแถลง จากนั้นวันที่ 18 เมษายน เป็นฝ่ายกัมพูชาที่จะแถลงปิดคดี และวันที่ 19 เมษายน 2556 ฝ่ายไทยแถลงปิดคดี โดยมีนายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลกและองค์ตุลาการศาล 17 คนรับฟังถ้อยแถลงคดี ได้ปิดฉากลงแล้ว

คดีดังกล่าว ประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลโลก เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 ว่า คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ไม่ชัดเจนและไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตาม โดยยังมิได้ถอนกำลังทหารหรือตำรวจออกจากบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยกัมพูชาให้เหตุผลว่า วรรคปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาเดิมไม่ระบุชัดเจนว่า "บริเวณใกล้เคียงปราสาท” ครอบคลุมพื้นที่แค่ไหน "ดังนั้น กัมพูชาจึงขอให้ศาลโลกตัดสินว่า ขอบเขตของ 'บริเวณใกล้เคียงปราสาท' จะต้องเป็นไปตามเส้นเขตแดนที่ปรากฏบน 'แผนที่ภาคผนวก 1' ซึ่งแนบท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีเดิม ตามที่กัมพูชาถ่ายทอดเส้นดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเห็นว่า บริเวณดังกล่าวมีขนาด 4.6 ตารางกิโลเมตร”

ต่อมา เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 ไทยได้ยื่นข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ศาลโลก โดยสรุปได้ว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจที่จะตีความและไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณา หรือหากศาลเห็นว่าศาลมีอำนาจและสามารถรับคดีไว้พิจารณาได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลจะตีความคำพิพากษาปี 2505 และขอให้ศาลตัดสินว่าคำพิพากษาศาลในปี 2505 มิได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตาม "แผนที่ภาคผนวก 1”

สำหรับเนื้อหาที่ทั้งสองฝ่ายแถลงรวมทั้งหมด 4 วัน มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

15 เมษายน 2556 ฝ่ายกัมพูชาแถลง ซัดไทยรุกราน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล

นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เป็นผู้เริ่มแถลงเป็นคนแรก ในวันที่ 15 เมษายน 2556 ว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นความร้ายแรงต่อประเทศกัมพูชา ดังนั้นจำเป็นต้องยื่นเรื่องนี้ให้ศาลโลกพิจารณา เพื่อตัดสินให้เกิดสันติภาพในภูมิภาค

ส่วนเหตุผลว่าทำไมจึงต้องยกคดีนี้ขึ้นมาอีก แม้เรื่องดังกล่าวจะมีเวลานานถึง 50 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 1962 ก็เพราะเพื่อให้เกิดการตีความที่ถูกต้อง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการรุกรานบริเวณชายแดนตัวปราสาทพระวิหาร ขณะที่กัมพูชาได้นำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก "หากไม่มีการรุกราน กัมพูชาก็จะมีอธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ ต่อมามีการใช้อาวุธใกล้บริเวณปราสาท ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนจากสื่อสิ่งพิมพ์ถึงการโจมตีกัมพูชา จนสร้างความเสียหายให้กับสถานที่ใกล้เคียงและตัวปราสาท รวมถึงมีผู้เสียชีวิต”

นายฮอร์ นัมฮง กล่าวว่า ต่อมากัมพูชาได้นำเรื่องดังกล่าวยื่นต่อศาลโลก และศาลมีมาตรการชั่วคราวให้ไทยถอนกำลังทหารออกนอกพื้นที่ แต่ไทยกลับทำเหมือนไม่มีข้อพิพาท อย่างไรก็ดี เมื่อศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว กัมพูชาได้พยายามทางการทูตและนำเรื่องกลับมาสู่ศาล แม้จริงอยู่ไทยไม่รับคดีใหม่ แต่มีปัญหาเรื่องการตีความตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ไทยพยายามลดความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา กัมพูชาจึงจำเป็นต้องยื่นให้ศาลตีความเพื่อความชัดเจน

"ผมขอประณามกรณีที่ศาลให้มีมาตรการชั่วคราว แต่ไทยกลับไม่ถอนทหาร และพยายามหาช่องโหว่ที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก ทำให้ผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ซึ่งกัมพูชารู้สึกเสียใจเพราะไม่เป็นไปตามคำพิพากษา และถือเป็นการดูหมิ่นและไม่เคารพกฎหมาย” นายฮอร์ นัมฮง กล่าว

รองนายกฯ กัมพูชาแถลงต่อว่า ส่วนการที่มีประชาชนกัมพูชาอยู่ในพื้นที่ แต่ไทยกลับอ้างเรื่องเอ็มโอยู 43 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักเขตแดนเท่านั้น ทั้งที่เขตแดนเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก อีกทั้งไทยยังให้การวกวนสับสน พูดถึงแต่เรื่องแผนที่ 1 ต่อ 200,000 และพื้นที่ที่ทางไทยยกมาโต้แย้ง ความจริงไทยไม่รู้ว่าจะทำยังไง จะแก้ไขความขัดแย้งในตัวเอง จึงพยายามทำให้การปฏิบัติตามคำพิพากษาล่าช้า จึงต้องให้มีการตีความ

เขาแถลงโจมตีไทยว่า พยายามทำให้ศาลโลกมีความไม่แน่ใจในความหมาย เพราะกัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทตามระบุในแผนที่ดังกล่าว และทำให้ไทยมีพันธกรณีต้องนำทหารออกไป ดังนั้น กัมพูชาต้องการให้ศาลพิจารณาแค่วงรอบ แต่เรื่องนี้เป็นสัญลักษณ์ความสงบอยู่ร่วมกันของไทยและกัมพูชา และเชื่อว่าศาลในฐานะองค์กรหลักของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีบทบาทในเรื่องสันติภาพ หากไม่ตีความ อาจทำให้กัมพูชาไม่สามารถอยู่ร่วมกับไทยได้โดยสันติต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า นายฮอร์ นัมฮง พยายามย้ำในประเด็นการปักปันเขตแดนว่า เราไม่ประสงค์ให้ปักปันเขตแดนเพราะปักปันไปแล้ว แต่ให้ตีความคำพิพากษา 2505

ต่อมา นายฌอง มาร์ค ซอร์เรล ทนายชาวฝรั่งเศสฝ่ายกัมพูชา คนที่ 1 ขึ้นแถลงว่า การตีความคำพิพากษาไทยได้ตอบโต้ออกมาแบบซับซ้อน แต่สรุปได้ง่ายๆ คือ ให้ตีความตามวรรค 2 ซึ่งในคำตัดสินข้อ 2 เชื่อมโยงกับพันธกรณีที่ไทยต้องถอนกำลังทหารออกไปจากรอบๆ ปราสาทพระวิหารและเขตแดนของกัมพูชา ได้มีการกล่าวถึงเขตแดน ทั้งคู่ยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถแยกออกจากส่วนข้อปฏิบัติการ

"การตีความฝ่ายเดียวของไทยนั้นยอมรับไม่ได้ น้ำเสียงที่ไทยใช้และวิธีการ น้ำเสียงที่ใช้นั้นดูถูกเสียดสี การถากถางที่มีอยู่ของไทยว่ากัมพูชามีความกลัว (paranoid) ซึ่งมีอยู่ในเอกสาร และเสียดสีว่าเหมือนอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ (Alice in wonderland) พยายามซ่อนความไม่มีน้ำหนัก แต่ซ่อนไม่ได้”

นายฌอง มาร์ค ซอร์เรล กล่าวว่า ที่สำคัญในเรื่องเนื้อหา ไทยพยายามบอกว่าปราสาทอยู่ในพื้นที่ของไทย แต่ช่วงที่กัมพูชาอยู่ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น ไทยกลับใช้กำลังทหาร จึงสงสัยว่าการใช้กำลังทหารของไทยเกิดขึ้นได้อย่างไรในพื้นที่ของไทยเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องตัวปราสาทพระวิหาร ศาลโลกก็ได้ตัดสินแล้วว่าอยู่ในเขตกัมพูชา

เขากล่าวต่อว่า กัมพูชาจึงต้องการให้ศาลตีความเมื่อปี 1962 และจากการใช้เหตุผลของไทยที่ได้อธิบายมาในปี 2011-2012 แยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ไทยคิดว่าไม่มีความขัดแย้ง และไม่เห็นด้วยในคำพิพากษา ศาลโลกไม่มีอำนาจตีความ แต่ถ้าศาลเกิดมีอำนาจขึ้นมาก็ทำไม่ได้ เพราะบทปฏิบัติการต้องแยกจากคำพิพากษา เพราะไม่เป็นที่สิ้นสุด และหากจะตีความก็ต้องให้ประโยชน์แก่ไทย

"ข้อคัดค้านของไทยไม่มีความคงเส้นคงวา ทำให้ศาลต้องย้อนกลับไปตีความ แต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของคำถามในปี 1962 แต่ไทยไม่เข้าใจประเด็นว่า คดีตีความเป็นอย่างไร กัมพูชาต้องโต้แย้งว่า มันมีข้อพิพาทและตีความได้ตามธรรมนูญข้อ 60 เช่น เรื่องความหมายและขอบเขต เป็นสิ่งที่รับฟังได้ ส่วนแผนที่ที่ไทยนำมาไม่เกี่ยวกันกับการตีความเลย แผนที่ที่สำคัญคือ ภาคผนวก 1 อยู่ในคำฟ้องของกัมพูชาสมัยนั้น แต่ไทยพยายามฝ่ายเดียวเรื่องเขตแดน และทำให้เรื่องแผนที่ภาคผนวก 1 กับบทปฏิบัติการไม่เกี่ยวกัน”

ขณะที่ เซอร์แฟรงคลิน เบอร์แมน ทนายชาวอังกฤษฝ่ายกัมพูชา คนที่ 2 กล่าวว่า คดีนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของสันติภาพและความร่วมมือในภูมิภาค วัตถุประสงค์ของกัมพูชาชัดเจน คือ ต้องการให้มีการตีความโดยอาศัยธรรมนูญข้อ 60 ของศาลโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อให้สิ่งที่เคยตัดสินมาแล้วสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ไม่ใช่การขอตีความเพื่อขอทำซ้ำ หรือล้มล้างคำตัดสินเดิม

เขากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปฏิบัติตามคำพิพากษาในข้อ 2 ที่ระบุให้ไทยต้องถอนทหารออกจากบริเวณปราสาท ซึ่งไทยพยายามระบุว่าได้ถอนออกไปแล้ว แต่หากเอากลับเข้าไปใหม่ก็ยังอ้างเหมือนเดิม เท่ากับเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน และกัมพูชายืนยันว่า พันธกรณีของไทยนั้นมีความต่อเนื่อง หากสมมติว่าไทยส่งกำลังทหารรุกล้ำเข้าไปอีก ก็คงอ้างเหมือนเดิมว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่คำตัดสิน ดังนั้น ศาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตีความเรื่องพื้นที่ให้ชัดเจน

หลังจากกัมพูชาได้ชี้แจงต่อศาลโลกนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก จึงมีคำสั่งพักการฟังคำชี้แจงด้วยวาจาเป็นเวลา 10 นาที
นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ นำทีมทนายความฝ่ายไทยแถลงด้วยวาจาสู้คดีตีความคดีปราสาทพระวิหาร ที่ศาลโลก ระหว่างวันที่ 15-19 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา
ต่อมา เซอร์แฟรงคลิน เบอร์แมน แถลงอ้างว่ามติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 มีเอกสารลับจำนวน 2 หน้า ที่รมว.มหาดไทยนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี (ไทย) โดยแนบแผนที่อัตราส่วน 1 : 50,000 และกำหนด 2 วิธีการ ระบุขอบเขตดินแดนโดยวิธีการแรกให้ยึดแนวเขตเส้นสันปันน้ำ และมีการเสนอวิธีให้ล้อมรั้วรอบบริเวณปราสาท ซึ่งทั้งสองวิธีจะส่งผลให้ไทยได้รับจำนวนพื้นที่ไม่เท่ากัน สะท้อนว่าการตีความจากคำพิพากษาของศาลเป็น 2 วิธีการของไทย เป็นการตีความฝ่ายเดียวและไม่สอดคล้องกับที่ศาลตัดสินไว้

เซอร์แฟรงคลิน กล่าวต่อว่า เอกสารจาก รมว.มหาดไทยยังเสนอให้นายกรัฐมนตรีติดตั้งป้ายระบุเขตแดน หลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว โดยไม่ได้ระบุว่าต้องมีการล้อมรั้วแต่อย่างใด แต่ ครม.กลับเพิ่มมาตรการล้อมรั้วเองในภายหลัง อีกทั้งในเอกสารระบุด้วยว่า ใครก็ตามที่ละเมิดเขตแดนที่ล้อมรั้วอาจถูกยิง ดังนั้นยิ่งเป็นการย้ำว่า การล้อมรั้วของไทยเป็นการดำเนินการฝ่ายเดียว ไม่เช่นนั้นจะเรียกว่าอะไร

เขาระบุด้วยว่า ทางไทยอ้างว่าคำร้องของกัมพูชานั้น ศาลไม่สามารถรับตีความได้ เพราะคำพิพากษาเดิมสิ้นสุดไปแล้ว แต่ขอยืนยันว่า ทางกัมพูชาขอยื่นให้ศาลตีความในคำพิพากษาเดิม ไม่ได้นอกเหนือจากอำนาจศาลในการพิจารณา และเป็นไปตามธรรมนูญศาลข้อที่ 60

ขณะที่นายร็อดแมน บุนดี ทนายความชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นทนายคนที่ 3 ของกัมพูชา ขึ้นกล่าวให้การต่อศาลโลก โดยกล่าวย้ำว่าการที่กัมพูชาขอให้ตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร ไม่ได้เป็นการขอให้เปิดประเด็นใหม่ในคดีเดิม และส่วนที่สอง ไทยพยายามเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่อยู่ในเอกสารฉบับเดียวกันนั้น ทำให้สองประเทศมีความคิดเห็น และตีความในเรื่องดินแดนที่แตกต่างกัน

นายร็อดแมนยังได้ยกเหตุการณ์การล้อมรั้วลวดหนามในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่แสดงให้เห็นว่าไทยไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลกปี 2505 ด้วยการแบ่งพื้นที่บางส่วนให้กัมพูชา และล้อมรั้วลวดหนามรอบปราสาทไว้ ทั้งนี้ ในการเจรจาปักปันเขตที่ไทยได้ใช้แผนที่ L7017 ที่นำมาใช้ในการเจรจาปักปันเขต ตามกลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ก็ไม่เป็นที่ยอมรับของสองฝ่าย โดยมีการลากเส้นกำหนดสันปันน้ำมาถึงพื้นที่ใกล้ปราสาทพระวิหาร และเป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นโดยไทยฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ ยังปล่อยให้มีการขยายชุมชนในพื้นที่ชายแดน ซึ่งกัมพูชาก็ไม่เห็นว่าเป็นมลพิษในชายแดนแต่อย่างใด รวมทั้งยังชี้ให้เห็นว่า ไทยมีปฏิกิริยาหลังจากที่ยูเนสโกให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดก เนื่องจากการเมืองไทยที่แปรปรวนและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทราบกันดีว่ารัฐบาลทักษิณที่มีสัมพันธ์ดีกับกัมพูชาถูกรัฐประหารไป โดยที่นโยบายของรัฐบาลใหม่มีผลต่อแนวทางแก้ไขข้อพิพาทดังกล่าว

จากนั้นมีการพัก 2 ชั่วโมง ก่อนที่นายฌอง มาร์ค ซอร์เรล แถลงต่อในรอบที่สองว่า คำโต้แย้งของฝ่ายไทยในการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารรอบนี้ เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในปี 2505 โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่ศาลได้วินิจฉัยไว้ อีกทั้งในคำโต้แย้งนั้นมีลักษณะปะติดปะต่อ เพื่อให้เกิดความเป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเอง และไม่ให้ความเป็นธรรมกับกัมพูชาในประเด็นเรื่องเขตแดนที่ไทยได้สร้างเส้นเขตแดนที่เห็นว่าสมควร ทั้งที่ตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ระบุว่า ที่ตั้งปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่อธิปไตยของกัมพูชา แต่กลับไม่ได้คำนึงในข้อสรุปของเนื้อที่ หรือจุดสิ้นสุดของดินแดนว่าจะมีขอบเขตหรือจุดสิ้นสุดอยู่ตรงบริเวณใด โดยเมื่อปี 2543 ไทยได้ทำข้อตกลงเรื่องเขตแดนในพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร เท่ากับถือเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงในเขตแดน เพราะก่อนติดตั้งเครื่องหมายใดบนพื้นที่ ต้องทำตามคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 (ค.ศ.1962)

นายซอร์เรลให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาต่อไปว่า ในเรื่องของแผนที่ ต้องพิจารณาว่าเส้นเขตแดนอยู่ โดยแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ถือเป็นส่วนประกอบที่ศาลใช้ตัดสิน โดยในปี 2505 ในคำตัดสินของศาลได้ใช้คำว่า เส้นเขตแดนกว่า 100 คำ สำหรับแนวทางปฏิบัติที่ศาลได้จัดทำขึ้นมา ได้ระบุถึงการยอมรับแผนที่ดังกล่าว โดยไม่สามารถคัดค้าน หรือพูดถึงสถานะของสนธิสัญญา ในกรณีที่กัมพูชาให้ศาลตีความคำพิพากษา ไม่ได้ขอให้ศาลกำหนดเส้นเขตแดน แต่จะขอให้ตีความอาณาบริเวณของกัมพูชาที่มีปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ ตามที่อยู่ในคำตัดสินของศาลโลก ในปี 2505 อยู่ตรงไหน

อย่างไรก็ตาม เป็นไปไม่ได้ที่เรากำหนดเขตแดนแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่ปรึกษาคู่ความ จะเห็นว่า รั้วลวดหนามตามมติ ครม. ปี 2505 เป็นสิ่งที่ไทยได้ตีความเพียงฝ่ายเดียว และตัดสินใจกำหนดเส้นเขตแดนโดยขาดสามัญสำนึก โดยไม่ปรึกษากัมพูชาเลย เหมือนเป็นการละเมิดกฎ และไทยเองก็กำหนดเส้นเขตแดนและอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหาร ที่ดูขัดแย้งคำพิพากษาศาลโลก แน่นอนว่าศาลโลกคงเพิกเฉยไม่ได้ เพียงรั้วลวดหนามที่นำมากั้นเป็นเส้นเขตแดน ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและอาจรุนแรงขั้นภาวะสงคราม รวมทั้งมีผลให้เกิดปัญหาการเจรจาปักปันเขตแดน

17 เมษายน 2556 ฝ่ายไทยแถลง ลากใส้เขมรปลอมแผนที่

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 เมษายน ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก เปิดให้ตัวแทนประเทศไทยแถลงด้วยวาจากรณีประเทศกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 หลังจากกัมพูชาแถลงด้วยวาจาไปแล้วเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา

ตัวแทนของไทยนำโดย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วย ศ.โดนัลด์ เอ็ม แมคเรย์ ชาวแคนาดา, น.ส.อลินา มิรอง ชาวโรมาเนีย, ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด และ ศ.อแลง แปลเลต์ ชาวฝรั่งเศส ทีมทนายฝ่ายไทย เป็นผู้ชี้แจง โดยมีนายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เป็นประธาน ในการเปิดรับฟังการชี้แจงด้วยวาจาครั้งสุดท้าย (Oral Hearing)

นายวีรชัย แถลงว่า ประเทศไทยตกลงในกระบวนการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมภายใต้บันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 (เอ็มโอยู 43) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเส้นเขตแดน มิใช่เป็นกระบวนการทางยุติธรรมครอบคลุมถึงพื้นที่ซึ่งกัมพูชาอ้างในปัจจุบันด้วย รัฐบาลไทยมีความเคารพต่อศาลเสมอ และก็ปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งได้รับการยอมรับแล้วโดยพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ประมุขของกัมพูชาในสมัยนั้น ซึ่งเสด็จฯ ไปยังปราสาทไม่นานหลังจากนั้น แต่คล้อยหลัง 50 ปี กัมพูชากลับมาขอในสิ่งที่ศาลปฏิเสธไว้อย่างชัดเจนโดยแฝงในรูปขอตีความ

"คำฟ้องของกัมพูชาเป็นการใช้กระบวนการคดีในทางที่ผิด และไม่เคารพศาล เพราะคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ชัดเจน และตั้งแต่เดือน ก.ค.2505 ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว และกัมพูชาก็ยอมรับ กัมพูชาท้าทายความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ยืนยันว่าคำขอกัมพูชาไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ภายใต้ข้อ 60 แห่งธรรมนูญศาลว่าด้วยกระบวนการตีความ เพราะองค์ประกอบของอำนาจศาลภายใต้ข้อนี้ไม่ครบ"

นายวีรชัยระบุว่า ข้อพิพาทปัจจุบันเกิดจากการเรียกร้องดินแดนใหม่ของกัมพูชา โดยการยื่นขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับคดีเดิมที่เกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาท ซึ่งไทยก็ได้ทำตามแล้วภายหลังจากการมีคำพิพากษา โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยสร้างรั้วและป้าย และเมื่อวันที่ 15 ก.ค.2505 ไทยก็ได้คืนปราสาทให้กัมพูชาพร้อมถอนกำลังทหารออกจากบริเวณนั้น ซึ่งถือว่ากัมพูชาได้ในสิ่งที่ตนขอในคำขอเมื่อปี 2502 กัมพูชาก็แสดงความพึงพอใจโดยหัวหน้าทางการทูตของกัมพูชาต่อหน้าที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และประมุขของรัฐกัมพูชาที่เดินทางไปทำพิธีครอบครองปราสาทอย่างเป็นทางการ

จนกระทั่งถึงปี 2543 กัมพูชาไม่เคยคัดค้านการควบคุมพื้นที่และความชอบธรรมของเส้นมติคณะรัฐมนตรี อีกทั้งยอมรับเองด้วยว่ากิจกรรมของตนในพื้นที่ที่เรียกร้องในวันนี้เพิ่งเริ่มในช่วงปลายปี 2541 และนับจากปี 2543 การรุกล้ำเส้นมติ ครม.เข้ามาในดินแดนไทยก็ชัดแจ้งมากยิ่งขึ้น และขัดต่อข้อ 5 ของเอ็มโอยู 43 ซึ่งกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ได้กระทบต่อกระบวนการเจรจาตามบันทึกความเข้าใจ และทำให้เกิดการประท้วงอย่างหนักจากไทย ในประเด็นเรื่องเขตแดนนี้เกินขอบเขตของคดีเดิม ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขในกรอบของบันทึกความเข้าใจปี 2543 ซึ่งกัมพูชาปฏิเสธ และยืนยันในคำพิพากษาปี 2505 เท่านั้น เพื่อยัดเยียดเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 ตามที่ตนถ่ายทอดอย่างอำเภอใจในวันนี้ต่อไทย

ตัวแทนฝ่ายไทยยืนยันว่า พื้นที่พิพาทประมาณ 4 ตารางกิโลเมตรครึ่ง ไม่ใช่ “บริเวณใกล้เคียง” ปราสาท ตามวรรคปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ขณะเดียวกันสิ่งที่กัมพูชาอ้างตั้งแต่ปี 2550 ไม่อาจจะเป็นบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามนัยของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เพราะในคำร้องคดีเดิมกัมพูชาก็ไม่ได้เรียกร้องพื้นที่ขนาดนี้ ดังนั้นศาลไม่สามารถตัดสินเกินคำร้อง และให้ในสิ่งที่กัมพูชาไม่ได้ขอ

"แม้ในคำขอเพิ่มเติมของกัมพูชาในขณะนั้นเกี่ยวกับเส้นเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งศาลไม่รับไว้พิจารณา ก็ไม่มีการระบุถึงพื้นที่ 4 ตารางกิโลเมตรครึ่งดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่กัมพูชาอธิบายความลำบากและไม่สามารถพิสูจน์ความมีอยู่ของพื้นที่พิพาทดั้งเดิม โดยทำได้อย่างมากก็ปลอมแปลงเอกสารจดหมายเหตุและโต้แย้งด้วยเส้นจากภาคผนวก 49 ของคำให้การแก้ฟ้องของไทยเมื่อปี 2504 ที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด" นายวีรชัยกล่าว

เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก กล่าวด้วยว่า การเรียกร้องในปัจจุบันของกัมพูชาจึงเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิงจากในอดีต การจัดทำเขตแดน แผนที่ภาคผนวก 1 กัมพูชาดำเนินการต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ศาลเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งคดีนี้มีข้อเท็จจริงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นพื้นที่พิพาทเดิม หรือบริเวณใกล้เคียงปราสาท หรือข้อเท็จจริงภายหลังคำพิพากษา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไม่มีอยู่ซึ่งข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ซึ่งเอกสารหลักฐานต่างๆ เหล่านี้กัมพูชาไม่ได้โต้แย้งใดๆ ซึ่งแสดงถึงการยอมจำนน โดยการนิ่งเฉย

"กัมพูชาได้ดำเนินการที่ไม่เหมาะสมทางคดีเพื่อที่จะทำให้ศาลเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ อาทิ การเสนอหลักฐานเดียวที่พิสูจน์พื้นที่ที่อ้างว่าเป็นพื้นที่พิพาทเดิมประมาณ 4 ตารางกิโลเมตรครึ่ง และได้แถลงอย่างผิดๆ เกี่ยวกับหลักฐานอื่นๆ รวมทั้งแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นแผนที่ที่แนบคำขอแรกเริ่มของกัมพูชา แต่กลับถูกนำไปอ้างในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ณ กรุงปารีส ว่าเป็นแผนที่ที่ได้รับการรับรองจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าเป็นภาคผนวก 1 ของคำพิพากษา นอกจากนี้ยังเสนอแผนที่ภาคผนวก 1 ต่อศาลคนละฉบับกับที่ได้เสนอในคำขอแรกเริ่ม และดำเนินการแปลอย่างไม่ถูกต้อง และเลือกที่จะอ้างถึงวรรคที่ไม่ปะติดปะต่อกัน ซึ่งไทยได้เสนอคำแปลที่ถูกต้อง และแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาได้ดำเนินการที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจทำให้ศาลเข้าใจผิดได้อย่างไร"

นายวีรชัยกล่าวด้วยว่า ในส่วนคำสั่งเรื่องมาตรการชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ศาลออกมาตรการคือมิให้เกิดการสูญเสียชีวิตขึ้น ตั้งแต่ศาลออกมาตรการการหยุดยิงในพื้นที่ต่างก็ได้รับการเคารพโดยกัมพูชา ไม่มีการปะทะกัน การสูญเสียชีวิตหรือเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอีกต่อไป สถานการณ์ในพื้นที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งศาลทุกประการ
ศ.อแลง แปลเลต์ ทนายความของไทยชาวฝรั่งเศส และ น.ส.อลินา มิรอง ผู้ช่วย ศ.แปลเลต์
จากนั้น เวลา 15.50 น. นายโดนัล เอ็ม แมคเรย์ ทนายความฝ่ายไทย กล่าวว่า ข้อพิพาทปัจจุบันที่กัมพูชาได้ยื่นให้ศาลตีความคำพิพากษานั้น ไม่มีความแน่นอนและข้อต่อสู้กัมพูชาก็ขัดกันเอง การเปลี่ยนท่าทีไปมาในเอกสารคำให้การทางข้อเขียน โดยกัมพูชาพยายามขอให้ศาลตัดสินในสิ่งที่ศาลเคยปฏิเสธ เป็นการขอให้ศาลยืนยันสมมติฐานที่ว่าเขตแดนเป็นไปตามเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1:200,000 และหากกัมพูชาตั้งคำถามตรงๆ ก็จะได้คำตอบว่า ศาลในปี 2505 ปฏิเสธคำขอกัมพูชา

นายโดนัล เอ็ม แมคเรย์ กล่าวต่อว่า การที่คำขอกัมพูชาไม่ปรากฏคำถามชัดเจนขอให้ศาลตีความนั้น ทำให้คำขอกัมพูชาไม่เข้าเงื่อนไขข้อ 60 ของธรรมนูญศาล และข้อ 98 วรรคสอง ของข้อบังคับศาล ที่กำหนดให้คำขอตีความต้องระบุประเด็นชัดเจน สำหรับการที่กัมพูชาขอให้ศาลตัดสินว่าไทยต้องถอนทหารออกจากปราสาทและบริเวณใกล้เคียงปราสาท ก็เพื่อให้ศาลเข้าใจว่าพื้นที่พิพาทเดิมคือพื้นที่ 4.6 ตร.กม. และเสแสร้งว่าพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นเป็นสิ่งที่ได้รับการตัดสินเมื่อปี 2505 อีกทั้งกัมพูชาเปลี่ยนคำขอตีความให้กว้างขึ้น ทำให้พบว่ามีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” ในวรรคปฏิบัติการที่ 1 จึงขอเพิ่มเติมให้ศาลตีความวรรคปฏิบัติการที่ 1 และความเชื่อมโยงระหว่างวรรคที่ 1 และ 2 ด้วย ซึ่งผิดเงื่อนไขข้อ 60 ของธรรมนูญศาล เพราะคู่กรณีต้องมีข้อพิพาทเรื่องการตีความก่อนฟ้องศาล อย่างไรก็ตาม ข้อปฏิบัติการทั้งสองวรรคไม่สามารถให้กัมพูชาขอตีความสิ่งที่ศาลปฏิเสธตัดสินไปแล้ว และศาลในวันนี้ควรจะปฏิเสธที่จะตัดสินเช่นกัน

หลังจากนั้น น.ส.อลินา มิรอง กล่าวถึงความผิดปกติของแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน หรือแผนที่แนบท้ายภาคผนวกที่ 1 ที่ฝ่ายกัมพูชาได้นำเสนอต่อคณะผู้พิพากษา โดยระบุว่า ในคำร้องฝ่ายกัมพูชาได้ใช้แผนที่มาอ้างอิงหลายฉบับ สังเกตได้จากคำว่า “maps” ที่เป็นพหูพจน์ ดังนั้นขอให้คณะผู้พิพากษาได้พิจารณาให้รอบคอบ ทั้งนี้ แผนที่ที่กัมพูชาได้นำมาแสดงนั้น เป็นการเลือกใช้แผนที่ที่เป็นประโยชน์กับตนเอง โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ได้ให้ความเห็นไว้ว่า แผนที่ที่กัมพูชานำมาอ้างอิงนั้น ในทางสากลไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง เพราะมีความผิดพลาดทางภูมิประเทศ แม้ว่าฝ่ายกัมพูชาจะระบุหลายครั้งว่า ศาลโลกได้รับรองแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 ตามคำพิพากษาปี 2505 เมื่อทีมต่อสู้คดีนี้ของไทยไปค้นดูคำพิพากษาที่มีความยาวกว่า 1,500 หน้า ไม่ปรากฏการบันทึกใดที่เป็นการรับรองแผนที่ฉบับดังกล่าว อีกทั้งไม่ปรากฏว่าในการพิพากษาในปี 2505 ศาลโลกได้ใช้แผนที่ฉบับใดมาเป็นหลักในการพิจารณา

“ถ้านำแผนที่เก่าของกัมพูชามาวางไว้แผนที่ปัจจุบัน จะพบว่าไม่มีความแม่นยำ แต่ไม่ทราบว่ามีการนำแผนที่มาสับเปลี่ยนกันหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องขอชื่มชมกัมพูชา หากเราจะตัดสินจากความละอายของกัมพูชาที่ไม่มีการโต้แย้งในเรื่องนี้ สิ่งที่ทนายฝ่ายกัมพูชาให้ถ้อยแถลงต่อคณะผู้พิพากษาเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ระบุว่า แผนที่ที่ได้นำเสนอนั้นเป็นการขีดเส้นตัดกันระหว่างแผนที่ในภาคผนวก 1 และแนวเส้นสันปันน้ำ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากการถ่ายทอดแผนที่ในอดีตมายังแผนที่ปัจจุบันมีความยาก เพราะต้องใช้วิธีทางคณิตศาสตร์ และหากนำแผนที่ตามถ้อยแถลงของทนายฝ่ายกัมพูชามาอ้างอิง จะพบว่าส่วนที่ตัดกันนั้นอยู่ห่างจากตัวปราสาทมากถึง 6.8 กม. และที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญหน่วยวิจัยเขตแดนระหว่างประเทศ ระบุว่า วิธีการของกัมพูชาจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของแผนที่มากถึง 500 เมตร ในทางตอนเหนือของปราสาทพระวิหาร ดังนั้น เห็นชัดว่ากัมพูชาไม่สนใจในความถูกต้องของภูมิประเทศรอบปราสาท รวมถึงภูมะเขือ และเทือกเขาพนมดงรัก ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่สำคัญ และไม่สามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในเวลา 50 ปี” น.ส.อลินากล่าว

น.ส.อลินากล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ทางกัมพูชาไม่มีแผนที่ที่สามารถพิสูจน์พื้นที่ได้แน่นอน แม้จะอ้างว่าปราสาทพระวิหารนั้นจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรกดกโลกแล้ว เพราะตามแผนที่ที่ศาลโลกใช้ประกอบการตัดสินคดีเมื่อปี 2505 แต่ข้อเท็จจริงยูเนสโก ได้ใช้แผนที่ของปี 2011 ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นสิ่งที่น่าประหลาดว่ากัมพูชาได้ยื่นเพิ่มเติมหลังจากจบการนำเสนอ

ทนายฝ่ายไทยกล่าวอีกว่า กัมพูชาได้อ้างอิงในสนธิสัญญาปี 1904 ว่าได้ให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่สนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้พูดถึงตัวปราสาทพระวิหาร ระบุเพียงแค่เขตแดนในแผนที่ฉบับอื่นๆ เช่น แผนที่ในปี 1937 ที่แสดงให้เห็นว่าตัวปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชา แต่ไม่สามารถใช้กำหนดเขตแดนได้ เพราะไม่ชัดเจนในแง่ภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ, แผนที่ปี 1947 ที่ประเทศไทยได้เสนอต่อคณะกรรมการประนอมระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส มีลักษณะคล้ายกับแผนที่ภาคผนวก 1 คือแสดงให้เห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ทางตอนใต้ของเส้นเขตแดน แต่ส่วนอื่นๆ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้น ทำให้คณะพิพากษาปี 1962 ไม่ได้ให้คุณค่าที่จะใช้พิสูจน์เขตอธิปไตย

“ประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลวินิจฉัยว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดนหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีความชัดเจน แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ศาลเห็นชอบให้ใช้เส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดน และหากพิจารณาตามแผนที่ 85D เท่ากับกัมพูชามีความต้องการขยายอาณาเขตเดิม มาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ด้วย” ทนายความฝ่ายไทย กล่าวสรุป

ด้าน ศ.อแลง แปลเลต์ ทนายความชาวฝรั่งเศสของไทย ระบุว่า กัมพูชาไม่มีข้อมูลใหม่ๆ และกัมพูชายังคงพยายามดำเนินการให้ศาลโลกตีความเรื่องอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร เป็นการตีความไปมากกว่าคำตัดสินศาลโลกปี 2505 โดยขอเน้นย้ำว่า ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกแล้ว ดูจากพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสด็จฯ มาร่วมงานเฉลิมฉลอง ในพิธีการที่ทางการไทยมอบปราสาทพระวิหารและวัตถุโบราณคืนให้กับทางการกัมพูชา และมีรับสั่งชื่นชมการดำเนินการไทยโดยปราศจากข้อขัดข้อง

"จากเหตุการณ์ดังกล่าว แสดงถึงนัยสำคัญอย่างใหญ่หลวงที่กษัตริย์กัมพูชาไม่มีความขัดข้องในเรื่องรั้วลวดหนามกับป้ายที่ทางการไทยจัดทำขึ้น สิ่งนี้น่าจะมีน้ำหนักและความสำคัญเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ไปปรากฏพระองค์ที่ปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชานำมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคำตัดสินศาลโลกปี 2505 และมีน้ำหนัก ทำให้กัมพูชาชนะคดีในครั้งนั้น"

ศ.แปลเลต์กล่าวอีกว่า ไทยไม่เคยไม่ยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร แต่คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 เห็นได้ชัดว่า ศาลจงใจไม่พูดถึงเรื่องเส้นเขตแดน โดยต่อมาในปี 2543 ไทยและกัมพูชาได้ลงนามในเอ็มโอยูเพื่อเป็นกรอบการจัดทำหลักเขตแดน ไม่มีส่วนใดที่ระบุถึงคำพิพากษาปี 2505 ตามที่กัมพูชาอ้าง การนิ่งเฉยของทั้งสองฝ่าย คือ ไทยและกัมพูชา สะท้อนให้เห็นว่ามาจากการเห็นตรงกันแล้วถึงคำพิพากษาปี 2505 ตลอดจนการดำเนินการใดๆ ของไทย อาทิ การติดตั้งประตูทางเข้า-ออกสู่ปราสาท ห่างไปจากตอนเหนือของปราสาทราว 100 เมตร กัมพูชาก็ไม่เคยทักท้วงหรือต่อต้าน ดังนั้นถือว่ากัมพูชายอมรับแล้ว
ยันไทยประท้วงเขมรไม่สน

"ต่อมาปี 2544 กัมพูชากลับเปลี่ยนจุดยืน และการที่กัมพูชาอ้างว่า ไทยไม่เคยประท้วงใดๆ ต่อการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่จริง ไทยได้เคยประท้วงไปหลายครั้งแล้ว แต่กัมพูชาไม่เคยสนใจ" ศ.อแลงกล่าว

จากนั้นเวลา 17.30 น. ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ยกตัวอย่างคดีความในอดีตที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นว่า การตีความหากสามารถทำได้จะมีขอบเขตอยู่เพียง "ข้อบทปฏิบัติการ" ซึ่งเป็นส่วนที่มีข้อผูกมัดต่อคู่ความ ยืนยันว่า แผนที่ของกัมพูชาไม่สามารถกำหนดเขตแดนได้ แต่ทำได้เพียงกำหนดว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามสันปันน้ำหรือไม่ เพราะในปี 2505 ศาลโลกเพียงใช้แผนที่นี้เพื่อพิจารณาอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเท่านั้น ตลอดจน "เหตุและผล" ไม่มีผลผูกพันคู่ความเหมือนกับข้อบทปฏิบัติการ

ศ.ครอว์ฟอร์ด ระบุถึงหัวใจสำคัญของการพิพากษาเมื่อปี 2505 ว่า คือการที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปยังปราสาทพระวิหาร ไม่ได้มีการเสด็จไปอย่างลับๆ แต่มีการรินแชมเปญ และมีข้าหลวงฝรั่งเศสแต่งตัวเต็มยศ แสดงให้เห็นถึงอำนาจเหนือดินแดนดังกล่าว แต่กรมพระยาดำรงฯ กลับตรัสว่า เป็นการต้อนรับอย่างอบอุ่น การเงียบเฉยของไทยตลอดเวลาที่ผ่านมาในคำพิพากษา 2505 ย่อมหมายถึง สิทธิที่ไทยจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทเท่านั้น ไม่ใช่เขตแดน

(มีต่อตอน 2 การแถลงด้วยวาจาของกัมพูชาและไทย วันที่ 18 - 19 เมษายน 2556)
กำลังโหลดความคิดเห็น