กทท.โต้ข่าวพนักงานหยุดบริการ 1 ก.พ. ยันท่าเรือยังให้บริการตามปกติ พร้อมแจงผลประกอบการ 3 เดือนแรก ปี 56 ฟันกำไร 1,437 ล้าน เพิ่มขึ้น 42% ปริมาณตู้สินค้าเติบโตสูง ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นการส่งออกของรัฐบาล
รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) แจ้งว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพนักงานของ กทท.จะหยุดการปฎิบัติงานในวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น ขอยืนยันว่าท่าเรือยังคงให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในวันดังกล่าวตามปกติ ทั้งนี้ กระแสข่าวดังกล่าวเกิดจากกรณีที่สหภาพแรงงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย (สร.กทท.) ได้ออกมาประท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของเรือตรีวิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการ กทท. และเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง หากไม่มีการดำเนินการใดๆ จะมียกระดับการเคลื่อนไหวโดยหยุดทำงานล่วงเวลา (โอที) ซึ่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ตัวแทนของสหภาพฯ กทท.จะเข้าพบนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางออกร่วมกัน
ทั้งนี้ กทท.ได้รายงานผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม-ธันวาคม 2555) ว่า มีกำไรสุทธิ 1,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2555 (ที่มีกำไร 1,014 ล้านบาท) ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า 3 เดือนของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ในภาพรวมอยู่ที่ 0.379 ล้าน ทีอียู เพิ่มขึ้น 48.16% โดยเป็นตู้มีสินค้า 0.361 ล้านทีอียู ซึ่งสูงกว่าปีก่อน โดยเป็นตู้มีสินค้า 0.235 ล้าน ทีอียู 53.61% เป็นอัตราการขยายตัวที่สูง ทั้งนี้เป็นเพราะการหดตัวรุนแรงในช่วงต้นปีงบประมาณ 2555 จากวิกฤตอุทกภัย จึงมีผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักชั่วคราว ซึ่งสอดคล้องกับภาคการส่งออกของประเทศ ที่ฟื้นตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) มีปริมาณตู้สินค้าในภาพรวมผ่านท่า 3 เดือน 1.517 ล้าน ทีอียู เพิ่มขึ้น 6.75% โดยตู้มีสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2555 ที่ 1.103 ล้านทีอียู เป็น 1.214 ล้านทีอียู ในปี 2556
โดยท่าเรือกรุงเทพมีเรือเทียบท่า 847 เที่ยว เพิ่มขึ้น 30.90% สินค้าผ่านท่า 5.330 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 43.56% และตู้สินค้าผ่านท่า (รวมตู้เปล่า) 0.379 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้น 48.16% ท่าเรือแหลมฉบัง มีเรือเทียบท่า 2,538 เที่ยว เพิ่มขึ้น 22.49% สินค้าผ่านท่า 16.747 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.90% และตู้สินค้าผ่านท่า 1.517 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้น 6.75%
ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและเชียงของ มีเรือเทียบท่ารวม 2,278 เที่ยว เพิ่มขึ้น 571.97% สินค้าผ่านท่ารวม 99,730 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น 156.08% และท่าเรือระนอง มีเรือเทียบท่า 46 เที่ยว เพิ่มขึ้น 7% สินค้าผ่านท่า 20,888 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น67.25% และตู้สินค้าผ่าท่า 136 ทีอียู เพิ่มขึ้น 161.54% (รายงานเฉพาะตู้สินค้าที่มีขนาดตั้งแต่ 20 ฟุตขึ้นไป)
สำหรับปริมาณตู้สินค้าในปีงบประมาณ 2556 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในปี 2555 มีการฟื้นตัวจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวของภาคการส่งออกและนำเข้า รวมทั้งการดำเนินนโยบายกระตุ้นการส่งออกของรัฐบาล ถึงแม้ว่าในระยะถัดไปอาจมีปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ จากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลที่มีการประเมินว่า เริ่มส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการชะลอการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการส่งออกและปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปี 2555 ในขณะที่เอเชียจะยังมีความมั่นคงในการขยายตัวมากกว่าปีก่อน คาดว่าภาคการส่งออกจะกลับมามีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยผลจากตัวเลขการขยายตัวในภาพรวมทั้งด้านนำเข้า-ส่งออกดังกล่าว ยังเป็นตัวขับเคลื่อนที่เป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของปริมาณสินค้าผ่านท่าโดยรวมของ กทท.