xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ทุ่มงบขยายถนนแก้คอขวดทางเข้าแหลมฉบัง ก่อนดันเฟส 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” จัดเวิร์กชอปแก้ปัญหาจราจรท่าเรือแหลมฉบัง “ประเสริฐ” เผย ทล.-ทช.ทุ่มงบขยายมอเตอร์เวย์เชื่อมทางเข้าออกท่าเรือและเชื่อมสู่นิคมอุตสาหกรรม ยอมรับถนนยังเป็นพระเอก ยันแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักของประเทศต้องมีเฟส 3 เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันและรองรับอุตสาหกรรมของประเทศที่ขยายตัวอย่างมาก

วันนี้ (8 ก.พ.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การแก้ปัญหาจราจรและอนาคตของท่าเรือแหลมฉบัง” โดยเปิดเผยว่า ปัญหาจราจรโดยรอบและภายในท่าเรือแหลมฉบังเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยถนนจะเป็นเส้นทางหลัก ซึ่งขณะนี้ทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) อยู่ระหว่างดำเนินการหลายโครงการ เข่น ขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย 7 เพื่อเข้าสู่แหลมฉบัง จาก 4 ช่องจราจรเป็น 14 ช่องจราจร วงเงินลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท ขยายมอเตอร์เวย์จากพัทยา-มาบตาพุด วงเงินลงทุนประมาณ 18,000 ล้านบาท และก่อสร้างทางต่างระดับบางพระคืบหน้าแล้ว 84.5% และทางต่างระดับหนองขามคืบหน้า 29.9% ส่วนแผนระยะยาวจะจัดสรรงบลงทุนใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านเพิ่มเติม

ส่วน ทช.จะปรับปรุงและขยายถนนเพื่อสนับสนุนในเรื่องการเชื่อมเส้นทางจากถนนสายหลักของ ทล. โดยเฉพาะมอเตอร์เวย์สาย 7 และถนนเชื่อมจากจังหวัดระยองไปยังนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในจังหวัดระยองและไปท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะช่วยย่นระยะทางและลดการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนการขนส่งทางรางเพื่อเพิ่มการขนส่งสินค้าโดยทางรถไฟจากไอซีดีลาดกระบังไปยังท่าเรือแหลมฉบังนั้น จะต้องปรับปรุงระบบรางภายในท่าเรือเพื่อรองรับทำให้การขนส่งสินค้าจากเรือไปยังจุดต่างๆ ได้อย่างสะดวก

“แม้จะมีการพัฒนาในฝั่งของท่าเรือทวาย แต่ท่าเรือแหลมฉบังจะเป็นท่าเรือหลักของไทยเพราะมีศักยภาพในด้านเส้นทางลอจิสติกส์ และปริมาณเรือและตู้สินค้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวอย่างมาก เห็นได้จากการส่งออกรถยนต์ทะลุ 2 ล้านคันแล้ว ดังนั้น กระทรวงคมนาคมต้องปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อรองรับปริมาณการจราจรและการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ยืนยันว่าแหลมฉบังต้องพัฒนาต่อไป โดยปัจจุบันมีปริมาณตู้สินค้า 6 ล้านทีอียูต่อปี ขณะที่มีขีดความสามารถรองรับได้ถึง 11 ล้านทีอียูต่อปี ส่วนเฟส 3 ที่ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเพราะเรื่องด่วนตอนนี้คือต้องแก้ปัญหาเส้นทางคมนาคมที่เป็นคอขวดให้เรียบร้อยก่อน รวมถึงต้องปรับปรุงร่องน้ำบริเวณท่าเรือให้รองรับเรือขนาดใหญ่ที่มีขนาดเกิน 1 หมื่นตู้ด้วย” นายประเสริฐกล่าว

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-Modal Transport) ทางบก น้ำ อากาศ และราง จะทำให้ลดต้นทุนการขนส่งของประเทศลงได้ ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าหลักของประเทศ จำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนาเพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขัน และรองรับการขยายตัวทางการค้าในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น และเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งขณะนี้เรื่องด่วนที่ต้องแก้ไขคือ ความแออัดภายในท่าเรือและการติดขัดหน้าท่าเรือ

ร.อ.สุทธินันท์ หัตถาวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า แหลมฉบังมีปัญหาการจราจรติดขัดทั้งถนนเข้า-ออกท่าเรือ หน้าประตูตรวจสอบสินค้า ภายในเขตรั้วศุลกากร โดยเฉพาะวันพุธ-เสาร์ เนื่องจากเรือแม่จะเข้าเทียบท่าเป็นจำนวนมาก ทำให้มีรถขนส่งสินค้ามากไปด้วย โดยเฉลี่ยมีรถบรรทุกเข้าออกประมาณ 500,000 คันต่อเดือน หรือ 14,000 คันต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นแบบเร่งด่วน เช่น เพิ่มประตูตรวจสอบ, จัดพื้นที่สำรองตู้สินค้า ปรับปรุงพิธีการด้านศุลกากรให้รวดเร็วขึ้น และจะเริ่มนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งระบบสามารถติดตามรถบรรทุกตั้งแต่ก่อนเข้ามาในเขตท่าเรือเพื่อจัดเตรียมประตูทางเข้า ช่องบริการ กำหนดลานจอด สิ่งอำนวยความสะดวก ให้สอดคล้อง ไม่ต้องรอคิวเหมือนที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น