xs
xsm
sm
md
lg

เมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้าน จับตากลุ่มทุนอสังหาฯได้อานิสงส์ (ตอนที่ 4)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แผนเมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้าน มองกลุ่มทุนอสังหาฯ ได้ประโยชน์จากการประกาศโครงการสร้างสาธารณูปโภค ทั้งถนน-รถไฟฟ้า-รถไฟความเร็วสูง จับตา “แสนสิริ-SC LH” ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นจากคดีที่ดินรัชดาฯ ของตระกูลชินวัตร ยัง insider รู้ข้อมูลวงใน ขณะที่นโยบาย “ชัชชาติ-สันติ” บางจุดถูกตั้งข้อสังเกตมีพิรุธอิงผลประโยชน์พวกพ้อง ด้านนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรย้ำเก็งกำไรที่ดิน นักการเมืองได้ประโยชน์จริง ส่วนผู้ประกอบการอสังหาฯ รอซื้อที่ดินตามโครงการรัฐที่ประกาศแล้ว ยอมเสียแพงแต่ไม่เสี่ยง!

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เมกะโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลจะลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศไทย อันประกอบด้วยโครงการลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้าน และที่เหลือเป็นการสร้างระบบสาธารณูปโภคสาธารณะเน้นระบบราง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า 10 สาย รถไฟรางคู่ ฯลฯ นั้นจะมีการ “กู้เงิน” มาลงทุนแน่ และไม่ใช่แค่ 2.2 ล้านล้าน เพราะล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 56 ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมาประกาศเสริมทับขึ้นอีกว่านอกจากการกู้เงินมา 2.2 ล้านล้านบาทที่จะไม่อยู่ในระบบงบประมาณปกติแล้ว ก็จะมีงบฯ ในส่วนของงบประมาณปกติอีก 2 ล้านล้านบาท รวมแล้วงบสร้างระบบสาธารณูปโภคนี้จะมีทั้งสิ้น 4.2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

ตอนที่ 3 ทีม Special scoop ได้เสนอไปแล้วว่า แค่งบฯ 2.2 ล้านล้าน ก็ทำให้คนไทยต้องแบกหนี้คนละ 1 แสนบาทไปแล้ว 10 ปี และยังไม่ได้พูดถึง 4.2 ล้านล้าน!

แถมตอนที่ 1-2 ทีม Special scoop ก็นำเสนอภาพที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า อภิมหาเมกะโปรเจกต์นี้ จะเกิดขึ้นได้ยากมาก แต่ถ้าเกิดขึ้น คนได้ประโยชน์ก็ยังเป็นนักการเมืองที่สามารถสั่งได้ว่าจะให้รถไฟความเร็วสูงผ่านที่ดินตัวเองยังไง และสร้างสถานีจอดที่ไหน

แต่ถ้าโครงการอภิมหาเมกะโปรเจกต์นี้เกิดไม่ได้จริง....

นักการเมืองก็ได้ประโยชน์อยู่ดี โดยเฉพาะการสร้างข่าวปั่นหุ้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่กลุ่มหุ้นก่อสร้างล้วนได้อานิสงส์ไปเต็มๆ และยังไม่รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์อีกกลุ่มใหญ่ คือ “กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์”

หลีกหนีฟลัดเวย์-ทางน้ำผ่านที่ดินราคาตก

แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์จะได้ประโยชน์จากโครงการอภิมหาโปรเจกต์ 2.2 ล้านล้านบาท หรือ 4.2 ล้านล้านบาทครั้งนี้แน่นอน

ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “น้ำ” หรือ “สาธารณูปโภค”

ในส่วนของโครงการน้ำ จะมีงบประมาณก้อนนี้อยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท

ผลประโยชน์ของนักการเมืองกลุ่มนี้จะอยู่ที่ flood way หรือที่เรียกว่า “โครงการตามยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทุกภัยในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แบบบูรณาการและยั่งยืน (ระยะยาว)”

ในแผนนี้จะมีแผนงานทั้งหมด 8 แผนงาน หรือโมดูลที่ 0-7

แผนงานที่ 1 (โมดูลที่ 0) คือการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและดิน ฝายแม้ว ฯลฯ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุล พื้นที่ดำเนินการประมาณ 10 ล้านไร่ งบประมาณดำเนินการ 10,000 ล้านบาท

แผนงานที่ 2 (โมดูลที่ 1) การสร้างอ่างกักเก็บน้ำอย่างเหมาะสม และยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก งบประมาณดำเนินการ 50,000 ล้านบาท

แผนงานที่ 3 (โมดูลที่ 2) การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อม พื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักของแต่ละจังหวัดและของประเทศ (ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง) งบประมาณดำเนินการ 60,000 ล้านบาท

แผนงานที่ 4 (โมดูลที่ 3) การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานพิษณุโลก (เหนือนครสวรรค์) และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ (เหนืออยุธยา) ให้เป็นแก้มลิงแม่น้ำเพื่อกักน้ำหลากชั่วคราวในฤดูน้ำหลากได้ประมาณ 6,000 ถึง 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้พื้นที่ประมาณ 2,000,000 ไร่ รวมทั้งปรับปรุงให้สามารถเพิ่มผลผลิตเกษตรกรรมและประมง ฯลฯ งบประมาณดำเนินการ 60,000 ล้านบาท

แผนงานที่ 5 (โมดูลที่ 4) การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและคันริมแม่น้ำของแม่น้ำสายหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ฯลฯ งบประมาณดำเนินการ 7,000 ล้านบาท

แผนงานที่ 6 (โมดูลที่ 5) การจัดทำทางน้ำหลาก (flood way) และหรือทางผันน้ำ (flood diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรับอัตราการไหลน้ำหลากส่วนเกินจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักไปทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งใดฝั่งหนึ่ง รวมทั้งจัดทำทางหลวง (ระดับประเทศ) ไปพร้อมๆ กัน งบประมาณดำเนินการ 12,000 ล้านบาท

แผนงานที่ 7 (โมดูลที่ 6) การปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ (หลากและแล้ง) กรณีต่างๆ งบประมาณดำเนินการ 3,000 ล้านบาท

แผนงานที่ 8 (โมดูลที่ 7) การปรับปรุงองค์กร (ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ สั่งการ กำกับ ดูแล ติดตาม พร้อมทั้งจัดหากฎหมายและวิธีการเยียวยาที่เหมาะสม) งบประมาณดำเนินการ (จากงบปกติ)

“ตอนนี้งบส่วนนี้ก็ทะเลาะกันวุ่นวาย เพราะท่านปลอดอยากได้งบก้อนนี้มาบริหารเต็มๆ แต่ที่ผ่านมามีการนำเงินไปใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมฉุกเฉินล่วงหน้าแล้วประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เช่นกรมทางหลวงได้เบิกไปยกระดับติวานนท์ พุทธมณฑล ที่มีการใช้ถนนไปเป็นแนวคันน้ำ ตอนนี้งบก้อนนี้เลยเป็นปัญหากันอยู่”

ส่วนงบก้อนที่ต้องดูคืองบใหญ่สุดในแผนงานที่ 6 งบประมาณ 120,000 ล้านบาท จุดนี้จะมีการเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างทางน้ำระยะห่าง 2.2 กิโลเมตร ยาว 250 กิโลเมตร จากพื้นที่นครสวรรค์มาถึงอ่าวไทย โดยแนวคิดกรมทางหลวงได้เสนอให้ทำเป็นมอเตอร์เวย์จากนครสวรรค์ และมีแนวคิดขุดตรงกลางให้ลึกเพื่อสามารถเดินเรือได้ด้วย

“ราคาที่ดินที่แผนนี้จะต้องตัดผ่านนั้น แน่นอนว่าจะตกฮวบเพราะเป็นที่ดินทางน้ำผ่าน ซ้ำยังมีระยะกว้างถึง 2.2 กิโลเมตรอีกด้วย”

แสนสิริ-SC-LH ความสัมพันธ์แน่น

คำถามคือที่ผ่านมานักการเมืองและกลุ่มธุรกิจรู้เรื่องนี้ไหม

“เขารู้ ดังนั้นพื้นที่ฟลัดเวย์จะไม่มีโครงการของกลุ่มทุนอสังหาฯ ที่เป็นของกลุ่มทุนที่เชื่อมอยู่กับรัฐบาล”

เรื่อง “โฟร์ซีซั่นส์” ยังเมาท์กันหึ่งเรื่อง Flood way จะไม่มีทางไปลงพื้นที่ของแสนสิริที่ปีที่ผ่านมาได้มีการขยายธุรกิจทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

เรื่องนี้ไม่รู้เกี่ยวไหม แต่การที่แสนสิริเพิ่งสรุปผลการดำเนินธุรกิจในปี 2555 นั้นก็มีความน่าสนใจ
เพราะเติบโตกว่าปี 2554 มากถึง 45% โดยมีรายได้ 30,087 ล้านบาท มีกำไร 3,019 ล้านบาท เติบโตจากปี 2554 กว่า 50% ขณะที่ยอดขายปี 2555 ทะลุไปที่ 42,500 ล้านบาท เติบโตเกือบ 100%

โดยบริษัทมียอดขายสูงถึง 42,500 ล้านบาท ซึ่งเติบโตเกือบ 100% จากปีที่ผ่านมา สร้างรายได้จากการดำเนินธุรกิจได้ถึง 30,087 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,406 ล้านบาท หรือเติบโตกว่าปีที่ผ่านมากว่า 45% รวมทั้งมีกำไรสุทธิ 3,019 ล้านบาท เติบโตกว่าปีก่อน 50% ขณะที่เปิดไตรมาสแรกปี 2556 เพียง 2 เดือน(1 มกราคม - 26 กุมภาพันธ์ 2556) บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 16,646 ล้านบาทแล้ว ซึ่งสูงกว่ายอดขายในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 16,245 ล้านบาททั้งไตรมาส

ก่อนหน้านี้ นายชวนนท์ อินทมาสุต ตั้งข้อสังเกตว่า การหนีการประชุมสภาของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อไปพบกับนายเศรษฐา ทวีสิน เจ้าพ่อแสนสิรินั้น น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องฟลัดเวย์ และการปรับราคาที่ดินใหม่ของรัฐบาล ซึ่งนายชวนนท์ได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ปลายปี 2554 ซึ่งประเทศไทยเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ แต่หมู่บ้านของแสนสิริจำนวน 29 หมู่บ้าน มีหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมเพียง 3-4 หมู่บ้าน เป็นเพราะเกี่ยวข้องกับแผนระบายน้ำท่วมของรัฐบาลที่ผันให้น้ำออกไปทางกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก แทนที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกหรือไม่

นอกจากความสนิทในเครือข่ายส่วนตัวระหว่าง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ นายเศรษฐา และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แล้ว ชื่อของเศรษฐายังข้องเกี่ยวกับการประมูลที่ดินรัชดาของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ซึ่งการประมูลที่ดินรัชดาในขณะนั้นจะต้องมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 บริษัท ซึ่งก็คือ 1. คุณหญิงพจมาน 2. บริษัท แสนสิริ 3. บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์โดยคุณหญิงพจมาน เป็นผู้ชนะการประมูล

โดยบริษัท แสนสิริ และแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อซองประมูลไปในราคา 10 ล้านบาท แต่ไม่เสนอราคาประมูล ทำให้คุณหญิงพจมานซึ่งเสนอราคาประมูลไปที่ 772 ล้านบาทได้ที่ดินผืนงาม 33 ไร่ของกองทุนฟื้นฟูผืนนั้นไป แต่ภายหลังเกิดคดีความจนศาลตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวในส่วนของการใช้อำนาจในทางมิชอบ ทำให้มีการยึดที่ดินคืน และทางกองทุนฟื้นฟูมีการเปิดประมูลใหม่ โดยบริษัท ศุภาลัย เป็นผู้ได้ที่ดินผืนนั้นไปในราคา 1,800 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่คุณหญิงพจมานประมูลได้ในขณะนั้นกว่า 1,000 ล้านบาท

ขณะที่นายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าพ่อแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แม้วันนี้จะลดบทบาทนักธุรกิจลงไปกว่าแต่ก่อน แต่อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ระหว่างอนันต์กับครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นแน่นแฟ้นยิ่ง โดยนอกจากการเข้าเป็นคู่เทียบในคดีที่ดินรัชดาฯ เพื่อให้คุณหญิงพจมานประมูลได้ในราคาถูกแล้ว อนันต์ยังเป็นคนชักชวนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานเข้าไปเป็นศิษย์วัดธรรมกายด้วย

นับได้ว่าการเข้ามาเกี่ยวพันระหว่างนักการเมือง กับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นับวันยิ่งน่าสงสัยว่าเข้ามาได้ประโยชน์เกี่ยวข้องกับการเมือง และการทุจริตเชิงนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ

ใครรู้ข้อมูลวงในก่อน ได้เปรียบ!

อย่าลืมว่า คนในตระกูลชินวัตรเองก็ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาอย่างยาวนาน และมีเครือข่ายของธุรกิจพวกพ้องอย่างที่เปิดเผยตัวในคดีที่ดินรัชดาฯ ทั้งบริษัท แสนสิริ บริษัท เอสซีแอสเสท และบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้เห็นกลไกการ “ฮั้ว” ระหว่างบริษัท มากกว่าเห็นกลไกการ “แข่งขัน” ของภาคธุรกิจที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม

กลุ่มบริษัท เอสซีแอสเสท เอง นอกจากการประมูลที่ดินรัชดาฯ จะฉายภาพความได้เปรียบของธุรกิจในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ก็ยังมีโครงการอีกหลายโครงการที่ถูกสังคมตั้งคำถามในเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองที่เข้ามาเอื้อภาคธุรกิจอสังหาฯ

โครงการบางกอกบูเลอวาร์ด ของบริษัท เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชัน ก็เป็นหนึ่งในโครงการเหล่านั้น ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าได้เอางบประมาณสร้างถนนตามแผนของสำนักผังเมืองไปสร้างถนน 2 สายเข้าโครงการบางกอกบูเลอวาร์ด รามอินทรา

โครงการนี้จะได้รับอานิสงค์จากเส้นทางรถไฟฟ้าสีชมพูด้วย

แหล่งข่าวในพื้นที่เปิดเผยว่า เดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ทิ้งขยะ ขายของเก่า และเป็นบึงทั่วไป แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มมีหมู่บ้านเข้ามาพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะของบริษัทเอสซีฯ และศุภาลัย โดยต่อมามีการเวนคืนตัดถนน 8 เลน และข่าวรถไฟฟ้าสีชมพู ซึ่งถนน 8 เลนนี้จะเชื่อมต่อกับทางลงทางด่วนด้วย ซึ่งในบริเวณนี้มีหมู่บ้านของโครงการเอสซี 3 หมู่บ้านได้แก่ บางกอกบูเลอวาร์ด รามอินทรา 23 ที่เพิ่งเปิดขายโครงการ,โครงการบูเลอวาร์ด ลาดปลาเค้า ที่เป็นโครงการที่มีอยู่แล้ว และโครงการแกรนด์บูเลอวาร์ด สวนสยาม ที่ได้อานิสงส์ไปเต็มๆ

เส้นทางนี้ยังเป็นเส้นที่บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีโครงการในโซนลาดพร้าว-รามอินทรา-สุวินทวงศ์ มีโครงการอยู่แล้วมากถึง 8 โครงการด้วย ได้แก่ LADAWAN KASET-NAWAMIN, The LANDMARK Residence, มัณฑนา Lake Watcharapol,มัณฑนา รามอินทรา-วงแหวน, สีวลี รามคำแหง-วงแหวน, ชัยพฤกษ์ รามอินทรา-วงแหวน 2, ปาริชาติ สุวินทวงศ์, The TERRACE รามอินทรา

ขณะที่อีกสายคือสีเขียวเข้มนั้น จากสะพานใหม่ ไปลำลูกกา ก็มีแนวโน้มว่ามีสิทธิเชื่อมต่อไปถึงนครนายก

“ถ้านักการเมืองต้องการ อะไรก็เป็นไปได้ แต่ก็อย่าไปเก็งกำไรตามนักการเมือง อย่างเมืองใหม่นครนายกที่เคยบูม ปรากฏว่านักการเมืองและกลุ่มทุนอสังหาฯ เครือข่ายไปซื้อที่ไว้หมด แล้วพอออกข่าวก็มีแมงเม่าไปรับซื้อที่ดินต่อมาจากคนกลุ่มนี้ แต่สุดท้ายเวลานี้โครงการก็ยังไม่เกิด”

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่หลังจากมีคณาจารย์ และนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คัดค้านทางด่วนสายเหนือ รมว.ชัชชาติได้สั่งให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชะลอการดำเนินโครงการการทางพิเศษขั้นที่ 3 สายเหนือทั้งหมด พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาความเป็นไปได้ที่จะปรับมาเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบา (Light Rail) ทันที

“จุดนี้น่าสนใจเพราะ รมว.ชัชชาติให้ไปปรับเส้นทางจากงามวงศ์วานไปโผล่ที่เกษตรฯ ติดเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งที่จริงแล้วขัดกับการก่อสร้างทางด่วน east-west corridor คือนักวิศวกรรมโยธาก็คุยกันว่า มันตลกดี ถ้าคุณขับรถมาจากทางด่วนดีๆ มาถึงบริเวณนั้นทางด่วนหาย เจอรถไฟฟ้าแทน ก็มีความแปลกในคำสั่ง”

จับตาสันติสั่ง กคช.เอื้อประโยชน์การเมือง

ขณะที่กระแสจากการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ในเวลานี้ ก็มีข่าวว่านายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (บอร์ดการเคหะฯ) มีมติให้ กคช.แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2537 มาตรา 28-29 เพิ่มอำนาจเวนคืนที่ดินเพื่อรวมแปลงพัฒนาเชิงพาณิชย์แนวรถไฟฟ้า 10 สาย และพื้นที่อื่นทั่วประเทศ จากเดิมเวนคืนเฉพาะกิจการเพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น อย่างไรก็ดี นโยบายกระทรวงกำหนดให้การเคหะฯ ประกาศรับซื้อที่ดินแนวรถไฟฟ้ารัศมี 5-8 กิโลเมตรเพื่อพัฒนาคอนโดมิเนียมพักอาศัยราคาต่อหน่วยขึ้นอยู่กับทำเลอีกต่างหาก

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการมีการแก้ไขกฎหมายให้เพิ่มพื้นที่เวนคืนนั้น อาจข้องเกี่ยวกับที่ดินรอบบริเวณที่รัฐจะเข้าพัฒนาซึ่งเป็นที่ดินของนักการเมืองและเครือข่ายพวกพ้องด้วยหรือไม่?

อย่าลืมว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ ก่อนหน้านั้นก็มีคดีเก่ากับชาวหมู่บ้านนักกีฬา ช่วงกลางปี 2555 ที่นายสันติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บังคับให้การเคหะแห่งชาติขายที่ดินติดถนนเพื่อเปิดที่ดินตาบอดมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท มีทางออกติดถนน โดยที่ดินนั้นเป็นของบริษัท ซีวิล คอนสตรัคชัน ซึ่งเป็นบริษัทของเครือญาติตระกูลพร้อมพัฒน์ โดยครั้งนั้นถูกต่อต้านจากประชาชนในท้องที่อย่างรุนแรงจนต้องพับโครงการไป

ยุคเฟื่องฟูของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งแล้ว จากนโยบายการสร้างสาธารณูปโภคที่กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ เครือข่ายเตรียมรับอานิสงส์ไปเต็มๆ แต่อย่าลืมว่า คำเตือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ในเรื่องฟองสบู่อสังหาฯ ไม่ฟังก็คงไม่ได้!

เตือน!ระวังเก็งกำไรผิด

นอกจากนี้ นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร วิเคราะห์ให้ทีม Special scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฟังว่า นโยบายภาคการเมืองกับผลประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์นั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะยุคที่ข้อมูลข่าวสารยังไม่ก้าวหน้า เช่น การตัดถนนเส้นราชพฤกษ์ ตัดเสร็จไปแล้วถึงรู้ว่านักการเมืองคนไหนมีที่ดินในบริเวณนั้น แต่ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเปิดเผยมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์รายย่อยสามารถไปกว้านซื้อที่ดินที่กำลังจะมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ แต่จะเป็นในลักษณะที่ทราบมาแล้วว่าจะมีโครงการลงในพื้นที่ใดที่ชัดเจน เพราะผู้ประกอบการด้านอสังหาฯ จะไม่อยากให้ทุนไปจมอยู่ในที่ดินผืนหนึ่งนานๆ เนื่องจากมีภาระเรื่องดอกเบี้ย และโครงการสามารถเปลี่ยนเส้นทางได้ตลอด ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูง

การซื้อที่ดิน หลังจากรัฐบาลประกาศโครงการไปแล้ว แม้ที่ดินจะมีราคาสูงกว่าตอนที่รัฐบาลยังไม่ประกาศโครงการ แต่ความเสี่ยงก็จะน้อยกว่า อีกทั้งยังต้องดูรายละเอียดอื่นประกอบ เช่น ผังเมือง

“ตอนที่มีการตัดถนนวงแหวน ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางแค ถามว่าคนที่ไปซื้อที่ดินมีมากไหม ก็มีจำนวนมาก แต่ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครประกาศให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่สีเขียว ดังนั้นการลงทุนไปก็เท่ากับไม่คุ้มค่ากับกำไรที่คาดหวังไว้ หรือแม้แต่ถนน ถนนทุกเส้นที่ตัดก็ใช่ว่าจะมีความเจริญเท่าเทียมกัน หรือโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงทั้งเส้น บริเวณที่จะมีราคาก็เป็นบริเวณที่เป็นสถานี หรือจุดอุตสาหกรรมสำคัญ ไม่ได้ทำให้ที่ดินตรงนั้นมีราคาดีทั้งเส้น เป็นต้น”

นายอิสระกล่าวว่า การซื้อที่ดิน การเก็งกำไรที่ดินของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทุกวันนี้จึงต้องเป็นคนที่รู้ข้อมูลมากที่สุด ทั้งนโยบายรัฐบาล แผนการทำงานของรัฐบาล และกฎหมายต่างๆ ก่อนที่จะลงทุน เพราะโอกาสซื้อที่ดินมาแล้วไม่เกิดการพัฒนาตามที่คาดหวังไว้ก็มีมาก เช่นบางรายซื้อที่ดินกว่า 15 ปี ถนนจึงตัดผ่าน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า แม้การแข่งขันที่มีเพิ่มขึ้นจากข้อมูลข่าวสารที่ไม่สามารถปิดกั้นได้ก็ตาม กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวพันกับการเมือง ก็ยังเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบอยู่ระดับหนึ่ง

แต่ก็ใช่ว่าโอกาสที่จะเก็งกำไรผิดจะไม่เกิดขึ้น!

กำลังโหลดความคิดเห็น