ร.ฟ.ท.จัดหนักเปิดประมูลปี 56 กว่าแสนล้าน เทกระจาดรถไฟทางคู่รวดเดียว 5 เส้นทาง 1.แสนล้าน และส่วนต่อขยายสายสีแดงถึง ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต 5.4 พันล้าน ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์เชื่อม 2 สนามบิน 2.8 หมื่นล้าน ส่วนหัวรถจักรใหม่ส่วมอบครบในปี 58 เผยเงินกู้ 2 ล้านล้านช่วยดันทุกโครงการเดินหน้า
นายประจักษ์ มโนธัม รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ด้านหน่วยธุรกิจเดินรถ เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ (2556-2563) จะเป็นการลงทุนในโครงการของ ร.ฟ.ท.จำนวน 1,272,669.77 ล้านบาท โดยมีโครงการตามแผนลงทุนเพื่อปรับปรุงรถไฟระยะเร่งด่วน 176,808 ล้านบาทในส่วนที่ยังไม่ได้รับงบประมาณจำนวน 9 โครงการ วงเงิน 134,176.60 ล้านบาท รวมอยู่ด้วยนอกจากโครงการรถไฟสายใหม่ และรถไฟความเร็วสูง
โดยโครงการที่จะเปิดประกวดราคาได้ภายในสิ้นปี 2556 คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ระยะทาง 799 กิโลเมตร วงเงิน 105,149.7 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 16,215.10 ล้านบาท 2. สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 21,196.07 ล้านบาท 3. สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 183 กิโลเมตร วงเงิน 29,221.28 ล้านบาท 4. นครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 20,833.43 ล้านบาท 5. สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 37,683.82 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 10 กิโลเมตร วงเงิน 5,412.72 ล้านบาท คาดว่าจะสรุปแบบขั้นสุดท้ายในเดือนมีนาคมนี้, โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิงก์) ส่วนต่อขยายช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 22 กิโลเมตร วงเงิน 28,574.01 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพรถไฟที่มีการประกวดราคาไปแล้ว คือ การจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ขนาด 20 ตัน/เพลา 20 คัน วงเงิน 1,916.6 ล้านบาท คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนการจัดหารถโดยสาร 115 คัน วงเงิน 4,981 ล้านบาท คาดว่าจะขายเอกสารประกวดราคาได้ในเดือนเมษายนและเปิดประกวดราคาในเดือนพฤษภาคม ส่วนการซ่อมบูรณะรถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตอม 56 คัน วงเงิน 3,360 ล้านบาท อยู่ระหว่างการประเมินความคุ้มทุนระหว่างการปรับปรุงกับจัดซื้อใหม่ตามนโยบาย รมว.คมนาคมก่อนเปิดประกวดราคา
“การจัดหารถจักรจะใช้ 1.5-2 ปี หลังเซ็นสัญญา คาดว่าจะส่งมอบครบภายในปี 58 ส่วนรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางจะแล้วเสร็จในปี 59-60 และส่วนต่อทางคู่ทั่วประเทศ รถไฟความเร็วสูงจะเสร็จในปี 62-63 ตามเป้าหมายของ พ.ร.บ.2 ล้านล้านบาทถือว่าภาพรวมไม่ล่าช้าจากแผน ส่วนการปรับปรุงทางและสะพานตอนนี้งานล่าช้ากว่าแผนประมาณ 1 ปี เพราะมีปัญหาผู้รับเหมาก่อส้างสะพานทางรถไฟมีน้อย ซึ่งจะปรับให้ผู้รับเหมาสะพานของกรมทางหลวง (ทล.) สามารถเข้าร่วมประมูลได้เพื่อเร่งรัดการก่อสร้าง โดยหลังจากแล้วเสร็จทัั้งหมด รถไฟจะมีความปลอดภัยและตรงต่อเวลามากขึ้น” นายประจักษ์กล่าว