xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้ไทยสาหัส เขมรถล่มหนัก บี้ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายฮอร์นัมฮอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ให้การโดยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505
“ส.ว.คำนูณ” เผยไทยอาการน่าห่วง เหตุกัมพูชายิงอาวุธหนักบี้ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน พร้อมงัดหลักฐานไม่ยอมรับการล้อมรั้วรอบปราสาทพระวิหารตามมติ ครม.ไทยปี 2505 เผยบรรยากาศเหมือนย้อนยุคไป 50 กว่าปีก่อน แนวโน้มศาลตัดสินให้ไทยเสียหาย เตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่าเพิ่งบอกจะทำตามศาลโลก

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ซึ่งเข้าร่วมฟังการให้การโดยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ วันนี้ (15 เม.ย.) ได้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านเอเอสทีวี ในรายการพิเศษเกาะติดคดีประวัติศาสตร์เขาพระวิหารว่า หลังจากได้ฟังการแถลงด้วยวาจาของนายฮอร์ นัมฮง รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศของกัมพูชา รวมทั้งทนายความของกัมพูชาทั้ง 3 คนแล้ว ถ้าเป็นสงครามก็ถือว่าเขาได้ยิงอาวุธหนักใส่ไทยตรงที่เป็นจุดอ่อนของเรา นั่นคือเขาพูดถึงแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่ระวางพนมดงรัก มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 นับพันครั้ง เพราะเขาต้องการให้ตีความว่าเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารคือเส้นเขตแดนตามแผนที่ในภาคผนวกที่ 1 นั่นเอง

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ที่ว่าเป็นจุดอ่อนของไทย แม้ว่าบทปฏิบัติการตามคำพิพากษาปี 2505 ทั้ง 3 ข้อไม่ได้บอกว่าเส้นเขตแดนตามแผนที่ในภาคผนวกที่ 1 เป็นเส้นเขตแดนที่ถูกต้อง โดยมีแค่ 3 ข้อ คือ 1. ปราสาทพระวิหารอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา 2. ให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และ 3. ให้ไทยคืนวัตถุโบราณที่นำออกไปจากปราสาทพระวิหารแก่กัมพูชา แต่ว่าเหตุผลก่อนที่จะนำมาสู่บทปฏิบัติการทั้ง 3 ข้อนั้น มีหลายจุดที่ศาลพูดถึงแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 เพียงแต่ที่ศาลโลกไม่ได้มีคำพิพากษาเรื่องความถูกต้องของแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 และเส้นเขตแดน ในปี 2505 นั้น เป็นเพราะเดิมกัมพูชายื่นคำร้องให้ศาลตัดสินเพียง 2 ข้อ ส่วนเรื่องความถูกต้องของแผนที่และเส้นเขตแดนนั้น กัมพูชาเสนอเพิ่มเข้ามาภายหลัง

นายคำนูณกล่าวอีกว่า ที่เรามั่นใจตลอดว่าศาลไม่ได้พิพากษาเรื่องเส้นเขตแดนนั้น ตอนนี้เหมือนกัมพูชาได้ฟ้องซ้ำเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งปกติศาลจะตีความเฉพาะตามบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ไม่ล่วงเลยไปถึงเหตุผลที่นำมาสู่บทปฏิบัติการ เว้นแต่ว่าส่วนของเหตุผลที่นำมาสู่บทปบัติการนั้นไม่สามารถแยกออกได้จากบทปฏิบัติการ ซึ่งตรงนี้นับว่าอันตราย ต้องติดตามดูว่าศาลจะตัดสินอย่างไร จะตีความแค่บทปฏิบัติการตามเดิม หรือจะตีความเลยไปถึงเหตุผลก่อนจะมาถึงบทปฏิบัติการ ซึ่งก็จะเลยมาถึงแผนที่ภาคผนวกที่ 1 เราไม่รู้ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร และต้องดูว่าฝ่ายไทยที่จะให้การรอบแรกในวันที่ 17 นี้ว่า เราจะสู้ในประเด็นเรื่องศาลไม่มีอำนาจตีความหรือไม่

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ไทยเคยมั่นใจมาตลอดว่าภายหลังศาลโลกมีคำพิพากษาปี 2505 แล้ว ไทยได้มีมติ ครม.ล้อมรั้วทำเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารนั้น ทางกัมพูชาไม่เคยคัดค้าน เพราะฉะนั้นทางกัมพูชาก็จะโดนกฎหมายปิดปากเล่นงานบ้าง แต่ว่าวันนี้มันมีเอกสารหลายอย่างที่เขายื่นร้องต่อยูเอ็นว่าไม่ยอมรับเส้นเขตแดนตามมติ ครม.ดังกล่าว และมีพระราชดำรัสของสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา ที่แสดงการไม่ยอมรับ โดยบอกว่าเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนขึ้นมาใหม่ของฝ่ายไทย ตามคำแถลงของทนายของฝ่ายกัมพูชา ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

สรุปว่าเขาพุ่งไปที่ความถูกต้องของแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 และให้เรายอมรับเสีย แม้ว่าศาลไม่ได้กล่าวไว้ในปฏิบัติการตตามคำพิพากษาปี 2505 และที่เราเคยมั่นใจว่ากัมพูชาไม่เคยคัดค้านการล้อมรั้วตามมติ ครม.ปี 2505 แต่เขามีหลักฐานว่าได้คัดค้านหลายครั้ง ซึ่งก็ต้องดูว่าฝ่ายไทย เคยยื่นตอบโต้เขาอย่างไร และทางยูเอ็นมีข้อสรุปอย่างไร

“ในความรู้สึกของผม มันเหมือนว่าเป็นการพิจารณาคดีใหม่ เหมือนย้อนกลับไปปี 2504-2505 สิ่งที่ศาลเคยพิพากษาเสร็จสิ้นไปแล้วในวันนั้น มันเอามาพูดถึงอีก ทั้งที่เราไม่ยอมรับศาลโลกมาตั้งแต่ปี 2503 ทำไมเราจะต้องมาสุ่มเสี่ยงว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไรอีก” นายคำนูณกล่าวและว่า ไม่อยากให้รัฐบาลด่วนบอกว่าเราจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ซึ่งตอนนี้มันสุ่มเสี่ยงต่อการที่ศาลจะพิพากษาออกมาในทางที่ทำให้เราเสียหาย

นายคำนูณกล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าศาลอาจจะตีความเพียง 2 ประเด็น คือเรื่อง อาณาบริเวณของปราสาทพระวิหาร และเรื่องการถอนทหาร โดยไม่ได้ตีความเรื่องแผนที่ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่แล้ว หากศาลบอกว่า บริเวณปราสาทพระวิหารรวมพื้นที่มากกว่าที่เราล้อมรั้วไว้ และการถอนทหารให้มีผลต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ เราจะมีทหารตำรวจตรงนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราจะต้องตั้งหลักให้ดี มันเป็นเรื่องที่เราต้องรับผลกระทบร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายไหน และรัฐบาลไม่ควรจะบอกว่า เราจะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไม่ รัฐบาลควรจะถามคนไทยก่อน โดยบอกผลดีผลเสียให้ชัดเจน อย่าอ้างว่ามาจากประชาชนแล้วก็ตัดสินใจเอาเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น