xs
xsm
sm
md
lg

เผยผัง “ศูนย์คมนาคมย่านพหลโยธิน” ผุดตึกสูงรวมหน่วยขนส่งย้ายจตุจักรลงดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.คาดสรุปผังพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธินเป็นศูนย์คมนาคมได้ใน 2-3 เดือนนี้ ผุดอาคารสูงตรงข้าม อ.ต.ก.โยกกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานขนส่งทั้ง สนข.-ร.ฟ.ท.ไปอยู่รวมกัน ย้ายพื้นที่เชิงพาณิชย์ตลาดนัดจตุจักรลงใต้ดินเปิดขายทุกวันเพื่อสร้างมูลค่า ให้เอกชนลงทุน แบ่งโซนคมนาคม-พลังงาน-สถานีกลางบางซื่อและสถานีหมอชิตใช้โมโนเรล หรือ Light Rail เชื่อม คาดผู้โดยสารไม่น้อยกว่าแสนต่อวัน

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธิน ซึ่งจะทำเป็นศูนย์คมนาคมใหญ่ของกรุงเทพมหานคร โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนใหญ่ คือ 1. โซนขนส่ง มีสถานีกลางบางซื่อเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอย่างน้อย 3 สาย คือ สีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง และรถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง และเชื่อมโยงกับสถานีขนส่งหมอชิตซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ 2. โซนสำนักงาน โดยก่อสร้างเป็นอาคารสูงพื้นที่ตรงข้ามตลาด อ.ต.ก.และย้ายกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ สนข.ไปอยู่รวมกัน ส่วนอีกฝั่งจะเป็นกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีอาคาร ปตท.และศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์เหมือนเดิม 3. โซนพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นสวนสาธารณะจะคงตามเดิม โดยภายใน 2-3 เดือนนี้จะสรุปผังรวมการใช้พื้นที่เสนอกระทรวงคมนาคมได้จากนั้นจะเป็นการออกแบบรายละเอียด

ทั้งนี้ หลักการจะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน เนื่องจากพื้นที่ค้าขายเดิมจะปรับให้ลงใต้ดินทั้งหมด เช่น ตลาดนัดจตุจักรจะปรับเป็นตลาดใต้ดิน เพื่อให้เปิดขายทุกวัน ส่วนพื้นที่ด้านบนจะพัฒนาเป็นอาคารสำนักงานทั้งหมด เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนเชิงพาณิชย์ เพราะประเมินเบื้องต้นเฉพาะผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงและรถ บขส.ในพื้นที่เกือบหนึ่งแสนคนต่อวัน โดยในส่วนของ ร.ฟ.ท.จะต้องปรับแผนพัฒนาตลาดนัดจตุจักรให้สอดคล้องกับศูนย์คมนาคมด้วย

นายจุฬากล่าวว่า ในส่วนของสถานีขนส่งหมอชิตของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) นั้น จะยังอยู่ที่เดิมแต่จะต้องขยายพื้นที่เพิ่มเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารในอนาคตและจะต้องทำทางเชื่อมเพื่อขึ้นทางด่วนได้โดยตรงเพื่อไม่ให้รถ บขส.ต้องวิ่งตัดกระแสจราจรเหมือนในปัจจุบัน พร้อมกันนี้จะใช้รถไฟฟ้าโมโนเรล (Monorail) หรือรถไฟฟ้าขนาดเบา (Light Rail) เชื่อมการเดินทางภายในพื้นที่ทั้งหมดและเชื่อมสถานีขนส่งหมอชิตกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีหมอชิตด้วย ส่วนจะเป็นระบบใดนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารโดยรถไฟฟ้าขนาดเบาจะรองรับผู้โดยสารได้มากกว่าโมโนเรล

“ภายใน 2-3 เดือนนี้จะได้ข้อสรุปผังโดยรวมซึ่งจะแบ่งโซนและการใช้พื้นที่พร้อมกับการประเมินจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดได้ ก่อนที่จะให้เอกชนเข้ามาวางรายละเอียดเพื่อให้มีความเป็นไปได้ในการลงทุน เชื่อว่าจะมีผู้สนใจเพราะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์และจำนวนผู้โดยสารระบบขนส่งมวลชนและขนส่งสาธารณะเข้าออกเป็นจำนวนมาก” นายจุฬากล่าว

สำหรับศูนย์คมนาคมพหลโยธินจะดำเนินโครงการบนที่ดินของ ร.ฟ.ท.ขนาด 2,325 ไร่ ครอบคลุมบริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ ย่านจตุจักร-กิโลเมตรที่ 11
กำลังโหลดความคิดเห็น