xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขายฝัน7 ปี “เสร็จ”ใคร! “รถไฟ”จะไปโคราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ มีการจัดงานสัมมนา “โครงข่ายคมนาคมกับทิศทางการพัฒนาเมือง” มีผู้ร่วมสัมมนา ทั้งจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านผังเมืองกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นต้น

มีเรื่องที่น่าสนใจต่อเนื่องมาจาก ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในโครงการไทยแลนด์ 2020

วงเสวนานี้ พูดในเชิงลึกถึง “แผนลงทุนพัฒนาโครงการระบบขนส่งและการคมนาคมของประเทศ”เป็นหลัก

นายปรีชา รณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย บอกว่า กระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด และโยธาธิการแต่ละพื้นที่ ให้ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองในความรับผิดชอบของตัวเอง

“เพื่อรองรับการตั้งสถานีขนส่งระบบรางของรถไฟความเร็วสูงเข้าไปในพื้นที่ตามแผนงานของกระทรวงคมนาคม”

มีการแก้ไขเบื้องต้นในลักษณะเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เปลี่ยนแปลงผังสีโดยรอบสถานีในรัศมี 500 เมตร - 2 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ให้สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น แต่ยังไม่อนุญาตให้แก้ไขพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) และพื้นที่สีเขียวลาย (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) โดยให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

กระทรวงคมนาคมอาจต้องพิจารณาเรื่องที่ตั้งสถานีอีกครั้ง หากต้องการหลีกเลี่ยงบริเวณสีเขียว!

กระบวนการ แก้ไขปรับปรุงผังเมืองยังเน้น เรื่องการศึกษาวิเคราะห์เชิงวิชาการ และ การดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกขั้นตอน เช่น การประชุมผังเมืองจังหวัด การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย

ส่วนผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ที่จะประกาศใช้ในเดือน พ.ค.นี้ ได้มีการปรับปรุงผังสีกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงแล้ว โดยเน้นในย่านพหลโยธินเป็นหลัก พร้อมกับปรับผังบริเวณที่จะเป็นศูนย์กลางย่อย (Subcenter) ตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน

ขณะที่ นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม บอกว่า ประมาณเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาเสนอระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)

โดยกระทรวงจะกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นด้านเทคนิค และกำหนดราคาที่ต้องการไว้ในใจ เช่น ใช้ต้นทุนค่าบริหารจัดการประมาณ 10 สลึงต่อกิโลเมตร โดยคำนวณราคาระยะยาว 30-50 ปี จากนั้นจะจัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาคัดเลือก

สนข.ประเมินว่าจะมีประเทศต่างๆ เข้าแข่งขันเสนอระบบไฮสปีดเทรนให้ไทยจำนวนมาก ที่ผ่านมามีหลายประเทศแสดงท่าทีสนใจบ้างแล้ว เช่น ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องย้ายสถานีรถไฟเดิมบางสถานี เช่น สถานีหัวหิน นครราชสีมา ซึ่งจะรับฟังความคิดเห็นให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ และทยอยเปิดประมูลก่อสร้างงานระบบและงานโยธา

ดังนนั้ เมื่อมีรถไฟความเร็วสูง ก็จำเป็นต้องเชื่อมโยงระบบขนส่งทั้งหมดเข้าด้วยกันแบบบูรณาการ รวมทั้งต้องปรับผังเมือง เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้สนข.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธิน จำนวน 2,325 ไร่ เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ที่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมตั้งแต่บริเวณบางซื่อ เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ หมอชิต สวนจตุจักร และกิโลเมตรที่ 11

โดยจะย้ายกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เข้ามาอยู่ในบริเวณดังกล่าว และมีสถานีไฮสปีดเทรนเชื่อมเข้ามาถึงด้วย

สรุปก็คือ “เปิดทางต่างชาติ ร่วมวงไฮสปีดเทรน ก.ย.-ต.ค.นี้ชัวร์”

ที่ชัดเจนไปกว่านั้น

ก่อนจะปิดเทศกาลสงกรานต์ยาว ๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีโอกาสให้การต้อนรับ คณะของ นายอเล็กซานเดอร์ ซี เฟลด์แมน ประธานสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ ที่นำนักธุรกิจสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (US-ASEAN Business Council-USABC) เข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งหมด เป็นนักลงทุน 30 บริษัทของสหรัฐ ที่เดินทางมาไทย เพื่อศึกษาและสนใจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนการขนส่งสำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย

เป็นนักธุรกิจในสาขาสำคัญต่างๆ อาทิ ธุรกิจการเงิน เครดิต และประกันภัย ธุรกิจเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจน้ำมันและพลังงาน ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และ ไอที ธุรกิจยานยนต์ การขนส่ง และโลจิสติกส์

นายสุรนันท์ เวชชชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกว่า นโยบายของรัฐบาลในปีนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความเชื่อมโยง โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ที่รัฐสภาได้ผ่าน พรบ. กู้เงินในวาระแรก โดยจะนำเงิน 66,000 ล้านบาท มาลงทุนเพื่อพัฒนาระบบราง

ขณะที่นักธุรกิจสหรัฐ ฯก็ตังเป้าที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย

อีกเรื่องต่อเนื่องกัน หลังจากนักธุรกิจสหรัฐกลับไปไม่นาน จู่ๆก็มีกระแสข่าว รัฐบาลจีนพรากตัวหลินปิง คืนสู่อ้อมอกของสวนสัตว์เชียงใหม่ตามกำหนดเดิมคือในเดือนพฤษภาคม 2556

ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะในช่วงต้นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการยืนยันถึงข้อตกลงระหว่างไทย-จีน ที่เริ่มต้นไว้ตั้งแต่ยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีการเสนอกรอบการเจรจาผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไทยไปแล้ว และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ทำท่ากระตือรือร้นที่จะสานต่อในเรื่องนี้

ถึงขนาดมีการพบปะกันหลายครั้งระหว่างผู้นำของสองประเทศ แต่จู่ๆ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็กลับลำง่ายๆ ว่า จะลงทุนทำรถไฟความเร็วสูงเองโดยไม่ลงทุนร่วมกับจีนตามข้อตกลงเดิม

“การร่วมทุนกับจีนมีความยุ่งยาก” แต่กลับไม่เคยมีใครหน้าไหนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ออกมาพูดถึงผลกระทบที่จะตามมา เมื่อรัฐบาลไทยตัดสินใจฉีกข้อตกลงที่ทำกับจีนทิ้งโดยไม่ให้เหตุผล”

แต่พอมีกระแสรัฐบาลจะ“เปิดทางต่างชาติ ร่วมวงไฮสปีดเทรน ก.ย.-ต.ค.นี้” กลบกระแสที่รัฐบาลบอกว่า จะลงทุนทำรถไฟความเร็วสูงเอง แถมนักลงทุนสหรัฐก็สนใจ บวกกับเจ้าเดิมที่รัฐบาลไปเจรจา เช่น ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น

ภาพเลยออกมาเป็นว่า “ไม่เอาจีน แต่จะเอาสหรัฐ” เพื่อใคร!!

อีกด้านเรื่องเดียวกัน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ส.ส.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ไปขายฝันให้กับคนโคราชช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่เขาประกาศอย่างหนักแน่นว่า แผนลงทุนพัฒนาโครงการระบบขนส่งและการคมนาคมของประเทศ จะประกอบด้วย

โครงการลงทุนก่อสร้างระบบราง “รถไฟความเร็วสูง” ที่มีความเร็ว 250 กม./ชม. “รถไฟรางคู่”ความเร็ว 120 กม./ชม. เป็นการก่อสร้างระบบราง ประมาณ 65% แถมยังอ้างว่า รัฐบาลจะก่อสร้างตั้งแต่จากกรุงเทพฯ ไปยัง จ.หนองคาย แม้ในร่างพ.ร.บ.จะระบุอย่างชัดเจนแค่ “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา”

“ผ่าน กรุงเทพ-พระนครศรีอยุธยา-สระบุรี-นครราชสีมา เข้าไปยังอีสานเหนือ ขอนแก่น อีกสายไปยังภาคอีสานตอนล่าง จ.บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี”

“พี่น้องประชาชน จะมีทางเลือกได้ คนไหนที่จะเดินทางแบบไม่ต้องรีบเดินทางด้วยรถไฟรางคู่ความเร็ว 110-120 กม./ชม. คนไหนที่รีบจะไปกรุงเทพฯ เดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง ฉะนั้นสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ สิ่งแรกคือเรื่องการตรงต่อเวลา เมื่อรถไฟความเร็วสูงจอดสถานีแค่ 2-3 นาที ถ้าไม่รีบขึ้นจะปิดประตูอัตโนมัตินั้น จะสอนให้คนตรงต่อเวลา ซึ่งตรงนี้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนและจะสอนให้คนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะจะไปยืนแบบขึ้นตรงไหนไม่ได้แล้ว จะต้องยืนตามคิว เพราะจะมีช่อง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้กำลังจะเป็นการเปลี่ยนแปลงให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ส.ส.ผู้นี้บอกกับคนโคราชแบบนี้! แถมเขายังเล่าเรื่องของโครงการก่อสร้างถนนที่อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง ทั้งสองโครงการ ด้วยงบประมาณประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท เช่น ทางหลวงมอเตอร์เวย์สาย บางปะอิน-นครราชสีมา, ถนนสายโชคชัย-เดชอุดม 4 ช่องทางจราจร

“ในส่วนกรมทางหลวงชนบท อะไรที่เป็นถนนเข้าสู่แหล่งเกษตรกรรม แหล่งการท่องเที่ยว แหล่งนิคมอุตสาหกรรม เราจะทำแบบยกระดับมาตรฐานให้มีคุณภาพขึ้น”.

เขาย้ำสุดท้ายกับคนโคราช ว่า “7 ปีแล้วเสร็จแน่” อะไรเสร็จไม่รู้

“สร้างไม่เสร็จ แบบโฮปเวล์ในกรุงเทพฯ หรือสร้างเสร็จไม่ต่ำกว่า 7 ปี

เชื่อว่าคนโคราชส่วนใหญ่คงคิดเช่นนั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น