“ชัชชาติ” สั่ง สนข.ทำรายละเอียดโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เร่งทำความเข้าใจคลังขั้นตอนเบิกจ่ายก่อนเข้า ครม.ม.ค.นี้ พร้อมเร่งทุกหน่วยสางปัญหาโครงการล่าช้า จี้ กทท.แก้คอขวดทางเข้าออกแหลมฉบัง เหตุถูกผู้ประกอบการร้องเรียนหนัก ยันค่าแรง 300 บาทไม่กระทบต้นทุนงานก่อสร้าง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม วานนี้ (7 ม.ค.) ว่า ได้ให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินโครงการที่ล่าช้าและแก้ปัญหาการให้บริการ เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี) และเจรจากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ในการบริหารสัญญาเดินรถส่วนเชื่อมต่อระหว่างสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน กับสถานีเตาปูนของสายสีม่วง ระยะทาง 1 กิโลเมตร
การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต้องเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง) โครงการรถไฟทางคู่ (ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย) และรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ส่วนกรมทางหลวง (ทล.) เร่งโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ให้เร่งดำเนินโครงการยกระดับถนนเพื่อเป็นคันกั้นน้ำให้เป็นไปตามแผนงาน
ส่วนการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ต้องเร่งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณทางเข้าออกของท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เนื่องจากด่านชั่งน้ำหนักและด่านเก็บเงินเป็นคอขวด และได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการและหอการค้า พร้อมกันนี้จะต้องเร่งสรุปรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับโครงการท่าเทียบเรือปากบารา จ.สตูล ว่าจะเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ หรือท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ เพราะตามแผนท่าเรือน้ำลึกถูกต่อต้านมาก ส่วนกรมเจ้าท่า (จท.) ให้ตรวจสอบโครงการขุดลอก 26 โครงการ วงเงิน 1,215 ล้านบาทที่ถูกอภิปรายไม่วางไว้ใจและแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นอีก
ด้านการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นอกจากปรับปรุงปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง โดยส่งเสริมให้มีการใช้บัตรผ่านทางอัตโนมัติ (Easy Pass) แล้วจะต้องเร่งโครงการก่อสร้างทางพิเศษขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N1 N2 และ N3 โดยเฉพาะช่วงที่มีเสาตอม่อแล้วให้ดำเนินการก่อสร้างก่อน โดยไม่ต้องรอส่วนที่ติดปัญหาเวนคืน เช่น บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาจราจรระหว่างจังหวัดนนทบุรี เขตบึงกุ่ม และเขตบางกะปิ
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดแผนรายละเอียดการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดทำ พ.ร.บ.เงินกู้โครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมกราคมนี้ โดยต้องหารือเพื่อทำความเข้าใจในการเบิกจ่ายเงินกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด เช่น กรณีวงเงินประมูลเกินราคากลางจะทำอย่างไร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้น ได้ตรวจสอบพบว่ามีผลกระทบต่อการก่อสร้างงานทางของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6% ซึ่งถือว่าไม่มาก ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้านั้นจะใช้เครื่องจักรเป็นหลักและค่าแรงเกิน 300 บาทอยู่แล้ว แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแต่ละโครงการต้องทำแผนและตารางการก่อสร้างที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้รับเหมาเตรียมความพร้อมล่วงหน้า