xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คมนาคม ควง 2 รมช.ลงดูปัญหาจราจรจุดวิกฤตแหลมฉบัง-ศรีราชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - รมว.คมนาคม ควง 2 รมช.ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ดูปัญหาด้านการขนส่งทั้งระบบราง และถนนจุดตัดที่มีปัญหาด้านการจราจรอย่างหนัก พร้อมรับปากจะนำแผนจัดทำสะพานข้ามแยกบริเวณท่าเรือสยามซีพอร์ท และจัดทำโครงข่ายทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ทางเข้าท่าเรือแหลมฉบัง ลดปัญหาด้านการจราจรที่เข้าขั้นวิกฤตเข้าหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อผลักดันงบประมาณ หากเป็นจริงพร้อมดำเนินการได้ปลายปี 2558 ด้านประชาชนฝากความหวังไม่เป็นเพียงแค่ลมปาก

วันนี้ (24 ม.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต และนายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้เดินทางโดยรถไฟถึงลานขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟฝั่ง B เพื่อดูงานการขนถ่ายตู้สินค้าทางรถไฟของท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ก่อนเดินทางด้วยรถยนต์เพื่อตรวจสอบบริเวณแยกทางเข้าท่าเรือสยามซีพอร์ท (ถนนสุขุมวิท กม.123+350) เพื่อรับทราบข้อมูลหลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการท่าเรือ เกี่ยวกับปัญหาการจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน จนส่งผลต่อการประกอบธุรกิจขนถ่ายตู้สินค้า และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งเฉพาะแยกดังกล่าวมีรถยนต์ผ่านเส้นทางเฉลี่ยต่อวันไม่น้อยกว่า 1.7 พันคัน ทำให้ผู้ประกอบการ และชาวบ้านเสนอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำสะพานข้ามแยกลดความแออัดด้านการจราจร

โดยได้เสนอรูปแบบการจัดทำสะพานข้ามแยกเป็น 2 ลักษณะ คือ สะพานข้ามแยกที่มีเส้นทางจราจร 4 เลน และ 6 เลน ภายใต้งบประมาณดำเนินการรวม 250 ล้านบาท ซึ่งการนำเสนอของผู้ประกอบการ และชาวบ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับปากที่จะนำปัญหาดังกล่าวเข้าพิจารณาเพื่อหาแนวทางดำเนินการ และเสนอของบประมาณต่อไป เช่นเดียวกับการจัดทำโครงข่ายทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กม.5+000) ทางเข้าท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อลดปัญหาแออัดด้านการจราจรเช่นกัน

ทั้งนี้ นายเกล็ดชัย เบญจอาธรศิริกุล กรรมการบริหาร บริษัท เคอร์รี่ โลจิสติก (ประเทศไทย) จำกัด ได้ฝากความหวังถึงการลงพื้นที่ดูปัญหาด้านการจราจรบริเวณแยกทางเข้าท่าเรือสยามซีพอร์ท อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะในครั้งนี้ว่า หากปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดทำสะพานข้ามแยกเพื่อกระจายรถยนต์ และรถขนส่งสินค้าออกสู่เส้นทางมอเตอร์เวย์ให้ได้โดยเร็ว ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งภาคการส่งออกขยายตัวมากยิ่งขึ้น

ซึ่งปัญหาด้านการจราจรที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถือเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 8% ต่อปี และหากรัฐบาลยังคงล้าช้าในการแก้ไขปัญหาก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาภาคการขนส่งของไทย

เช่นเดียวกับ นายดวงดี มณีรัตน์ ตัวแทนชาวบ้านอ่าวอุดม ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจราจร และการระบายรถคอนเทนเนอร์ออกจากท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าต่างๆ ที่กล่าวว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวบ้านอ่าวอุดม เป็นไปอย่างยากลำบากจากการจราจรที่ติดขัดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้องเผื่อเวลาในการเดินทางไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง จึงรวมตัวกันมาร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเร่งรัดให้เกิดการจัดทำสะพานข้ามแยกโดยเร็ว

ทั้งนี้ หลังจากคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางตรวจสอบปัญหาการจราจรโดยเฉพาะในจุดหลักที่มีผลต่อการขนส่งสินค้าในพื้นที่แล้ว ได้เดินทางต่อไปยังศูนย์สวัสดิการท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรับฟังปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบขนส่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และภาคตะวันออก

ซึ่ง พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เผยว่า การเดินทางลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง และดูปัญหาด้านการจราจรในเขตเศรษฐกิจของจังหวัดชลบุรีในครั้งนี้ก็เพื่อรับทราบข้อมูลด้านการจราจรเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยได้มอบหมายให้ท่าเรือแหลมฉบัง เร่งจัดทำแผนรองรับด้านการปฏิบัติเพื่อให้ทันกับการจัดทำโครงข่ายด้านการจราจร และการพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ที่รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำหรับดำเนินการไว้แล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมใน 21 นิคมอุตสาหกรรม 11 เขตประกอบการที่มีอยู่ในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดโดยรอบ ที่กำลังสร้างปัญหาด้านการจราจร และการขนส่ง

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งกรมทางหลวงชนบท กรมทางหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า และท่าเรือแหลมฉบัง ได้จัดทำแผนรองรับการแก้ไขปัญหาด้านการจราจร และระบบขนส่งไว้แล้ว และคาดว่าในช่วงปลายปี 2558-2559 แผนงานต่างๆ จะถูกพัฒนาให้เป็นจริง

เพียงแต่ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่จะต้องอดใจรอ เนื่องจากการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ต้องเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ที่สำคัญ การแก้ไขปัญหาด้านการจราจรในพื้นที่โดยรอบเขตท่าเรือแหลมฉบังในครั้งนี้ ก็เพราะมุ่งหวังให้ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นจุดรองรับการหลั่งไหลของการขนถ่ายสินค้าทางน้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต





กำลังโหลดความคิดเห็น