xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไทยลอกคราบเขมรหมดไส้ ทิ่มหมัดน็อกพิฆาตแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากฝ่ายกัมพูชานำโดย “นายฮอร์ นัมฮง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดฉากกล่าวหาไทยด้วยถ้อยแถลงทางวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2556 หัวใจคนไทยทั้งชาติก็หล่นไปอยู่ที่ตาตุ่ม แม้จะรู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นเท็จและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงก็ตาม

กระทั่ง นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ นำทีมกฎหมายฝ่ายไทย ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงด้วยวาจาตอบโต้ข้อกล่าวหาของกัมพูชา หัวใจของคนไทยจึงกลับมาพองโตอีกครั้ง เพราะทีมกฎหมายฝ่ายไทยสามารถหาหลักฐานมาตอบโต้กัมพูชาได้เป็นอย่างดี

ในการแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกของไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2556 มีประเด็นสำคัญคือการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกในปี พ.ศ. 2505 ครบถ้วนกระบวนความ ฝ่ายกัมพูชาต่างหากที่โกหกปลิ้นปล้อน ปลอมเอกสาร เพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิมโดยหวังใช้เป็นเส้นเขตแดนหวังฮุบพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ทั้งที่ศาลได้ปฏิเสธที่จะมีคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ทีมกฎหมายฝ่ายไทยระบุชัดว่าข้อพิพาทเป็นผลมาจากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว พร้อมย้อนเกล็ดกลับไปอย่างเจ็บแสบว่า “สมเด็จกรมพระนโรดมสีหนุ” อดีตกษัตริย์กัมพูชา มาร่วมเฉลิมฉลองการมอบปราสาทโดยไม่ขัดข้องเรื่องรั้วลวดหนามที่ไทยจัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี 2505

ที่สำคัญคือ ทีมกฎหมายไทยลากไส้ The annex 1 map ออกมาได้อย่างชัดเจน และย้ำให้ เห็นว่าศาลโลกไม่มีอำนาจรับตีความคดีนี้

นายวีรชัย ชี้ให้ศาลเห็นว่า ข้อพิพาทปัจจุบันเกิดจากการเรียกร้องดินแดนใหม่ของกัมพูชา เพื่อยื่นเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับคดีเดิมซึ่งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาทซึ่งได้รับปฏิบัติแล้วทันทีภายหลังจากการมีคำพิพากษา โดยมติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทโดยสร้างรั้วและป้าย และเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2505 ไทยก็ได้คืนปราสาทให้กัมพูชาพร้อมถอนกำลังทหารออกจากบริเวณนั้น กัมพูชาได้แสดงความพึงพอใจโดยหัวหน้าทางการทูตของกัมพูชาต่อหน้าที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และประมุขของรัฐกัมพูชาที่เดินทางไปทำพิธีครอบครองปราสาทอย่างเป็นทางการ

จนกระทั่งถึงช่วงปี 2543 กัมพูชามีการรุกล้ำเส้นมติคณะรัฐมนตรีเข้ามาในดินแดนไทย ทำ ให้เกิดการประท้วงอย่างหนักจากไทย และข้อพิพาทใหม่นี้ชัดเจนขึ้นในปี พ.ศ. 2550เมื่อกัมพูชาเสนอแผนผังเพื่อการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียวต่อคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมสมัยที่ 31ซึ่งดินแดนที่กัมพูชาอ้างล้ำเข้ามาในดินแดนไทยประมาณ4.6 ตารางกิโลเมตร

นายวีรชัย กล่าวด้วยว่า พื้นที่พิพาทประมาณสี่ตารางกิโลเมตรครึ่งไม่ใช่ “บริเวณใกล้เคียง” ปราสาทตามนัยของวรรคปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ทั้งนี้ ตรงข้ามกับสิ่งที่กัมพูชาอ้าง ผืนดินแดนไทยซึ่งกัมพูชาเรียกร้องตั้งแต่ปี 2550 ไม่ใช่และไม่อาจจะเป็นบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามนัยของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เพราะในคำร้องในคดีเดิม กัมพูชามิได้เรียกร้องพื้นที่ขนาดนี้ และเรื่องเขตแดน ดังนั้น ศาลไม่สามารถตัดสินเกินคำร้อง และให้ในสิ่งที่กัมพูชาไม่ได้ขอ

และแม้ในคำขอเพิ่มเติมของกัมพูชาในขณะนั้นเกี่ยวกับเส้นเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งศาลไม่รับไว้พิจารณา ก็ไม่มีการระบุถึงพื้นที่ 4.6ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายความลำบากของกัมพูชาที่จะพิสูจน์ความมีอยู่ของพื้นที่พิพาทดั้งเดิม โดยทำได้อย่างมากก็ปลอมแปลงเอกสารจดหมายเหตุและโต้แย้งด้วยเส้นจากภาคผนวก 49 ของคำให้การแก้ฟ้องของไทยเมื่อปี 2504 ที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

นายวีรชัยกล่าวว่า แม้ว่า กัมพูชาจะเน้นเรื่องการเคารพต่อศาล กัมพูชาก็ได้ดำเนินการที่ไม่เหมาะสมทางคดีเพื่อที่จะทำให้ศาลเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ อาทิ การเสนอหลักฐานเดียวที่พิสูจน์พื้นที่ที่อ้างว่าเป็นพื้นที่พิพาทเดิมประมาณสี่ตารางกิโลเมตรครึ่ง กล่าวคือร่างแผนที่ ซึ่งหนึ่งในการปรากฏร่างปรากฏอยู่ในหน้าก่อนหน้า 77 ของคำตอบแก้ของกัมพูชา ซึ่งเป็นการปลอมแปลงแผนที่ฉบับที่ 3 และ 4 ของภาคผนวก 49 ของคำให้การแก้ฟ้องของไทยที่นำมาซ้อนกันในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ และยังได้แถลงอย่างผิดๆ เกี่ยวกับหลักฐานอื่นๆ รวมทั้งแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นแผนที่ที่แนบคำขอแรกเริ่มของกัมพูชา แต่กลับถูกนำไปอ้างในเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ณ กรุงปารีส ว่าเป็นแผนที่ที่ได้รับการรับรองจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าเป็นภาคผนวก 1 ของคำพิพากษาฯ

นอกจากนี้ ยังเสนอแผนที่ภาคผนวก 1 ต่อศาลคนละฉบับกับที่ได้เสนอในคำขอแรกเริ่ม ซึ่งแน่นอนว่าต่างแสดงปราสาทอยู่ในฝั่งกัมพูชา แต่เส้นเขตแดนที่แสดงในแผนที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกัมพูชาขอให้ศาลพิจารณาเส้นเขตแดนของแผนที่ภาคผนวก 1 แต่ว่าพูดถึงแผนที่ฉบับไหน เส้นไหน

ซ้ำร้ายหนังสือข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร และการ เจรจาเขตแดนไทย- กัมพูชา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยตีพิมพ์ เพื่อพยายามจะหาหลักฐานมาสนับสนุนข้อพิพาท4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งระบุถึงพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทใหม่ โดยดำเนินการแปลอย่างไม่ถูกต้องและเลือกที่จะอ้างถึงวรรคที่ไม่ปะติดปะต่อกัน ซึ่งไทยได้เสนอคำแปลที่ถูกต้อง และแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาได้ดำเนินการที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจทำให้ศาลเข้าใจผิดได้อย่างไร

จากนั้นทนายความฝ่ายไทย โดย น.ส.อลินา มิรอง ได้แถลงตอกย้ำถึงความผิดปกติของ แผนที่ อัตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน หรือแผนที่แนบท้ายภาคผนวกที่ 1 ที่ฝ่ายกัมพูชาได้นำเสนอต่อคณะผู้พิพากษา ว่าในคำร้องฝ่ายกัมพูชาได้ใช้แผนที่มาอ้างอิงหลายฉบับ โดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ได้ให้ความเห็นไว้ว่า แผนที่ที่กัมพูชานำมาอ้างอิงนั้น ในทางสากลไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง เพราะมีความผิดพลาดทางภูมิประเทศ

ส่วนกรณีที่ฝ่ายกัมพูชา ระบุหลายครั้งว่า ศาลโลกได้รับรองแผนที่ตามภาคผนวกที่ 1 ตามคำพิพากษาปี 2505 เมื่อทีมต่อสู้คดีนี้ของไทยไปค้นดูคำพิพากษาที่มีความยาวกว่า 1,500 หน้า ไม่ปรากฏการบันทึกใดที่เป็นการรับรองแผนที่ฉบับดังกล่าว อีกทั้งไม่ปรากฏว่าในการพิพากษาในปี 2505 ศาลโลกได้ใช้แผนที่ฉบับใดมาเป็นหลักในการพิจารณา

ถ้านำแผนที่เก่าของกัมพูชามาวางไว้แผนที่ปัจจุบัน จะพบว่าไม่มีความแม่นยำ แต่ไม่ทราบว่ามีการนำแผนที่มาสับเปลี่ยนกันหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชมกัมพูชา หากเราจะตัดสินจากความละอายของกัมพูชาที่ไม่มีการโต้แย้งในเรื่องนี้ สิ่งที่ทนายฝ่ายกัมพูชาให้ถ้อยแถลงต่อคณะผู้พิพากษาเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ระบุว่า แผนที่ที่ได้นำเสนอนั้นเป็นการขีดเส้นตัดกันระหว่างแผนที่ในภาคผนวก 1 และแนวเส้นสันปันน้ำ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากการถ่ายทอดแผนที่ในอดีตมายังแผนที่ปัจจุบันมีความยาก เพราะต้องใช้วิธีทางคณิตศาสตร์

และหากนำแผนที่ตามถ้อยแถลงของทนายฝ่ายกัมพูชามาอ้างอิง จะพบว่าส่วนที่ตัดกันนั้นอยู่ห่างจากตัวปราสาทมากถึง 6.8 กม. และที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญหน่วยวิจัยเขตแดนระหว่างประเทศ ระบุว่า วิธีการของกัมพูชาจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของแผนที่มากถึง 500 เมตร ในทางตอนเหนือของปราสาทพระวิหาร ดังนั้น เห็นชัดว่ากัมพูชาไม่สนใจในความถูกต้องของภูมิประเทศรอบปราสาท รวมถึงภูมะเขือ และเทือกเขาพนมดงรัก ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่สำคัญ และไม่สามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายในเวลา 50 ปี

น.ส.อลินา กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ทางกัมพูชาไม่มีแผนที่ที่สามารถพิสูจน์พื้นที่ได้แน่นอน แม้จะอ้างว่าปราสาทพระวิหารนั้นจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรกดกโลกแล้ว เพราะตามแผนที่ที่ศาลโลกใช้ประกอบการตัดสินคดีเมื่อปี 2505 แต่ข้อเท็จจริงยูเนสโก ได้ใช้แผนที่ของปี 2011 ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นสิ่งที่น่าประหลาดว่ากัมพูชาได้ยื่นเพิ่มเติมหลังจากจบการนำเสนอ

ทนายฝ่ายไทยกล่าวอีกว่า กัมพูชาได้อ้างอิงในสนธิสัญญาปี 1904 ว่าได้ให้อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่สนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้พูดถึงตัวปราสาทพระวิหาร ระบุเพียงแค่เขตแดนในแผนที่ฉบับอื่นๆ เช่น แผนที่ในปี 1937 ที่แสดงให้เห็นว่าตัวปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตของกัมพูชา แต่ไม่สามารถใช้กำหนดเขตแดนได้ เพราะไม่ชัดเจนในแง่ภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ, แผนที่ปี 1947 ที่ประเทศไทยได้เสนอต่อคณะกรรมการประนอมระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส มีลักษณะคล้ายกับแผนที่ภาคผนวก 1 คือแสดงให้เห็นว่าปราสาทพระวิหารอยู่ทางตอนใต้ของเส้นเขตแดน แต่ส่วนอื่นๆ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ดังนั้น ทำให้คณะพิพากษาปี 1962 ไม่ได้ให้คุณค่าที่จะใช้พิสูจน์เขตอธิปไตย

“ประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลวินิจฉัยว่าแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดนหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีความชัดเจน แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ศาลเห็นชอบให้ใช้เส้นตามแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดน และหากพิจารณาตามแผนที่ 85D เท่ากับกัมพูชามีความต้องการขยายอาณาเขตเดิม มาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ด้วย” น.ส.อลินา กล่าวสรุป

โดนัล เอ็ม แมคเรย์ ทนายความฝ่ายไทย กล่าวว่า กัมพูชาพยายามขอให้ศาลตัดสินในสิ่งที่ศาลเคยปฏิเสธ เป็นการขอให้ศาลยืนยันสมมติฐานที่ว่าเขตแดนเป็นไปตามเส้นบนแผนที่ภาคผนวก 1 มาตราส่วน 1:200,000 และหากกัมพูชาตั้งคำถามตรงๆ ก็จะได้คำตอบว่า ศาลในปี 2505 ปฏิเสธคำขอกัมพูชา และศาลในวันนี้ควรจะปฏิเสธที่จะตัดสินเช่นกัน

อแลง แปลเล่ต์ กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 เห็นได้ชัดว่า ศาลจงใจไม่พูดถึงเรื่องเส้นเขตแดน โดยต่อมาในปี 2543 ไทยและกัมพูชาได้ลงนามในเอ็มโอยูเพื่อเป็นกรอบการจัดทำหลักเขตแดน ไม่มีส่วนใดที่ระบุถึงคำพิพากษาปี 2505 ตามที่กัมพูชาอ้าง การนิ่งเฉยของทั้งสองฝ่าย คือ ไทยและกัมพูชา สะท้อนให้เห็นว่ามาจากการเห็นตรงกันแล้วถึงคำพิพากษาปี 2505 ตลอดจนการดำเนินการใดๆ ของไทย อาทิ การติดตั้งประตูทางเข้าออกสู่ปราสาท ห่างไปจากตอนเหนือของปราสาทราว 100 เมตร กัมพูชาก็ไม่เคยทักท้วงหรือต่อต้าน ดังนั้นถือว่ากัมพูชายอมรับแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การที่ “นายอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ” หนึ่งในคณะผู้พิพากษาศาลโลก ขอให้ไทยและกัมพูชากำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ หรือชี้แผนที่บริเวณที่เป็นดินแดนที่แต่ละฝ่ายคิดว่าเป็นบริเวณของปราสาทพระวิหาร (Vicinity) ในช่วงท้ายหลังจากที่ฝ่ายไทยจบคำแถลงด้วยวาจา ซึ่งถือเป็นคำถามสำคัญยิ่ง

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา วิเคราะห์ว่า ไทยได้โต้แย้งคำให้การของกัมพูชา จนสามารถฉีกแผนที่ภาคผนวก 1 (Annex I) ซึ่งกัมพูชาใช้เป็นข้ออ้างได้เป็นชิ้นๆ ทำให้โอกาสที่ศาลจะตัดสินให้เป็นไปตามความต้องการของกัมพูชามีน้อย ประกอบกับศาลไม่น่าที่จะกล้าเสี่ยงวินิจฉัยเกินเลยขอบเขตคำพิพากษาเดิม ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ศาลจะกำหนดพิกัดขึ้นมาเอง เพื่อให้เป็นเขตของตัวปราสาท เหมือนที่ศาลเคยกำหนดเขตในคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีพิกัด Vicinity นั้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่าศาลอาจจะกำหนด Vicinity ของปราสาทขึ้นมาเอง แม้ไม่ใช่จากเส้นตาม annex 1 map แต่ก็น่าจะไม่ใช่เส้นตามมติ ครม. 10 กรกฎาคม 2505 คำถามคือคนไทยส่วนใหญ่จะยอมให้รัฐบาลปฏิบัติตามหรือไม่ ??

ถึงตรงนี้ ถึงที่สุดแล้ว แม้ว่าฝ่ายไทยจะสามารถลากไส้ ทำลายความน่าเชื่อถือของกัมพูชากลางศาลโลก แต่ไม่แน่ว่า “กรรมการ” จะกดคะแนนให้หรือไม่ เพราะเรื่องเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างกรณีอย่างนักมวยไทยชื่อดังขวัญใจชาวไทย “แก้ว พงษ์ประยูร” ที่ถูกปล้นเหรียญทองโอลิมปิกชนิดที่ว่าชกเข้าเป้ามากกว่าคู่แข่งขันอย่างเห็นได้ชัดแต่กลับเป็นฝ่ายแพ้คะแนนในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น