xs
xsm
sm
md
lg

“ประเสริฐ” หนุนลงทุนศูนย์ขนส่งทางราง ลดสัดส่วนรถบรรทุกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอกชนจี้ “กทท.” เร่งโครงการศูนย์ขนส่งทางรางของแหลมฉบัง หวั่นปัญหาคอขวดรอยต่อรถไฟทางคู่ไอซีดี-แหลมฉบัง เผยปริมาณตู้สินค้าไอซีดีไปท่าเรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้าน “ประเสริฐ” เผยพร้อมชง ครม.ขออนุมัติงบ 2 พันล้าน เร่งก่อสร้างในปีนี้ ลดสัดส่วนขนส่งทางถนนที่มีปัญหาแออัดมาก

ร.อ.สุทธินันท์ หัตถาวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator) ว่าได้ส่งเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติแล้วโดยตั้งเป้าว่าจะดำเนินโครงการภายในปี 2556 นี้ เพื่อก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เข้าไปในท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 2,020 ล้านบาท เนื่องจากการขนส่งทางรถไฟจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้มากกว่าทางถนน

“แม้ขณะนี้ทางรถไฟในช่วง 3 กิโลเมตรจะยังเป็นทางเดี่ยวอยู่ แต่ยังไม่มีปัญหาเรื่องคอขวดหรือแออัดมากนัก เพราะปริมาณการขนส่งทางรถไฟจากไอซีดีลาดกระบังมายังท่าเรือแหลมฉบังยังไม่ถึง 1 ล้านทีอียูต่อปี ส่วนปัญหาการจราจรติดขัดทั้งถนนเข้า-ออกท่าเรือ หน้าประตูตรวจสอบสินค้า ภายในเขนรั้วศุลกากร โดยเฉพาะวันพุธ-เสาร์ เนื่องจากเรือแม่จะเข้าเทียบท่าเป็นจำนวนมาก ทำให้มีรถขนส่งสินค้ามากไปด้วย โดยเฉลี่ยมีรถบรรทุกเข้าออกประมาณ 5 แสนคันต่อเดือนหรือ 1.4 หมื่นคันต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นแบบเร่งด่วน เช่น เพิ่มประตูตรวจสอบ, จัดพื้นที่สำรองตู้สินค้า ปรับปรุงพิธีการด้านศุลกากรให้รวดเร็วขึ้น และจะเริ่มนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งระบบสามารถติดตามรถบรรทุกตั้งแต่ก่อนเข้ามาในเขตท่าเรือเพื่อจัดเตรียมประตูทางเข้า ช่องบริการ กำหนดลานจอด สิ่งอำนวยความสะดวกให้สอดคล้อง ไม่ต้องรอคิวเหมือนที่ผ่านมา” ร.อ.สุทธินันท์กล่าว

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า จะเร่งเสนอ ครม.พิจารณาโครงการศูนย์ขนส่งทางรางของแหลมฉบัง เพราะจะช่วยลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ลงได้มาก

ด้านนายสุวิทย์ พีระแพทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด ผู้รับสัมปทานบริหารสถานีขนส่งสินค้า สถานีรถไฟบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) กล่าวว่า ช่วงแรกที่เปิดไอซีดีลาดกระบัง มีปริมาณตู้สินค้ารวม 6 แสนทีอียูต่อปี โดยขนส่งทางรถไฟมาท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 1.8 แสนทีอียูต่อปี ที่เหลือขนส่งทางถนน ปัจจุบันสินค้ารวมที่ไอซีดีเพิ่มเป็น 1.5 ล้านทีอียูต่อปีขนส่งทางรถไฟเพิ่มเป็น 4 แสนทีอียูต่อปี จึงอยากให้กทท.เร่งรัดขยายทางรถไฟจากสถานีแหลมฉบังเข้าไปยังท่าเรือ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคอขวดและให้สอดคล้องกับรถไฟทางคู่ของ ร.ฟ.ท. ช่วงลาดกระบัง-แหลมฉบังที่เสร็จแล้ว โดยผู้ประกอบการกังวลว่า หากปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้นจะเกิดความแออัดเพราะการบริหารจัดการตู้สินค้าเข้าท่าเรือมีข้อจำกัด

สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง กทท.ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท เซ้าท์อีสท์เอเซียเทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์โครงการและออกแบบรายละเอียดสำหรับก่อสร้างโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง วงเงิน 28,424,000 บาท โดยจะมีการก่อสร้างลานขนถ่ายตู้สินค้าในพื้นที่ Zone 4 จำนวน 600 ไร่ ติดตั้งรางรถไฟลักษณะพวงราง 6 ราง รองรับขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าขบวนละ 34 แคร่ และเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนรางคร่อมรางรถไฟทั้ง 6 รางพร้อมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น