xs
xsm
sm
md
lg

“พฤณท์” หนุนด่วน 3 ช่วยแก้จราจรเกษตร-นวมินทร์ ชี้ปรับเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบายังไม่ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
กทพ.ยันทางด่วน 3 จำเป็นช่วยแก้ปัญหาจราจรถนนเกษตร-นวมินทร์ ยอมรับรถไฟฟ้าเหมาะกับการเดินทางในเมือง แต่ 10 ปีที่ผ่านมามี 2 สายแต่ปริมาณรถยนต์ยังเพิ่มมากขึ้น เพราะยังไม่เชื่อมเป็นโครงข่ายและทางด่วนต้องช่วยบรรเทาจราจร จ่อศึกษาช่วงรังสิต-นครนายก ขยายทางด่วนด้านหนือ ด้าน “พฤณท์” เผยด่วน 3 ยังไม่ล้ม ให้ กทพ.ยึดแผนเดิมก่อน

นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า พร้อมดำเนินการตามนโยบายนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ให้ชะลอการดำเนินโครงการทางพิเศษ ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1-3 ทั้งหมด เพื่อรอการศึกษาปรับการก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา (Light Rail) แม้ว่าที่ผ่านมา กทพ.จะใช้งบศึกษาทางด่วนขั้นที่ 3 ไปแล้วประมาณ 80 ล้านบาท และมีการก่อสร้างเสาตอม่อไปแล้วบางส่วนก็ตาม โดยตอม่อที่มีสามารถนำมาใช้ประโยชน์รองรับโครงสร้างรถไฟฟ้าได้ไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ กทพ.ยืนยันว่าโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือมีความจำเป็นในการรองรับรถยนต์ซึ่งปัจจุบันถนนเกษตร-นวมินทร์มีการจราจรที่หนาแน่นมาก และโครงข่ายของระบบทางด่วนยังคงมีความสำคัญต่อการเดินทางของประชาชน เนื่องจากรถไฟฟ้าไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมด โดยจะเห็นได้จากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีรถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้า BTS ให้บริการแล้วแต่ปริมาณรถยนต์บนถนนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก ซึ่งส่งผลให้ปริมาณรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นอีก โดยทางด่วนเป็นทางเลือกการเดินทางในช่วงที่รถไฟฟ้ายังก่อสร้างไม่ครบทั้ง 10 สาย

นอกจากนี้ กทพ.ยังจะสำรวจความเหมาะสมในการก่อสร้างทางด่วนบริเวณด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพิ่มเติมเริ่มตั้งแต่ช่วงรังสิตไปจนถึงจังหวัดนครนายก ซึ่งต้องศึกษาก่อนว่ามีบริเวณใดบ้างที่เกิดปัญหาจราจรอีกด้วย

ด้าน พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งกับดูแล กทพ.กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N1-3 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและได้สั่ง กทพ.ไปแล้วว่าให้ยึดตามแนวทางเดิม เนื่องจากการปรับโครงการมาเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบานั้น ต้องรอผลการศึกษาก่อนว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางด่วนขั้นที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการจราจรของถนนเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมไปยังถนนงามวงศ์วานและวงแหวนรอบนอก ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณรถยนต์หนาแน่นมาก เป็นการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับปริมาณรถยนต์และระบายการจราจรด้านตะวันตกและตะวันออกของ กทม.ซึ่งหากผลการศึกษามีความชัดเจนแล้วคงมีการพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น