xs
xsm
sm
md
lg

1ต่อ2แสนพ่นพิษ ปชป.หลอนโยนทนายเขมรลักไก่ ภูมิซรอลโวยเขมรโกหก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - แผนที่ 1 ต่อ 200,000 พ่นพิษ ปชป.ดิ้นออกโรงซัด "ทนายเขมร" แก้ต่างแบบลักไก่ แนะรัฐบาลปูต้องคัดค้าน ยืนยันข้อมูลเดิมที่ไม่เคยใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 จัดทำเขตแดน พร้อมให้นำ เอ็มโอยู 43 มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ส่วนชาวบ้านภูมิซรอล จับกลุ่มวิพากษ์เขมรแถลงต่อศาลโลก บิดเบือนข้อเท็จจริง "ส.ว.คำนูณ" ชี้ไทยน่าเป็นห่วง เขมรจัดเต็ม ซัดจุดอ่อน

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การให้การด้วยวาจาของกัมพูชาในรอบแรกในศาลโลกว่า อยากให้รัฐบาลใช้ความจริงใจ ในการแก้ไขปัญหา และระมัดระวังในเรื่องของข้อเท็จจริง ซึ่งรัฐบาลต้องประท้วงไม่ให้ประเทศเกิดความเสียหาย เพราะจากให้การของทนายความของกัมพูชา มีความพยายามใช้ข้อหักล้างในการใช้ความเท็จหลายประการ ที่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลโลก เมื่อปี 2505 โดยอยากให้ตั้งข้อสังเกต 5 ประการคือ

1. ความรุนแรงเริ่มจากปี 2551 เกิดจากกัมพูชา ต้องการจะขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว และกัมพูชาพูดหลายครั้งในการแถลงว่า ประเทศไทยใช้ความรุนแรง และใช้อาวุธสงครามรุกรานเข้าไปในดินแดนกัมพูชาก่อน ซึ่งรัฐบาลไทยต้องชี้แจงว่า ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประเทศไทยไม่เคยเริ่มต้นใช้ความรุนแรงก่อน มีแต่ฝ่ายกัมพูชาที่พยายามยั่วยุ ทำให้เกิดความรุนแรง

2. กัมพูชาพยามสร้างภาพ และมีการย้ำหลายครั้ง ว่าประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกในการถอนทหาร ซึ่งตนยืนยันว่า ไทยกับกัมพูชา ได้มีการหารือแบบทวิภาคี เพื่อการถอนทหาร และส่งผู้สังเกตุการณ์ คือประเทศอินโดนีเซีย มาโดยตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้กัมพูชาพยายามให้ร้ายเรา ซึ่งความจริงแล้วทั้ง 2 ฝ่ายมีความพยายามในการถอนทหารร่วมกันอยู่แล้ว ภาพเหล่านี้เป็นความพยายามของกัมพูชาที่จะสร้างภาพร้ายให้กับประเทศไทย ว่ารังแกประเทศที่เล็กกว่า ฉะนั้นรัฐบาลต้องชี้แจง อย่าปล่อยให้กัมพูชากล่าวหาเราเช่นนี้

3. กัมพูชาพยายามอ้างว่าแผนที่ 1:200,000 หรือแผนที่ภาคผนวก 1 ถูกยอมรับจากศาลโลกเมื่อ 51 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2505 ซึ่งศาลโลกไม่เคยรับรองแผนที่ 1:200,000 ที่ทนายของฝ่ายกัมพูชา พยามอ้างถึง แต่สิ่งที่ศาลไม่ได้พูดคือ กัมพูชา ขอให้ศาลพิจารณาความถูกต้องเรื่องเขตแดน แต่ศาลไม่ได้พิจารณา โดยพูดชัดว่า ไม่รับรองความถูกต้องของแผนที่ฉบับดังกล่าว ซึ่งในคำพิพากษาครอบคลุม 3 ประเด็น คือ 1. ตัวปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยกัมพูชา 2. ควรจะมีการถอนทหารโดยรอบพื้นที่เชาพระวิหาร 3. หากมีวัตถุโบราณในตัวปราสาทไทยต้องคืนให้กัมพูชา แต่กัมพูชาพยายามบอกว่า เมื่อศาลโลกพิพากษาดังนี้แล้ว ก็ต้องยอมรับในแผนที่ฉบับดังกล่าวด้วย

ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควระจะพูดให้ชัดคือ กัมพูชามีปัญหาที่จะให้ตีความแผนที่ฉบับนี้ หลังจากการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2551 ซึ่ง 46 ปี ที่ผ่านมากัมพูชาไม่เคยมีปัญหา ถ้ามีปัญหาจริง เราทะเลาะกันมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ที่ทะเลาะกันเพราะกัมพูชาเอาเขาพระวิหารไปขอขึ้นทะเบียนโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว

**ลั่นใช้เอ็มโอยู 43 ให้เป็นประโยชน์

4. บันทึกเอ็มโอยู เมื่อปี 2543 มีประโยชน์มากในเรื่องการจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทย กัมพูชายังไม่เสร็จสิ้น ซึ่งการจัดทำเขตแดนดังกล่าวต้องเป็นไปตามสนธิสัญญา สยาม ฝรั่งเศส ที่ยึดตามแนวสันปันน้ำ เมื่อปี 1904 1907 ซึ่งนี่คือหลักฐานที่สำคัญที่จะทำให้เราใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้ปกป้องอธิปไตยของไทยในอนาคต และมีหลายครั้งที่ทนายของฝ่ายกัมพูชายอมรับว่า การจัดทำเขตแดนนั้น เป็นไปตามแนวสันปันน้ำ ซึ่งถือเป็นการยอมรับครั้งแรกของกัมพูชาว่า เขตแดนของไทยเป็นไปตามแนวสันปันน้ำ

5. ขอให้กำลังใจทุกฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดิน ปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติ และก็เชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจที่จะต่อสู้อย่างเต็มที่ และสิ่งที่ตนอยากจะพูด ไม่ใช่เรื่องของการเมือง แต่อยากจะถามถึงท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าท่าทีของรัฐบาลไทย ต่อการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นอย่างไ ร ซึ่งจุดยืนของนายกฯ และรัฐบาลไทยจะเป็นประโยชน์ และแนวทางสำหรับการต่อสู้คดีของทีมทนายไทย ถ้านายกฯตอบคำถามโดยบอกว่า จะคัดค้านกรณีดังกล่าวอย่างจริงจัง ตนก็จะชื่นชม แต่ถ้า นายกฯ ไม่คัดค้าน ก็ขอให้ทบทวนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำของไทยในการต่อสู้คดีหรือไม่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงการต่อสู้คดีเขาพระวิหาร ที่ศาลโลกวันแรกของไทย ว่า สิ่งที่กัมพูชาพยามนำเสนอเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับท่าทีที่แสดงมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา เน้นย้ำที่ต้องไปศาลโลก เพราะไทยเป็นฝ่ายรุกราน และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคำวินิจฉัยของศาลโลก เมื่อครั้งที่แล้ว

นอกจากนี้ยังย้ำในเรื่องของเขตแดน ซึ่งตรงนี้ตนมองว่า เป็นเนื้อหาสาระในเชิงข้อมูลที่กัมพูชาหยิบยกขึ้นมา ต้องยอมรับว่า ได้มีการนำเสนอเอกสารต่างๆ ที่แสดงออกถึงจุดยืนของกัมพูชาทั้งในแง่ของการประท้วง การไม่เห็นด้วยกับการแสดงจุดยืนของไทย รวมทั้งได้มีการพาดพิงถึงรัฐบาลชุดที่แล้ว ในเรื่องของการขัดขวางการเสนอปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งก็มีน้ำหนัก

ดังนั้น ฝ่ายไทยจะต้องนำเสนอข้อมูล ลำดับเหตุการณ์เพื่อหักล้างคำแถลงของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยิบยกประเด็นทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายมาแสดง ที่สำคัญต้องตัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศออกไป

การที่กัมพูชาอ้างว่าฝ่ายไทย เป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชา ตนและกองทัพ รวมทั้งคนไทยทุกคน ยืนยันมาตลอดว่า ไม่เป็นความจริง ดังนั้นรัฐบาลต้องแสดงจุดยืนเรื่องนี้ให้ชัดต่อศาลด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลดูจะมีความลังเล อาจเป็นเพราะเรื่องภายในประเทศ และความพยายามที่จะเล่นการเมือง ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่มีแนวคิดที่จะไปรุกรานใคร และพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาการปะทะกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของปราสาทพระวิหารนั้น ทุกฝ่ายก็รู้อยู่ว่าไม่อยากจะไปสร้างเงื่อนไขให้กัมพูชา ต้องไปนำเรื่องนี้เข้าสู่เวทีระหว่างประเทศ ดังนั้นยกแรกเราต้องนำข้อมูลมาหักล้างว่า ไทยไม่ได้ไปรุกราน และการปะทะที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณนี้ และข้อเท็จจริงเกิดขึ้นจากกัมพูชา เป็นผู้เริ่มต้นยิงอาวุธเข้ามาก่อน ฝ่ายไทยก็ตอบโต้ด้วยการยิงกลับไป เพื่อป้องกันตนเองเพื่อให้สถานการณ์หยุด

ทั้งนี้สิ่งที่ตนคิดว่า จะต้องชี้ให้เห็นคือ กัมพูชา พยายามลักไก่ว่า ที่เป็นปัญหาคือเรื่องการปฏิบัติการ แต่ว่าจริงๆ แล้วเรื่องเขตแดนจบไปแล้ว แต่มีพยายามจะอ้างแผนที่ 1:200,000 ดังนั้น ฝ่ายไทยก็ต้องชี้ให้เห็นชัดๆ ว่า 1. คำวินิจฉัยของศาลในขณะนั้น เป็นคำขอของกัมพูชา ที่จะให้ศาลวินิจฉัยว่า เส้นเขตแดนนั้นเป็นไปตามตัวแผนที่ ปรากฏว่า ศาลนั้นไม่รับวินิจฉัยข้อนี้ ประการที่ 2 ศาลก็วินิจฉัยไปชัดด้วยว่า แผนที่ 1:200,000 นี้ไม่ใช่แผนที่ที่เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดน ตรงนี้ต้องชี้ให้ชัด ไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป

ส่วนเรื่องการทำเอ็มโอยู 43 ที่ นายฮอ นัมฮง รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ได้พยายามจะอ้างต่อศาล ว่า เป็นเรื่องการทำความตกลงในการปักปันเขตแดนเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีพระวิหาร เพราะกรณีพระวิหาร มีการกำหนดเส้นเขตแดนชัดเจนอยู่แล้ว ตามที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ภาคผนวก 1 ตามคำพิพากษาเมื่อปี 2505 แต่ไทยไม่ปฏิบัติตาม จึงทำให้เกิดความสับสน นี่คือสาเหตุที่ทำให้กัมพูชา ต้องมาตีความ ซึ่งประเด็นนี้มีความจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะพื้นที่นั้นครอบคลุมทั้งหมดรวมทั้งบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมประเทศไทยจึงสามารถใช้ MOU 43 ประท้วงกัมพูชาไปหลายครั้งว่า กัมพูชานำ ทหาร ชาวบ้าน พระ ขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ซึ่งกำลังจะต้องมีการจัดทำหลักเขตแดน และกล่าวอ้างเรื่องการปักปันเขตแดนก็ไม่ใช่ เพราะ MOU ก็เขียนชัด ข้อ 1 ปักปันโดยสนธิสัญญา สนธิสัญญาเขียนว่าเป็น สันปันน้ำ ส่วนแผนที่ก็มาประกอบ แผนที่ที่เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปัน ตรงนี้เป็นความพยายามของกัมพูชา ที่ต้องหาความชอบธรรม

"สิ่งที่รัฐบาลจะต้องแก้ข้อกล่าวหาในวันที่ 17 เม.ย. จะต้องทำอย่างละเอียด เน้นการชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งการปะทะกันที่ชายแดน วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกัมพูชา การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ยืนยันหลักการของ MOU 43 นั้นมีไว้เพื่ออะไร แล้วก็ต้องไปเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่ชี้ชัดว่า ความเข้าใจในการตัดสินของศาลโลก เมื่อปี 2505 มันไม่ได้เป็นอย่างที่กัมพูชาพูดและเรื่องของแผนที่ 1:200,000 ซึ่งก็มีการบ่งบอกอะไรเยอะแยะไปหมด รวมถึงความพยายามในการที่กัมพูชาอ้างอิงถึงการเมืองไทยภายในประเทศ ผมว่าตรงนี้แหละวัดใจรัฐบาล ว่ารัฐบาลจะเอาความจริงไปสู้ หรือรัฐบาลจะไปเล่นการเมืองกับเขา ตรงนี้แหละที่เป็นหัวใจที่ต้องดูกัน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** ชาวภูมิซรอลชี้เขมรบิดเบือน

วานนี้ (16 เม.ย. ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านต่างพากันจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการแถลงต่อศาลโลกของฝ่ายกัมพูชาว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ทั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ใกล้เขาพระวิหารรับทราบข้อเท็จจริงบริเวณเขาพระวิหารดีที่สุด และหลายคนที่เคยไปปักเสาล้อมรั้วลวดหนามรอบปราสาทพระวิหาร หลังมีคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ก็ยังคงมีชีวิตอยู่ เช่น นายเชย บุญมา อายุ 71 ปี และ นายฮุน รัตนา อายุ 74 ปี เป็นต้น
หลังจากรัฐบาลไทยได้มีมติครม. ล้อมรั้วลวดหนาม ทำเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร นั้น กลุ่มชาวบ้านภูมิซรอลได้ขึ้นไปรับจ้างทำรั้วลวดหนามดังกล่าวด้วย ซึ่งขณะนั้นทางฝ่ายกัมพูชา ไม่ได้ออกมาคัดค้าน หรือเข้ามาขัดขวางไม่ให้ฝ่ายไทยล้อมรั้วลวดหนามแต่อย่างใด แต่ปล่อยให้มีการล้อมรั้วลวดหนามได้จนเสร็จเรียบร้อย

** สกัดประชาชนบุกเขาพระวิหาร

พ.ต.อ.ศักดิ์ชาย โรจนรัตนางกูร ผู้กำกับการ (ผกก.) สภ.บึงมะลู กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มภาคประชาชนจะพากันมารวมตัวเพื่อประกาศเจตนารมไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก ที่ อ.กันทรลักษ์ พร้อมจะเคลื่อนขบวนนำธงชาติไทย สูง 21 เมตร ขึ้นไปติดตั้งบริเวณเขาพระวิหาร หรือบริเวณภูมะเขือ ว่า เพื่อเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา ด้านเขาพระวิหาร ควรมีการเจรจากันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่รักษาความสงบเรียบร้อยกับกลุ่มพลังมวลชนที่มาชุมนุม โดยทางออกที่ดีที่สุด กลุ่มผู้ชุมนุมน่าจะมอบธงชาติไทยให้กับฝ่ายทหารนำขึ้นไปติดตั้ง ที่บริเวณผามอแดง บนอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร แทน

ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้ได้มีการสั่งปิดการท่องเที่ยวที่บริเวณผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. เป็นต้นมา หากกลุ่มมวลชนนำธงชาติขึ้นไปปักเองก็จะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งปิดอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร และอาจเกิดผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ที่บริเวณเขาพระวิหารได้

"เรื่องนี้น่าที่จะสามารถเจรจาตกลงกันได้ด้วยดี เพราะทุกฝ่ายล้วนรักชาติบ้านเมืองและไม่มีใครต้องการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชาด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ” พ.ต.อ.ศักดิ์ชาย กล่าว

***“ผบช.ภ.3”รุดตรวจรับมือม็อบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 224 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พล.ต.ท.เชิด ชูเวช ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (ผบช.ภ. 3) และคณะ ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์มาประชุมร่วมกับ นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายเพิ่มศักดิ์ ฉวีรักษ์ นายอำเภอกันทรลักษ์ พ.ต.อ.มงคล ลิ้มสุวรรณ ผกก.สภ.กันทรลักษ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง โดยประชุมร่วมกันที่ห้องประชุมกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 224 เพื่อเป็นการตรวจติดตามความพร้อมในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ใกล้กับเขาพระวิหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นการรับทราบข้อมูลในการเตรียมความพร้อมที่จะมีกลุ่มพลังมวลชนมาเคลื่อนไหวกรณีคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 ที่ฝ่ายไทยและกัมพูชา กำลังให้การทางวาจาต่อ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก อยู่ในขณะนี้ ซึ่งแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศว่าจะนำธงชาติไทย สูง 21 เมตร ขึ้นไปปักที่บริเวณเขาพระวิหารหรือที่บริเวณภูมะเขือ เพื่อเป็นการแสดงให้กัมพูชาทราบว่า บริเวณพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารเป็นของไทย พร้อมคัดค้านอำนาจศาลโลก

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ซึ่งเดินทางเข้าร่วมสังเกตการณ์ การแถลงด้วยวาจา กรณีประเทศกัมพูชายื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี พ.ศ.2505 โดยกัมพูชาเป็นฝ่ายแถลงด้วยวาจาก่อน โดยได้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่าน "เอเอสทีวี" ในรายการพิเศษ "เกาะติดคดีประวัติศาสตร์เขาพระวิหาร" ระบุว่า หลังจากได้ฟังการแถลงด้วยวาจาของ นายฮอร์ นัมฮง รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศของกัมพูชา รวมทั้งทนายความของกัมพูชาทั้ง 3 คนแล้ว ถ้าเป็นสงครามก็ถือว่าเขาได้ยิงอาวุธหนักใส่ไทยตรงที่เป็นจุดอ่อนของเรา นั่นคือ เขาพูดถึงแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่ระวางพนมดงรัก มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 นับพันครั้ง เพราะเขาต้องการให้ตีความว่า เส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร คือ เส้นเขตแดนตามแผนที่ในภาคผนวกที่ 1 นั่นเอง

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ที่ว่าเป็นจุดอ่อนของไทย แม้ว่าบทปฏิบัติการตามคำพิพากษาปี 2505 ทั้ง 3 ข้อ ไม่ได้บอกว่าเส้นเขตแดนตามแผนที่ในภาคผนวกที่ 1 เป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง โดยมีแค่สามข้อ คือ 1. ปราสาทพระวิหารอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา 2. ให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และ 3.ให้ไทยคืนวัตถุโบราณที่นำออกไปจากปราสาทพระวิหารแก่กัมพูชา

แต่ว่าเหตุผลก่อนที่จะนำมาสู่บทปฏิบัติการทั้ง 3 ข้อนั้น มีหลายจุดที่ศาลพูดถึงแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 เพียงแต่ที่ศาลโลกไม่ได้มีคำพิพากษาเรื่องความถูกต้องของแผนที่ ตามภาคผนวกที่ 1 และเส้นเขตแดนในปี 2505 นั้น เป็นเพราะเดิมกัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลตัดสินเพียง 2 ข้อ ส่วนเรื่องความถูกต้องของแผนที่ และเส้นเขตแดนนั้น กัมพูชาเสนอเพิ่มเข้ามาภายหลัง

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ที่เรามั่นใจตลอดว่า ศาลไม่ได้พิพากษาเรื่องเส้นเขตแดนนั้น ตอนนี้เหมือนกัมพูชาได้ฟ้องซ้ำ เรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งปกติศาลจะตีความเฉพาะตามบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ไม่ล่วงเลยไปถึงเหตุผลที่นำมาสู่บทปฏิบัติการ เว้นแต่ว่าส่วนของเหตุผลที่นำมาสู่บทปฏิบัติการนั้นไม่สามารถแยกออกได้ จากบทปฏิบัติการ ซึ่งตรงนี้นับว่าอันตราย ต้องติดตามดูว่า ศาลจะตัดสินอย่างไร จะตีความแค่บทปฏิบัติการตามเดิม หรือจะตีความเลยไปถึงเหตุผลก่อนจะมาถึงบทปฏิบัติการ ซึ่งก็จะเลยมาถึงแผนที่ภาคผนวกที่ 1 เราไม่รู้ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร และต้องดูฝ่ายไทยที่จะให้การรอบแรก ในวันนี้(17 เม.ย.) ว่าเราจะสู้ในประเด็นเรื่องศาลไม่มีอำนาจตีความหรือไม่

นายคำนูณ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ไทยเคยมั่นใจมาตลอดว่า ภายหลังศาลโลกมีคำพิพากษาปี 2505 แล้ว ไทยได้มีมติครม. ล้อมรั้วทำเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารนั้น ทางกัมพูชาไม่เคยคัดค้าน เพราะฉะนั้นทางกัมพูชา ก็จะโดนกฎหมายปิดปากเล่นงานบ้าง

แต่ว่าวันนี้มันมีเอกสารหลายอย่างที่เขายื่นร้องต่อยูเอ็น ว่า ไม่ยอมรับเส้นเขตแดนตามมติ ครม. ดังกล่าว และมีพระราชดำรัสของสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา ที่แสดงการไม่ยอมรับ โดยบอกว่า เป็นการกำหนดเส้นเขตแดนขึ้นมาใหม่ของฝ่ายไทย ตามคำแถลงของทนายของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

สรุปว่า เขาพุ่งไปที่ความถูกต้องของแผนที่ ตามภาคผนวกที่ 1 และให้เรายอมรับเสีย แม้ว่าศาลไม่ได้กล่าวไว้ในปฏิบัติการตามคำพิพากษาปี 2505 และที่เราเคยมั่นใจว่า กัมพูชาไม่เคยคัดค้านการล้อมรั้วตาม มติครม.ปี 2505 แต่เขามีหลักฐานว่า ได้คัดค้านหลายครั้ง ซึ่งก็ต้องดูว่า ฝ่ายไทย เคยยื่นตอบโต้เขาอย่างไร และทางยูเอ็น มีข้อสรุปอย่างไร

"ในความรู้สึกของผม มันเหมือนว่า เป็นการพิจารณาคดีใหม่ เหมือนย้อนกลับไปปี 2504-2505 สิ่งที่ศาลเคยพิพากษาเสร็จสิ้นไปแล้วในวันนั้น มันเอามาพูดถึงอีก ทั้งที่เราไม่ยอมรับศาลโลกมาตั้งแต่ปี 2503 ทำไมเราจะต้องมาสุ่มเสี่ยงว่า ศาลจะตัดสินออกมาอย่างไรอีก" นายคำนูณ กล่าว และว่า ไม่อยากให้รัฐบาลด่วนบอกว่า เราจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ซึ่งตอนนี้มันสุ่มเสี่ยงต่อการที่ศาลจะพิพากษาออกมาในทางที่ทำให้เราเสียหาย

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าศาลอาจจะตีความเพียง 2 ประเด็น คือ เรื่องอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหาร และเรื่องการถอนทหาร โดยไม่ได้ตีความเรื่องแผนที่ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่แล้ว หากศาลบอกว่าบริเวณปราสาทพระวิหารรวมพื้นที่มากกว่าที่เราล้อมรั้วไว้ และการถอนทหารให้มีผลต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ เราจะมีทหารตำรวจตรงนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราจะต้องตั้งหลักให้ดี มันเป็นเรื่องที่เราต้องรับผลกระทบร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายไหน และรัฐบาลไม่ควรจะบอกว่า เราจะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไม่ รัฐบาลควรจะถามคนไทยก่อน โดยบอกผลดี-ผลเสียให้ชัดเจน อย่าอ้างว่ามาจากประชาชนแล้วก็ตัดสินใจเอาเอง

** เผยไทยสู้ใน 4 ประเด็น

นายไกรรวี ศิริกุล รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการให้การทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ของกัมพูชา เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาสรุปใจความได้ว่า กัมพูชาพยายามโน้มน้าวให้ศาลโลกเห็นว่า มีอำนาจในการตีความอาณาบริเวณรอบตัวปราสาทพระวิหาร ที่มีกฎหมายระหว่างประเทศอ้างอิงสนับสนุนให้ศาลโลกได้พิจารณา

นอกจากนี้ กัมพูชาได้ยกแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 หรือแผนที่ 1:200,000 ซึ่งมีเส้นเขตแดน ระบุไว้เดิม และศาลโลกได้ใช้แผนที่นี้ในการตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 กัมพูชาจึงชี้ให้เห็นว่า เป็นส่วนหนึ่งในการวินิจฉัย เพื่อยืนยันว่า เส้นเขตแดนได้ปรากฏอยู่ในแผนที่ อย่างไรก็ตาม คณะดำเนินด้านกฎหมายต่อสู้คดีของไทยมี 4 ยุทธศาสตร์ คือ

1. ศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณา
2. กัมพูชาไม่สิทธิยื่นศาลเพื่อขอตีความคำตัดสินคดีเดิมในรูปแบบการอุทธรณ์
3. ไทยปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกครบถ้วน
4. คำตัดสินเมื่อปี 2505 ศาลโลกได้กล่าวถึงอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหาร โดยไม่ได้ระบุถึงเส้นเขตแดน

นายไกรรวี กล่าวว่า เรามั่นใจว่า การชี้แจงของฝ่ายไทยในวันนี้ (17เม.ย.) 4 ยุทธศาสตร์นี้จะสามารถหักล้างข้อโต้แย้งฝ่ายกัมพูชาได้ และไทยมีหลักฐานพร้อมยืนยันชัดเจน รวมทั้งมีข้อมูลว่าเหตุใด 50 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาไม่เคยท้วงติง แต่ปัจจุบันยื่นเรื่องร้องต่อศาลโลกให้ตีความ

"เพราะกัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีพื้นที่อนุรักษ์ที่กินเข้ามาในดินแดนไทยจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. และไทยจะชี้ให้ศาลเห็นว่า การประชุมมรดกโลก ณ เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ยูเนสโก ได้เลื่อนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ออกไป 1 ปี และรับพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทให้กัมพูชา ในการประชุมที่แคนนาดา โดยมีขอบเขตพื้นที่มรดกโลกเล็กลง" นายไกรรวี กล่าว

**กต.ปรับเนื้อหาในการชี้แจงคดี

นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเผยแพร่ข้อมูล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการต่อสู้คดีพื้นที่เขาพระวิหาร ให้สัมภาษณ์ ว่า หลังเสร็จสิ้นการรับฟังการชี้แจงทางวาจาของฝ่ายกัมพูชาในวันแรกแล้ว คณะทำงานฝ่ายไทย และทีมที่ปรึกษา กฎหมายชาวต่างชาติ ได้ประชุมมหารือ และประเมินว่าสิ่งที่ได้รับฟังส่วนใหญ่ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และประเด็นหลักๆ ที่ฝ่ายกัมพูชาหยิบยกมา ส่วนใหญ่อยู่ในข้อเขียน สิ่งที่ฝ่ายกัมพูชาขยายเพิ่มเติม และหาข้อมูลมาโต้แย้งคือ สิ่งที่ไทยเขียนไว้ ในคำอธิบายเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรที่ฝ่ายไทยยื่นต่อศาล ครั้งที่ 2

"เท่าที่ได้หารือกัน จะปรับเนื้อหาในบางประเด็น เพื่อให้เข้ากับเนื้อหาที่ฝ่ายกัมพูชาพูด เพื่อให้มีน้ำหนักที่ดีกว่า ขณะนี้มี 1 หัวข้อ ที่เตรียมไว้แต่จะลดเวลาพูดลงจาก 25 เป็น 5 นาที ส่วนเวลาที่เพิ่มมา ก็จะกระจายไปพูดในส่วนอื่นที่กัมพูชาให้ความสำคัญมากขึ้น โดยแผนที่จะเป็นหนึ่งบท ที่ไทยจะพูด และคงมีน้ำหนักพอสมควร ขณะนี้ไทยให้น้ำหนัก 3-4 ประเด็นเท่าๆกัน ส่วนจะเน้นประเด็นใดๆ เพิ่มขึ้น จากเวลาที่ได้ตัดบางประเด็นออกไปนั้น จะหารือกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับทุกประเด็น"

นายณัฏฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ในวันนี้ ผู้ขึ้นกล่าวชี้แจงของไทย นอกจากนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุง เฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และตัวแทนฝ่ายไทยแล้ว คาดว่ามีทนายที่ปรึกษาชาวต่างชาติทั้ง 3 คน และผู้ช่วยอีก 1 คน โดยแต่ละคนรับผิดชอบแต่ละประเด็น

ขณะนี้ผู้ขึ้นชี้แจงได้นำถ้อยแถลงทั้งหมดไปปรับรายละเอียด เพื่อให้ตรงกับประเด็นที่จะนำไปใช้ในวันนี้ ส่วนใครจะขึ้นพูดก่อน หลัง และจะกระจายน้ำหนักไปในประเด็น ต่างๆ อย่างไรนั้น เราจะประชุมเพื่อพิจารณากันอีกครั้ง ซึ่งคงได้ข้อสรุปที่ชัดเจน.
กำลังโหลดความคิดเห็น