“คมนาคม” เดินหน้าตั้ง “กรมการขนส่งทางราง” แยกส่วน ร.ฟ.ท.เหลือแค่เดินรถ ส่วนงานก่อสร้างซ่อมบำรุง ให้กรมฯ ใหม่ดูแล “วิเชียร” เผยเพื่อแก้ปัญหาขาดทุนและหนี้สะสมของ ร.ฟ.ท. รวมถึงรองรับการก่อสร้างโครงการใน พ.ร.บ.2 ล้านล้านด้วย คาดงบปี 58 เริ่มทำงานได้
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการและจัดตั้งส่วนราชการระดับกรม และ/หรือองค์กรอื่นที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาระบบการขนส่งและการเดินทางทางราง ได้พิจารณาโครงสร้างของกรมการขนส่งทางรางซึ่งจะจัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้กระทรวงคมนาคม มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และจะเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมารองรับการดำเนินงานโครงการของ ร.ฟ.ท.ที่บรรจุอยู่ในพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ..... (พ.ร.บ.กู้เงิน) จำนวน 2 ล้านล้านบาท ที่จะมีผลบังคับใช้ใน 1-2 เดือนนี้
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ทำหน้าที่ทั้งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานซ่อมบำรุง เดินรถให้บริการ (Operator) แต่เมื่อจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางขึ้น ร.ฟ.ท.จะเหลือหน้าที่เดินรถให้บริการ ส่วนกรมการขนส่งทางรางจะดูแลรับผิดชอบงานโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการกับดูแล (Regutor) มาตรฐานด้านความปลอดภัยและด้านการออกใบอนุญาตต่างๆ เพราะในอนาคตจะมีผู้ประกอบการเดินรถเพิ่มนอกจาก ร.ฟ.ท.โดยกรมฯจะเป็นหน่วยงานราชการใหม่ ในลักษณะเดียวกับกรมทางหลวง โดยจะสรุปโครงสร้างเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการฯ ชุดใหญ่ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ภายในเดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนจะเสนอโครงสร้างให้ ก.พ.ร.พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะเสนอต่อรัฐสภาเพื่อออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คาดว่าการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางจะแล้วเสร็จเริ่มดำเนินงาน ซึ่งจะมีการขออัตรากำลัง ตามภารกิจ และงบประมาณ ได้ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งอาจจะไม่ทันกับการเริ่มประกวดราคาโครงการต่างๆ ใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ดังนั้น ในช่วงแรก ร.ฟ.ท.ยังจะต้องทำหน้าที่ไปก่อน
“แนวทางนี้เป็นการปฏิรูปการบริหารการขนส่งทางรถไฟ และแก้ปัญหาขาดทุนและหนี้สินสะสมของ ร.ฟ.ท.ที่ดีที่สุด เพราะจะหยุดการเป็นหนี้ให้ ร.ฟ.ท. เพราะใน 7 ปีตาม พ.ร.บ. กูเงิน 2 ล้านล้านหากเป็นรูปแบบเดิม ร.ฟ.ท.จะมีหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาท แต่การตั้งกรมฯใหม่ขึ้นมาจะช่วยรับภาระแทน และทำให้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่มีความรวดเร็วด้วย โดยกรมฯรับภาระการก่อสร้างแทน ส่วน ร.ฟ.ท.จะลงทุนหรือเป็นหนี้ได้ในส่วนที่ทำให้เกิดรายได้เช่น ซื้อหัวรถจักร เป็นต้น”
สำหรับที่ดินยังคงเป็นของ ร.ฟ.ท. ส่วนกรมฯ จะเข้ามาก่อสร้างในที่ดินรถไฟได้ไม่มีปัญหาเพราะเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเหมือนกัน สามารถตกลงกันได้ เช่น ใช้ที่ดินโดยแลกกับภาระหนี้สินของ ร.ฟ.ท. ส่วนงานด้านซ่อมบำรุงนั้น กรมฯ จะว่าจ้างพนักงาน ร.ฟ.ท.ในส่วนที่มีหน้าที่โครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันทำให้ ซึ่งจะทำให้การตั้งกรมฯ ใหม่ไม่กระทบต่อพนักงานของ ร.ฟ.ท.และยังทำให้ ร.ฟ.ท.มีรายได้เพิ่มอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเป็นการแก้ปัญหา ร.ฟ.ท.ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ นั้น ยังให้ รฟม.ดำเนินการเหมือนเดิมไปก่อน หลังจากตั้งกรมฯ ใหม่เรียบร้อยจึงจะมาพิจารณาเพิ่มเติม