xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” แจงสภาย้ำรถไฟความเร็วสูงสำคัญต่อชาวบ้าน อ้างถ้าผ่านหลายชาติรุมแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.คมนาคม แจง สนข.ศึกษารถไฟความเร็วสูงแล้ว ย้ำเป็นสิ่งสำคัญ แต่อ้างเชื่อมลาวใช้รถไฟปกติได้ แถมยังไม่ชัดใครจะลงทุนเชื่อมเพื่อนบ้าน บอกลงใต้ไปมาเลย์, สิงคโปร์ แค่คุย แย้มตั้งบริษัทแยกดูระบบ แต่ถ้าผ่านได้ความร่วมมือจากหลายชาติแน่

วันนี้ (28 มี.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 17.00 น.การประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการออกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2 ล้านล้านบาท นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวชี้แจงว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงมีมาแล้วที่ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ในส่วนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ก็มีการศึกษาเบื้องต้นตั้งแต่ปี 52 จากนั้นมีการนำของจีนและญี่ปุ่นมาศึกษารายละเอียด ตัวเลขอีไออาร์ ในเบื้องต้น 14-17% ซึ่งป็นตัวเลขที่พอรับได้ รวมถึงต้องมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ก่อนเข้าสู่คณะรัฐมนตรีต่อไป

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปยังประเทศเพื่อนบ้านต้องชี้แจงว่า การเชื่อมต่อโลกไม่ใช่เชื่อมต่อเฉพาะรถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่างเดียว มีทั้งรถไฟทางคู่ที่จะเชื่อมไปประเทศลาว เป็นต้น แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าฝ่ายไหนจะลงทุน เพราะแผนเดิมที่จีนจะขอช่วยลงทุนเส้นทาง 500 กิโลเมตร ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นต้องเป็นการกู้เงินซึ่งการพัฒนาต่อจึงยังไม่ชัดเจน ส่วนทางตอนใต้ที่จะเชื่อมไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นแค่การคุยกันเบื้องต้นยังไม่ลงรายละเอียด ดังนั้นการเชื่อมโลกถึงเวลาเราเชื่อมต่อแน่ และชี้ให้เห็นว่าเราไม่สามารถนำเงินทั้งหมดไปรวมก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ เพราะมีโครงการอื่นที่จำเป็นด้วยเช่นกันต้องจัดสรรให้เหมาะสมตามช่วงเวลา แต่ก็ยืนยันว่าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นสิ่งสำคัญประชาชนต้องการหาคนติโครงการนั้นยากแต่เราก็ต้องดูรายละเอียดตัวเลขผลตอบแทนที่ชัดเจนดูวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการ ไม่ใช่ว่าแต่สร้างรถไฟที่วิ่งเหมือนสมัยก่อนอยู่แล้ว

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนการบริหารจัดการในการก่อสร้างคงต้องให้การรถไฟเป็นผู้รับผิดชอบในเบื้องต้น เพราะเป็นเจ้าของเขตทางส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาปรึกษาการบริหารจัดการซึ่งอาจจะเป็นหน่วยธุรกิจภายใต้รถไฟและหนุนออกมาเป็นบริษัทต่างหากเพื่อดูแลระบบรถไฟความเร็วสูงที่อยู่เหนือราง โดยวิธีตรงนี้ยังพอมีเวลาจัดตั้งตัวบริษัทดังกล่าวถ้ามีการอนุมัติผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวและคิดว่าเรามีความร่วมมือกับหลายประเทศอยู่ตามกรอบเอ็มโอยู ทั้งนี้การออกแบบทางขึ้นอยู่กับรถที่ใช้ต้องพึ่งองค์ประกอบหลายอย่างต้องพึ่งระบบสัญญาณ ระบบส่งกำลัง น้ำหนักตัวรถ ความละเอียดอ่อนของตัวราง ฯลฯ ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติหลักสากล อย่างไรก็ดีตอนนี้ยังคงเป็นแค่แนวคิดยังไม่ได้ร่วมจับมือกับใคร เราจึงยังมีสิทธิเลือกเทคโนโลยีว่าจะใช้รูปแบบประเทศใด ส่วนที่มีการมองว่าเร่งรัดโครงการนั้น เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐมนตรีต้องทำอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นมันก็ช้า อีกทั้งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเคยแถลงไว้ในเรื่องนี้ต้องผลักดันโครงการให้ได้ แต่ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่างไม่มีทางลัดขั้นตอนได้




กำลังโหลดความคิดเห็น