xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจี้ ร.ฟ.ท.ปรับปรุงไอซีดีลาดกระบัง “ชัชชาติ” สั่งเพิ่มประสิทธิภาพชะลอแห่งที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชัชชาติ” จี้ ร.ฟ.ท.ปรับปรุงสภาพไอซีดีลาดกระบังหลังเอกชนชี้สุดโทรม ยันเหลือพื้นที่รับตู้สินค้าได้ถึง 1.7 ล้านตู้ จากปัจจุบัน 1.3 ล้านตู้แต่ต้องปรับการบริหารจัดการใหม่ เผยนโยบายเน้นแข่งขันบริการ คาด 6 เดือนได้ข้อสรุปประมูลหาผู้ประกอบการใหม่ ไอซีดี 2 ไม่เร่ง เล็งขยายพื้นที่เดิมมากกว่าก่อสร้างแห่งใหม่  

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำแผนการบริหารและปรับปรุงสถานีแยกและบรรจุสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง ใน 2 ส่วน คือ แผนลงทุนระยะยาวเพื่อปรับปรุงพื้นที่ และแผน service-level agreement (SLA) เพื่อเป็นข้อพันธกิจให้ผู้ประกอบการ เช่น เมื่อเกิดปัญหา ร.ฟ.ท.จะแก้ไขได้ภายในเวลาเท่าไรซึ่งจะใช้เป็นตัวกำหนดคุณภาพการให้บริการได้ด้วย ส่วนกรณีที่ ร.ฟ.ท.มีแนวคิดจะทำเองหรือลดจำนวนผู้ประกอบการลงหลังจากสัญญาสัมปทานของผู้ประกอบการ 6 รายหมดอายุแล้วนั้น ส่วนตัวเห็นว่า 17 ปีที่ผ่านมาทั้ง 6 รายให้บริการโดยไม่มีปัญหาร้องเรียน แต่เนื่องจากมูลค่าโครงการในปัจจุบันเกิน 1,000 ล้านบาทต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535  

ซึ่งนโยบายต้องการเน้นให้เกิดการแข่งขันมีผู้ประกอบการหลายรายจะทำให้มีการเปรียบเทียบราคาและการให้บริการ ดังนั้นจะต้องมีการเปิดประมูลใหม่ โดยรัฐจะต้องไม่เสียเปรียบหรือได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม โดยให้ ร.ฟ.ท.เร่งสรุปเพื่อเสนอไปยังกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ได้

“เมื่อวันที่ 25 มกราคมผมได้หารือกับผู้ประกอบการทั้ง 6 รายแล้ว ซึ่งเอกชนขอให้ ร.ฟ.ท.ปรับปรุงสภาพพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่น, รั้วชำรุด, ถนนทรุด ผมเห็นว่าต้องเร่งแก้ปัญหาเพราะปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าที่ไอซีดีลาดกระบังเหลือ 1.3 ล้านทีอียูต่อปีจากเมื่อ 4 ปีก่อนที่มีถึง 1.7 ล้านทีอียูต่อปีและใช้รถไฟขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพียง 4 แสนทีอียูเท่านั้น ในขณะที่ปริมาณตู้สินค้าผ่านแหลมฉบังมีการเติบโตมากขึ้นเป็น 6 ล้านทีอียูต่อปี”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความเห็นว่าไอซีดีลาดกระบังในปัจจุบันยังมีขีดความสามารถเพียงพอในการให้บริการ เพียงแต่ต้องปรับปรุงคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ และเพิ่มพื้นที่ลานสำหรับตู้เปล่าเนื่องจากก่อนหน้านี้เคยรองรับได้ถึง 1.7 ล้านทีอียูต่อปี โดยขอให้ ร.ฟ.ท.ทำสัญญากับผู้ประกอบการ 6 ราย ซึ่งได้ให้ผู้ประกอบการทำรายละเอียดความต้องการเสนอมาให้ภายใน 2 สัปดาห์ 

ส่วนการขยายหรือสร้างไอซีดีแห่งที่ 2 นั้น นายชัชชาติกล่าวว่า เบื้องต้นมี 3 แนวทาง คือ ขยายพื้นที่เดิมโดยเวนคืนที่ดินเพิ่ม, ก่อสร้างห่างจากจุดเดิมประมาณ 5 กิโลเมตร และก่อสร้างที่แก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยเห็นว่าการขยายพื้นที่เดิมมีความเหมาะสมที่สุด โดยจะทำให้มีต้นทุนการขนส่งที่ประหยัดกว่า (Economy of Scale) ไม่ต้องเพิ่มเส้นทางรถไฟและบุคลากรแต่จะต้องแก้ปัญหาในเรื่องคอขวดถนนเข้าออก เช่น มอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง ซึ่งให้ ร.ฟ.ท.ประเมินปริมาณรถบรรทุกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพื่อให้กรมทางหลวง (ทล.) ขยายถนนรองรับได้อย่างถูกต้อง 

“เรื่องขยายไอซีดีไม่เร่งมาก มีเวลาประเมินดูข้อดี-ข้อเสีย ส่วนที่แก่งคอยจะต้องดำเนินการแต่จะมีขนาดไม่ใหญ่มากเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะพัฒนาไอซีดี ลาดกระบังควบคู่กับที่ไอซีดีแก่งคอย ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเพิ่มปริมาณตู้สินค้าผ่านไอซีดีและใช้รถไฟขนส่งไปยังแหลมฉบังได้” รมว.คมนาคมกล่าว

สำหรับไอซีดีลาดกระบังมีพื้นที่ 647 ไร่ มีผู้ประกอบการตามสัญญาสัมปทาน 6 ราย คือ 1. บริษัท สยามชอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด (SSS) 2. บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (ESCO) 3. บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด (ECTT) 4. บริษัท ทิฟฟ่า ไอซีดี จำกัด (TIFFA) 5. บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด (THL) และ 6. บริษัท เอ็น.วาย.เค. ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (NICD) สัญญาสิ้นสุดวันที่ 5 มี.ค. 2554
กำลังโหลดความคิดเห็น