xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ปัดล้มทางด่วน 3 ไม่เกี่ยว “พงศพัศ” หาเสียงผู้ว่าฯ กทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ” เผยสั่ง กทพ.ชะลอทางด่วนขั้นที่ 3 ทั้ง 3 ตอน เหตุรอ สนข.ศึกษาความเป็นไปได้หากปรับแผนสร้างเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา (Light Rail) แทน ระบุลดแรงต้าน ม.เกษตรศาสตร์และค่าเวนคืนที่สูงมากเกือบ 4 หมื่นล้านได้ ปัดไม่เกี่ยว “พงศพัศ” หาเสียง ชี้บังเอิญคิดตรงกันพอดี คาด 1 เดือนชัดเจนสร้างแบบไหน เตรียมเร่งทะลวงคอขวดบนถนนพื้นราบก่อน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชะลอการดำเนินโครงการทางพิเศษขั้นที่ 3 สายเหนือทั้งหมด (N1, 2, 3) ระยะทางประมาณ 42.9 กิโลเมตร และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะปรับรูปแบบการก่อสร้างจากทางด่วนรถไฟฟ้าขนาดเบา (Light Rail) แทน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 เดือน ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นในการประชุมพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งพบว่าโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N1 มีปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งยอมรับว่าการต่อต้านของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ปัญหาหลักจะเป็นช่วงต้นถนนงามวงศ์วานที่ต้องถูกเวนคืนค่อนข้างมาก แต่การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการหาเสียงของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพราะถึงแม้ผู้ว่าฯ กทม.จะเป็น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ต้องพิจารณาเพราะโครงการมีปัญหา

“เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. บังเอิญไปตรงกับความเห็นของ พล.ต.อ.พงศพัศที่เห็นว่ารถไฟฟ้าขนาดเบาใช้งบไม่มาก มองในแง่การใช้ประโยชน์ก็จะส่งผลดีกว่า และตรงกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้พื้นที่ในเมืองใช้ระบบรางมากขึ้น ส่วนทางด่วนนั้นการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ศึกษาออกแบบโครงการมา 20 ปีแล้ว จากเดิมที่ไม่มีอาคารบ้านเรือนกลายเป็นมีชุมชนอยู่กันหนาแน่น การก่อสร้างจึงยากขึ้นเพราะผลกระทบประชาชนมีสูงค่าเวนคืนสูงถึง 4 หมื่นล้านบาทด้วย จึงเกิดแนวทางเลือกรถไฟฟ้า Light Rail ขึ้นมา เพราะใช้พื้นที่น้อยกว่าแต่มีความจุรองรับการเดินทางได้มากกว่า ส่วนทางด่วนต้องใช้พื้นที่ถึง 8 เลน และโครงการรถไฟฟ้า Light Rail เบา สามารถใช้ตอม่อช่วง N2 ที่ลงทุนไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาทได้ด้วย” นายชัชชาติกล่าว

สำหรับรถไฟฟ้า Light Rail สามารถก่อสร้างทั้ง 2 รูปแบบ คือ แบบใต้ดิน ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 2,500-3,000 ล้านบาทต่อกิโลเมตร แบบยกระดับ ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 800-1,000 ล้านบาทต่อกิโลเมตร และสามารถเป็นฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าได้ 4 เส้นทาง คือ บริเวณแคราย เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ถนนวิภาวดีรังสิต เชื่อมกับรถไฟฟ้าสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) และบริเวณเกษตรฯ เชื่อมกับสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)

โดยหากผลศึกษาเบื้องต้นสรุปว่าต้องปรับเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบาจะต้องศึกษาออกแบบรายละเอียด คาดว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องเข้ามารับผิดชอบแทน แต่ต้องมีการพูดคุยกับ กทพ.ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเดิม และกรมทางหลวงซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ก่อน เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมเหมือนกัน สำหรับการก่อสร้างทางด่วนนั้น ควรจะขยับออกไปด้านทิศเหนือของ กทม.เช่น แนวรังสิตเหมาะสมกว่า เพื่อเชื่อมการเดินทางจากนอกเมืองเข้ามา

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องด่วนที่ต้องทำคือแก้ปัญหาจราจรบนถนนของกรมทางหลวงด้านล่างโดยเฉพาะช่วงเกษตรนวมินทร์ ที่มีคอขวดและจุดเลี้ยวขวามากต้องขยายช่องจราจรบนสะพานทำอุโมงค์หรือทางยกระดับข้าม

สำหรับโครงการทางพิเศษขั้นที่ 3 สายเหนือ มี 3 ช่วง ประกอบด้วย ตอน N1 มีจุดเริ่มต้นจากแยกเกษตรฯ ไปตามเกาะกลางถนนงามวงศ์วาน ถนนรัตนาธิเบศร์ สิ้นสุดที่ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 15-17 กิโลเมตร ตอน N2 เริ่มต้นจากสี่แยกเกษตร ทับซ้อนบนถนนเกษตร-นวมินทร์ ถึงถนนนวมินทร์ โดยมีการก่อสร้างตอม่อไว้แล้ว ระยะทาง 5 กิโลเมตร และตอน N3 จะเป็นการตัดถนนสายใหม่ เริ่มจากถนนนวมินทร์ ตัดผ่านถนนเสรีไทย ถนนรามคำแหง สิ้นสุดที่ถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรีสายใหม่ ระยะทางประมาณ 12-14 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น