บอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบเปิดประมูลสัมปทานไอซีดีลาดกระบังตามแบบเดิม “สร้อยทิพย์” เผยทั้ง สศช.-สำนักงบฯ ไม่เห็นด้วย ยอมรับเสียเวลา 2 ปีหลังสัมปทานเดิมหมดอายุ เหตุ ร.ฟ.ท.เสนอขอทำเอง “ประภัสร์” คาดชง ครม.เดินหน้าตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เปิดประมูลได้ปลายปี 56 เน้นอัตราค่าบริการที่เหมาะสมมากกว่าประโยชน์ของรัฐ
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการบริหารจัดการสถานีแยกและบรรจุสินค้ากล่อง หรือไอซีดี ลาดกระบัง โดยการให้สัมปทานตามเดิม หลังจากก่อนหน้านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ ไม่เห็นด้วยต่อแนวทางที่ ร.ฟ.ท.จะบริหารไอซีดีลาดกระบังเอง โดยหลังจากนี้จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ที่จะมีการตั้งคณะกรรมการมาตรา 13 เพื่อกำหนดทีโออาร์ประกวดราคาต่อไป
“สภาพัฒน์ และสำนักงบฯ ไม่เห็นด้วยต่อแนวทางที่ ร.ฟ.ท.ทำเอง ซึ่งบอร์ดเห็นด้วยที่จะให้สัมปทานตามเดิม ปัจจุบันไอซีดีลาดกระบังมีสภาพทรุดโทรดมาก เอกชนที่ดำเนินการอยู่ไม่กล้าลงทุนปรับปรุงเพราะต่อสัญญากันแบบชั่วคราว เรื่องนี้ล่าช้ามา 2 ปีแล้ว บอร์ดตัดสินใจเพื่อให้โครงการเดินหน้าและสอดคล้องกับการลงทุนปรับปรุงรถไฟที่จะมีการจัดหาหัวรถจักร แคร่สินค้าเพิ่ม รวมถึงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ด้วย” นางสร้อยทิพย์กล่าว
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า หลังจากนี้จะเสนอ ครม.เห็นชอบและตั้งคณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ขึ้นมากำหนดรายละเอียดของทีโออาร์ได้ประมาณเดือนกันยายน โดยให้เวลาในการทำข้อเสนอประมาณ 3 เดือน คาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้ประมาณสิ้นปี 2556 ซึ่งการให้สัมปทานเหมือนเดิมเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด โดยหลังจากนี้จะเจรจากับผู้ประกอบการเดิมทั้ง 6 รายให้ทราบแนวทาง และ ร.ฟ.ท.จะทำสัญญาบริหารจัดการไอซีดีแบบชั่วคราวไปก่อน ส่วนปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ชำรุดนั้น ร.ฟ.ท.จะเข้าไปดำเนินการปรับปรุงทั้งถนนและรั้ว เป็นต้น
สำหรับไอซีดีลาดกระบัง มีพื้นที่ 647 ไร่ มีผู้ประกอบการตามสัญญาสัมปทานเดิม 6 ราย คือ 1. บริษัท สยามชอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด (SSS) 2. บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO) 3. บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด (ECTT) 4. บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด (TIFFA) 5. บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด (THL) และ 6. บริษัท เอ็น.วาย.เค. ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (NICD) สัญญาสิ้นสุดวันที่ 5 มี.ค. 2554
โดยก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ได้จ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นที่ปรึกษา และระบุว่า หากบริหารเองจะมีกำไรมากกว่าการให้สัมปทานเอกชน โดยจะมีรายได้ถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ให้สัมปทานอายุ 15 ปี จะมีรายได้จากค่าเช่าประมาณ 7,800 ล้านบาท แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าควรให้สัมปทานจนนโยบายของกระทรวงคมนาคมล่าสุดเห็นด้วยกับแนวทางสัมปทานเหมือนเดิม โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าบริการที่เหมาะสมมากกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐจะได้รับเพื่อผลักดันให้เกิดการขนส่งทางรางมากขึ้น จึงทำให้โครงการเดินหน้าได้ เท่ากับเสียเวลาไป 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเดิมทั้ง 6 ราย จะบริหารไอซีดีแบบเดิม โดย ร.ฟ.ท.คิดค่าเช่าโดยใช้อัตราสุดท้ายที่กำหนดในสัญญาสัมปทานเดิมไปก่อน และทั้ง 6 รายมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลเช่นกัน