xs
xsm
sm
md
lg

ภาพ"สีหนุ"ขึ้นเขาพระวิหาร หมัดเด็ดชนะน็อค?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มาถึงโค้งสุดท้ายคดีปราสาทพระวิหาร ทีมต่อสู้คดีทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างเชื่อมั่นว่ามีหมัดเด็ดสยบอีกฝ่ายให้พ่ายแพ้ราบคาบ ฝ่ายกัมพูชานั้น ถือดีว่า คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะมาแล้ว จึงเชื่อว่าจะเป็นฝ่ายได้เปรียบในการสู้คดีในคราวนี้ ขณะที่ฝ่ายไทยก็มั่นใจเต็มร้อยว่าไม่ตกเป็นรองเพราะมีหมัดน็อคที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้
 

ฟากกัมพูชานั้น ทีมสู้คดีเดินทางไปยังกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ล่วงหน้าก่อนแล้ว โดยนายฮอร์นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ ไปพร้อมกับทีมงานชุดเดิมกับเมื่อปี 2554 ครั้งที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ หรือศาลโลก ตีความคำพิพากษาเมื่อ 51 ปีก่อน ซึ่งประกอบด้วย นายวาร์กิมฮอง รัฐมนตรีอาวุโสและประธานคณะกรรมาธิการชายแดนแห่งชาติ กับนายลองวิสาโล รัฐมนตรีช่วยว่าการที่คร่ำหวอดในวงการมานานที่สุดอีกคนหนึ่ง กับทีมผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ 
 
ในการสู้คดีคราวนี้ กัมพูชา ยื่นเอกสารต่อศาลโลก จำนวน 300 หน้า โดยประเด็นที่เป็นสาระสำคัญที่สุดที่กัมพูชายกขึ้นต่อสู้คือ ศาลโลกได้พิจารณาเรื่องเส้นเขตแดนและแผนที่1:200,000 แล้วจึงมีคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2505 ที่ตัดสินว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และการขอให้ศาลตีความคำพิพากษาก็เพื่อทำให้เรื่องนี้เป็นที่ชัดเจนสิ้นสงสัย ทั้งที่ความจริงแล้ว เรื่องเส้นเขตแดนและแผนที่เป็นคำขอเพิ่มเติมที่กัมพูชาเคยร้องขอต่อศาลโลกในการฟ้องคดีเมื่อ 51 ปีมาแล้ว และคำตัดสินของศาลโลก เมื่อปี พ.ศ. 2505 นั้น ไม่ได้ชี้ขาดในเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาที่ฝ่ายกัมพูชาขอให้เป็นไปตามแผนที่ 1:200,000 แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาเส้นเขตแดนและแผนที่ระหว่างไทย-กัมพูชานั้น เป็นมรดกความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาจากลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจ ดังนั้น การต่อสู้คดีครั้งนี้ย่อมมีปัจจัยเรื่องการเมืองระหว่างประเทศและผลประโยชน์ของมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน
เงื่อนไขนี้เห็นได้ชัดในกรณีที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ที่ชาติมหาอำนาจต่างให้การสนับสนุนฝ่ายกัมพูชาอย่างเต็มที่โดยไม่สนคำคัดค้านของฝ่ายไทย เพราะเวลานี้กัมพูชากำลังเปิดขุมทรัพย์พลังงานให้ต่างชาติเข้าสัมปทานและลงทุนพัฒนาธุรกิจปิโตรเลียม การญาติดีกับกัมพูชาย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมหาอำนาจมากกว่าที่จะไปสร้างความขุ่นเคืองขัดแย้ง ยิ่งหากมองตามสัจธรรมความจริง "กฎหมายระหว่างประเทศ คือกฎเกณฑ์ของมหาอำนาจ..." ขึ้นศาลคราวนี้เห็นๆ กันว่ากัมพูชามีมหาอำนาจหนุนเนื่องอยู่เบื้องหลังอย่างไม่ต้องสงสัย

ขณะที่ทีมสู้คดีฝ่ายไทยนั้น ยังคงหัวหน้าทีมคนเดิม คือ ดร.วีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก และมีรัฐมนตรีว่าการจาก 3 กระทรวงเข้าร่วมด้วย คือ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะมือหนึ่งด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่งมาเข้าช่วยดูคดีนี้ และพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ

การสู้คดีคราวนี้ ฝ่ายไทย เปิดไพ่เล่นหมดหน้าตัก เปิดกระทั่งหมัดเด็ดสุดที่คาดหมายว่าจะสามารถเอาชนะน็อคคู่ต่อสู้โดยจะใช้กลยุทธดาบนั้นคืนสนอง โดยทีมสู้คดีจะพิสูจน์ให้ศาลโลกเห็นว่า นับแต่ศาลโลกมีคำพิพากษา เมื่อปี พ.ศ. 2505 ฝ่ายไทยได้ปฏิบัติตามคำตัดสินโดยขีดเส้นกำหนดอาณาเขตปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 และกัมพูชาไม่เคยคัดค้านมาตลอด ถือว่ากัมพูชายอมรับแล้วจะมาคัดค้านสงสัยหลังจากเวลาผ่านไป 50 ปีได้อย่างไร

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระซึ่งเคยทำงานด้านกฎหมายในคดีพิพาทระหว่างประเทศในศาลโลก ชี้ว่า การตีความในแง่มุมของกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึงพฤติกรรมของคู่กรณี การที่ทั้ง 2 ประเทศเข้าใจตรงกันมา 40-50 ปีหลังจากไทยล้อมรั้วลวดหนาม ศาลอาจเห็นว่าทั้ง 2 ประเทศเข้าใจตรงกันอยู่แล้วว่ารั้วลวดหนามคือขอบเขตของตัวปราสาท ยิ่งกว่านั้นการล้อมรั้วลวดหนามก็ไม่ได้เป็นความลับอะไร ไทยได้ทำหนังสือแจ้งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จนทั่วโลกก็ทราบกันว่าขอบเขตของตัวปราสาทอยู่ตรงไหน

กรณีนี้ฝ่ายไทยเชื่อว่ากัมพูชาจะถูกต้อนให้ยอมรับหลัก “กฎหมายปิดปาก” เช่นเดียวกับที่ไทยเคยเจอมาแล้ว เพราะมีโอกาสที่จะคัดค้านแผนที่ระวางดงรัก หรือแผนที่ 1:200,000 แต่ไม่คัดค้านจนทำให้พ่ายแพ้คดีปราสาทพระวิหารเมื่อ 51 ปีที่แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น หมัดเด็ดหวังน็อคอีกหมัดหนึ่งที่จะตามซ้ำก็คือ หลักฐานที่สมเด็จนโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาเคยเสด็จขึ้นปราสาทพระวิหารเห็นไทยล้อมรั้วอาณาเขตปราสาทพระวิหารหลังศาลโลกมีคำพิพากษาแล้วไม่ได้ทักท้วงอะไร

เรื่องนี้ “โพสต์ทูเดย์” ฉบับตีพิมพ์วันอังคารที่ 9 เมษายน 2556 รายงานว่า นายณัฎฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า คดีปราสาทพระวิหารนั้นประเทศไทยมีหลักฐานใหม่คือ หลังการล้อมรั้วรอบปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาศาลโลก ปี 2505 พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชา ในขณะนั้น ได้เคยเสด็จฯ ขึ้นไปบนเขาพระวิหารโดยไม่ได้เคยโต้แย้งหรืออุทธรณ์การปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกของฝ่ายไทย ซึ่งจะนำหลักฐานภาพถ่ายดังกล่าวไปแสดงต่อศาลในวันที่ 15 - 19 เมษายน 2556นี้

นี่เป็นการใช้กลวิธีดาบนั้นคืนสนองต่อกัมพูชาของฝ่ายไทย เพราะในการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ฝ่ายกัมพูชาได้นำภาพสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขึ้นไปบนปราสาทพระวิหารโดยมีทหารฝรั่งเศสให้กับต้อนร้บและมีการเชิญธงชาติฝรั่งเศสขึ้นเหนือตัวปราสาท ซึ่งเท่ากับว่าไทยได้รับรู้มาตลอดว่าปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่ของกัมพูชาและการที่ไทยไม่เคยโต้แย้งเลย ศาลจึงเห็นว่าเท่ากับไทยยอมับและทำให้ไทยแพ้คดี

นอกจากนั้นแล้ว ว่ากันว่า กระทรวงการต่างประเทศ ยังมีไพ่เด็ดอยู่ในมืออีกหนึ่งก็คือ โทรเลขของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ เมื่อครั้งยังเป็นประมุขของกัมพูชา ที่ส่งถึงรัฐบาลไทยตั้งแต่คราวศาลโลกตัดสินครั้งแรกเมื่อปี 2505 โดยถ้อยคำที่ปรากฏในโทรเลขฉบับนั้นระบุในทำนองที่ว่า “ได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว” แถมยังมีหลักฐานการส่ง "บรั่นดี" มาให้ไทยดื่มฉลองร่วมกันด้วย

ประโยคที่ว่า "ได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว" ทำให้ฝ่ายไทยเชื่อว่า กัมพูชาได้ยอมรับการขีดเส้นอาณาบริเวณรอบตัวปราสาทตามมติคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม2505 แล้ว

อย่างไรก็ตาม ทั้งท่าทีที่กัมพูชาไม่เคยคัดค้านการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกของฝ่ายไทยที่ขีดเส้นอาณาเขตบริเวณปราสาทพระวิหาร ทั้งภาพเด็ดของสมเด็จนโรดมสีหนุขึ้นเขาพระวิหารโดยยอมรับรั้วกั้นแบ่งเขตตามคำสั่งศาลโลก และโทรเลขแสดงความพึงพอใจในคำสั่งศาลโลกของประมุขกัมพูชา ทำให้ฝ่ายไทยเชื่อว่าจะพลิกเกมจากการตกเป็นรองขึ้นมาตีเสมอถึงน็อคเอาท์คู่ต่อสู้ได้ แต่จะเป็นไปอย่างที่หวังหรือไม่ก็ยังต้องรอลุ้น เพราะฝ่ายกัมพูชาต้องหาหลักฐานเด็ดมาหักล้างฝ่ายไทยให้ศาลเชื่อว่าที่ผ่านมากัมพูชา ไม่ได้ยอมรับอย่างที่ไทยกล่าวอ้าง

หยุดยาวสงกรานต์ปีนี้ นอกจากความสนุกสนานจากการรดน้ำดำหัวกันแล้ว ต้องเปิดทีวีดูการถ่ายทอดสดการต่อสู้คดีกันของไทยและกัมพูชาจากนั้นก็ลุ้นระทึกในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่าศาลจะตัดสินออกมาเช่นใด และเมื่อถึงเวลานั้น ไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาเป็นเช่นใด ประเด็นที่ คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา เสนอแนะคือ อย่าเพิ่งไปพูดว่าจะปฏิบัติตามทุกประการเพราะมันมีผลผูกพัน ต้องถามคนไทยก่อน

/////////////

เกาะติดแถลงปิดคดีพระวิหาร

นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงด้านกฎหมายการต่อสู้คดีตีความคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร แถลงว่า ในการเผยแพร่ข้อมูลการกล่าวถ้อยแถลงด้วยวาจา (Oral Hearing) ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 15 - 19 เม.ย. นี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใส ให้ประชาชนได้ทราบทราบโดยทั่วกัน โดยปกติศาลโลกจะมีการถ่ายทอดสดการให้การทางวาจาอยู่แล้ว ซึ่งสามารถรับฟังเสียงที่ใช้จริงที่เป็นภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ ได้ที่ http://www.icj-cij.org/homepage นอกจากนี้ ศาลยังจะมีการเผยแพร่คำแถลงของทั้ง 2 ฝ่ายผ่านทางเว็บไซต์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่http://webtv.un.org

ส่วนของรัฐบาลไทย ทางกระทรวงต่างประเทศ ได้จัดช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลสำหรับประชาชนที่สนใจ สามารถเลือกรับฟังเสียงการให้ถ้อยแถลงทั้งเสียงจริงที่เป็นภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ เสียงที่แปลแล้วเป็นภาษาอังกฤษ และเสียงที่แปลแล้วเป็นภาษาไทยได้ที่http://www.phraviharn.org นอกจากนี้ ยังจะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง11 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 92.5 และ AM 891นอกจากนี้ ยังมีสถานีวิทยุสราญรมย์ที่AM1575
ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์ข่าวที่กระทรวงต่างประเทศในระหว่างวันที่ 14 - 19 เม.ย. ซึ่งในวันที่ 14 และ 16 ที่ไม่มีกำหนดการที่ศาล ศูนย์ข่าวจะเปิดให้บริการเวลา 17.00 - 01.00 น. ส่วนในวันที่15 , 17 , 18 และ 19 ซึ่งมีการขึ้นให้การของฝ่ายไทย และกัมพูชา ศูนย์ข่าวจะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 13.00 - 01.00 น.โดยที่ศูนย์ข่าวจะเป็นสถานที่รับสัญญาณภาพ และเสียงจากกรุงเฮก และมีล่ามแปลภาษาไทย ตลอดจนจะมีการประสานการให้สัมภาษณ์ประจำวันหลังการให้การในศาลซึ่งจะตรงกับช่วงเวลาประมาณ 22.30 - 23.30 น. ตามประเทศไทย โดยจะมีการแถลงสรุปสถานการณ์ประจำวัน และจะมีการเปิดโอกาสให้มีการสัมภาษณ์ดร.วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนสู้คดีฝ่ายไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่สำนวนคดีนั้น ทางศาลโลกจะอนุญาตให้มีการเผยแพร่เอกสารสำนวนข้อเขียนผ่านทางเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 10.00น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งในส่วนของสำนวนฝ่ายไทยนั้น ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยและจะเริ่มเผยแพร่ตามเวลาที่ศาลโลกอนุญาตในเวลา 15.00 น. ตามเวลาปะเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น