“รมว.คมนาคม” มอบนโยบายกระตุ้นปรับตัวรับเปิด AEC สั่ง ร.ฟ.ท.ตรึงค่าโดยสารจนกว่าจะปรับปรุงคุณภาพบริการให้ดีขึ้น ชี้ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เตรียมเข็นซื้อรถเมล์เอ็นจีวีเข้าครม.ใน 2 สัปดาห์ และแก้ปัญหารถไฟสีแดงให้จบใน 1 เดือน ติงกรมเจ้าท่าเร่งแก้ภาพไม่โปร่งใส ส่อถูกอภิปราย เตรียมถก ทอท.เร่งแผนสุวรรณภูมิเฟส 3, 4 รับนักท่องเที่ยวเพิ่ม
วันนี้ (5 พ.ย.) เวลา 10.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยนายชัชชาติเปิดเผยว่าจะเร่งเดินหน้าทุกโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า 10 สาย ค่าโดยสาร 20 บาท ระบบตั๋วร่วม รถไฟทางคู่ ปรับปรุงราง ขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 โดยทุกหน่วยงานจะต้องทำความเข้าใจเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ ให้ทันการเปิดเสรีอาเซียน (AEC)
ทั้งนี้ โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คันจะเป็นโครงการแรกที่เห็นเป็นรูปธรรมโดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ และภายใน 1 เดือนจะเร่งปัญหารถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) โดยจะเสนอ ครม.ขอนามสัญญา 1 (สถานีกลางบางซื่อ) กับผู้รับเหมาและสัญญา 3 อาจจะมีการยกเลิกประมูล โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟ โดยจะตรึงให้นานที่สุดจนกว่าจะมีการปรับปรุงบริการและเส้นทางรถไฟให้ดีขึ้นก่อน ส่วนมาตรการรถเมล์ รถไฟฟรี ที่จะหมดอายุในเดือนมีนาคม 2556 นั้น จะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อให้เหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อยให้สามารถใช้บริการได้มากขึ้น ส่วนรถไฟความเร็วสูงนั้นขณะนี้ได้ว่าจ้างที่ปรึกษา 4 เส้นทางแล้ว โดยจะผลักดันให้เปิดประกวดราคาได้ในปี 2556
ขณะที่ภายในสัปดาห์นี้จะเรียกผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.มาหารือถึงแผนขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 พร้อมกับพิจารณาเฟส 3, 4 และรันเวย์ที่ 3ไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะเรื่องการชดเชยผลกระทบทางเสียงในเฟส 1 จะต้องเร่งให้จบเพราะจะทำให้รันเวย์ที่ 3 ล่าช้า และให้ ทอท.เร่งปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอากาศยานดอนเมือง ให้เปิดบริการได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2556 เพื่อให้ทันกับการเติบโตของผู้โดยสาร
“เป้าหมายของนายกฯ จะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 2.2 ล้านล้านบาทภายใน5 ปี สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิจะเป็นประตูหลัก ที่ผ่านมาสุวรรณภูมิผู้โดยสารเติบโตปีละกว่า 10% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย อินเดีย ใน 4 ปีที่ผ่านมาเติบโตกว่า 40% ดังนั้น ทอท.ต้องมีแผนรองรับใน 4-5 ปีนี้เฟส 2 จะเสร็จทันหรือไม่ นอกจากนี้ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงานให้เพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของพนักงาน ทอท.ต่ำมากเมื่อเทียบกับพนักงานของสนามบินสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี”
นายชัชชาติกล่าวว่า การทำงานมีนโยบายหลัก 3 ข้อ คือ โปร่งใส รอบคอบ และยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ากรมเจ้าท่าถือเป็นหน่วยงานที่มีภาพความไม่โปร่งใส มีข้อกังขาในการทำงานมาก และอาจจะถูกฝ่ายค้านอภิปรายด้วย ดังนั้นต้องเร่งแก้ไขจุดนี้ ส่วนกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เน้นการควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างและประเมินการทำงานของผู้รับเหมา ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกเพื่อปรับลดงบซ่อมบำรุงทางลง โดยพบว่าปี 2555 กรมทางหลวงมีงบซ่อมบำรุง 60% มีงบสร้างทางเพียง 35% เท่านั้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะไม่มีเส้นทางใหม่เพิ่ม และไม่เกิดการเชื่อมโยงเส้นทาง (Connectivity) รองรับการเปิดเสรีอาเซียน (AEC) ตามเป้าหมาย
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะต้องเร่งแก้ปัญหารถติดหน้าด่านและหาทางเพิ่มสมาชิกบัตร Easy Pass ให้มากขึ้น เช่นเดียวกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่ต้องแก้ปัญหาคอขวดการให้บริการในท่าเรือโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วย โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ที่มีการส่งออกถึง 52% ของการส่งออกทั้งหมด
สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นั้นถือว่ามีปัญหามากเพราะถูกละเลยมานาน ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแบบ 180 องศา รวมถึงการเร่งปรับโครงสร้าง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (แอร์พอร์ตลิงก์) เพื่อให้การบริหารคล่องตัวมากขึ้น ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องหาตัวเองให้พบว่ามีจุดเด่น เก่งตรงไหน เพื่อหาข้อสรุปว่าจะเดินรถไฟฟ้าเองหรือให้สัมปทาน การซื้อรถ และกรณีหารายได้เพิ่มจากการพัฒนาอส้งหาริมทรัพย์ ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ต้องหาทางเพิ่มรายได้ลดขาดทุน เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน (Ebitda) 200 ล้านบาทต่อเดือนให้ได้ ส่วนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องวางตำแหน่งให้ชัดเจนว่าจะแข่งขันกับใคร กรณีมีการบินไทยสมายล์จะมาแข่งขันกันเองหรือไม่ เพราะธุรกิจการบินต้องแข่งขันเพื่ออยู่รอด และพบว่าสนามบินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ร้านค้า ดิวตี้ฟรีมีกำไรแต่การบินไทยกลับขาดทุนทั้งที่ขนนักท่องเที่ยวมาให้
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 19 หน่วยงานต้องทำงานเชื่อมโยงกัน ซึ่งตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปจะประชุมผู้บริหารทุกวันจันทร์แรกของเดือน และจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็นสำคัญของแต่ละหน่วยงานทุกวันศุกร์ เพื่อให้การทำงานเกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานมากขึ้น