xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ขายฝัน 2.2 ล้านล้าน ขุดหลุมล่อ “แมงเม่า” ฟันธงรถไฟความเร็วสูงไม่มีสิทธิเกิด (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระวัง! แผนเงินกู้ 2.2 ล้านล้านเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเป็นพิษ ชาวบ้านแห่ซื้อที่ดิน ดักเส้นทางถนนมอเตอร์เวย์-รถไฟความเร็วสูงตามรัฐบาล มีสิทธิ “แห้ว” สูง ฟันธง โครงการรถไฟความเร็วสูงเกิดยาก เพราะไทยยังไม่มีศักยภาพพอ ทั้งด้านบุคลากร เทคนิคการก่อสร้างที่ต้องระวังระยะโค้ง-การเจาะภูเขา รวมถึงการต่อต้านคัดค้านจากประชาชนที่เสียประโยชน์ถูกผ่ากลางพื้นที่ ไม่มีแผนรองรับด้านอะไหล่แพง-โรงซ่อม-คนดูแลเทคนิคระยะยาว ขณะที่นักการเมืองได้ประโยชน์เต็มๆ บนซากกระดาษโครงการที่ไม่มีสิทธิเกิด!

นาทีนี้ถ้าไม่พูดถึงร่างพระราชบัญญัติเงินกู้จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลเตรียมนำแผนโครงการให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อนเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร คงจะเชยเต็มที เพราะโครงการนี้นอกจากจะทำให้คนไทยมีหนี้สินติดตัวจำนวนมากจากภาวะหนี้สาธารณะที่พุ่งกระฉูดเกือบเต็มเพดาน ขณะที่รายได้ภาครัฐเริ่มถูกตั้งข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้ว การบริหารการเงินการคลังของรัฐบาลอยู่ในระดับที่ยังไว้ใจได้หรือไม่

ที่สำคัญงบประมาณก้อนนี้จะไม่อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ผ่านความเห็นชอบงบประมาณประจำปี 2557 ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2556 ด้วยวงเงินสูงถึง 2.52 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท จากประมาณการรายได้รัฐสุทธิ 2,275,000 ล้านบาท รายจ่ายประจำ 2,001,368.5 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมสูงถึง 100,891.8 ล้านบาท

งบประมาณมหาศาลในมือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี!

แต่ที่น่าสนใจ งบก้อนใหญ่ใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น คนที่มีแอกชันมากที่สุดคือ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สายตรงใกล้ชิด “ยิ่งลักษณ์” - คนสนิท “นายเศรษฐา ทวีสิน” เจ้าพ่อแสนสิริ ที่ออกมาบอกว่า ในงบประมาณก้อนนี้มีโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมกว่า 90% โดยงานในระบบรางจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 66%

ล่าสุดมติ ครม.วันที่ 19 ก.พ. 2556 ก็มีมติเวนคืนที่ดิน 4 จังหวัดเพื่อสร้างทางหลวงบางใหญ่-ราชบุรี-กาญจนบุรี เชื่อมทวาย ประเทศพม่า

โดยตามแผนการใช้เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทก้อนนี้นั้น จะมีงบแก้ปัญหาน้ำจำนวน 3.5 แสนล้าน ที่เหลือจะเป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม ที่กระทรวงคมนาคมได้จัดหมวดหมู่เป็น 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์การเชื่อมต่อทางและการขนส่งกับภูมิภาค จำนวน 8 โครงการ รวมวงเงิน 190,402.58 ล้านบาท 2. ยุทธศาสตร์มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน จำนวน 39 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 1,550,867.37 ล้านบาท และ 3. ยุทธศาสตร์การยกระดับความคล่องตัวในการเดินทางและการขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 10 โครงการ วงเงิน 158,860.04 ล้านบาท รวมทั้งหมด 57 โครงการ วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,900,129 ล้านบาท

ในส่วนนี้จะมีโครงการที่ดำเนินการภายใต้ PPP ประมาณ 20% ของงบประมาณทั้งหมด หรือรวมมูลค่าโครงการประมาณ 3-4 ล้านบาท
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม
งบก้อนมหึมาในโครงการที่เรียกได้ว่ายิ่งกว่าอภิมหาเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล แต่ท้ายที่สุดแล้ว “คนไทย” จะรับได้ไหมว่าโครงการที่สวยหรูทั้งหมดนั้นแท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงการ “ขายฝัน” ของนักการเมือง ที่แปรฝันเป็นรูปแบบผลประโยชน์ให้พวกพ้องเท่านั้น!

ส่วนประชาชนอย่างเราๆ รายเล็ก รายย่อย หากใคร “ตื่นเต้น” กับข่าว แล้วเตรียมแห่ไปกว้านซื้อที่ดินอย่างในขณะนี้ที่ในพื้นที่ต่างๆ ที่มี “ข่าว” ว่ารถไฟความเร็วสูงจะไปถึง ต่าง “คึกคัก” ในการต่อรองซื้อขายที่ดิน เพื่อหวัง “รวย” อาจจะต้อง “จนกระจาย” ไปตามๆ กัน

โดยเฉพาะที่ดินในจังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ที่ขณะนี้คนแห่กันไปหาซื้อที่ดินกันให้ควัก ราคาที่ดินสูงขึ้นเป็นเท่าตัว และบางแห่งขึ้นสูงถึง 10 เท่า เพราะรัฐบาลมีแผนสร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่ “บางปะอิน-โคราช” ระยะทาง 196 กิโลเมตร รวมจะมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจาก กทม.-โคราช อีกด้วย

แต่จะทำอย่างไรหากโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่เกิด!

แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า โครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น ที่จะถูกจัดสรรจำนวนมากมาอยู่ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนนมอเตอร์เวย์ โฮปเวลล์ รถไฟทางคู่ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นโครงการที่มีการศึกษากันมานาน พูดกันมานาน แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะมีเพียงผลประโยชน์ที่คน 2 กลุ่มจะได้รับไปอย่างเต็มๆ คือ กลุ่มนักการเมืองที่มีผลประโยชน์มากที่สุด เพราะโครงการเหล่านี้จะมีการนำมาปัดฝุ่นศึกษาทุกรัฐบาล และบริษัทที่เป็นที่ปรึกษามาศึกษาโครงการต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นเครือข่ายนักการเมือง

อีกทั้งนักการเมืองโดยเฉพาะคนที่ได้เป็นรัฐบาลยังมีแผนที่จะใช้ตลาดหลักทรัพย์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านราคาหุ้นตัวต่างๆ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มบริษัทก่อสร้าง ที่เชื่อมต่อกับนักการเมืองเกือบทุกบริษัท เมื่อมีข่าวจะสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ก็มีแค่ไม่กี่บริษัทที่จะได้รับงานจากรัฐบาล และแม้จะอยู่คนละบริษัทกัน แต่โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ กล่าวได้ว่าเกือบทุกบริษัทมีการแบ่งงานกันเรียบร้อย ได้ประโยชน์ถ้วนหน้า (อ่านต่อ ตอนที่ 2)

“ผมจับโครงการระบบสาธารณูปโภค ศึกษากันมาเป็น 10 ปี ก็เลยไม่อยากให้ประชาชนฝันเฟื่องไปกับรัฐบาล โดยเฉพาะไม่อยากให้ไปกว้านซื้อที่ดินตามเส้นทางที่รถไฟความเร็วสูงจะผ่าน”

เนื่องจากที่ดินที่จะมีราคานั้น ท้ายที่สุดแล้วจะต้องเป็นที่ดินของนักการเมือง หรือกลุ่มทุนที่มีสัมพันธภาพอันดีกับนักการเมืองเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์

แฉนักการเมืองเท่านั้นได้ประโยชน์

แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคมเผยต่อว่า นักการเมืองได้ประโยชน์อย่างมากในแง่เชิงข่าว เพราะข่าวที่เป็นข่าวดีเช่นนี้จะทำให้หุ้นของกลุ่มธุรกิจก่อสร้างซึ่งมีไม่กี่บริษัท และทุกบริษัทก็เชื่อมต่อกับนักการเมืองนั้น มีราคาที่สูงขึ้น ไม่ว่าโครงการจะเกิดขึ้นหรือไม่

ส่วนนักการเมืองนั้นก็จะได้คะแนนเสียง และบางคนได้โอกาสในการไปกว้านซื้อที่ดินไว้ก่อน เมื่อมาออกข่าวว่าจะสร้างรถไฟความเร็วสูงไปในทางไหน ก็จะมีการดันราคาที่ดินสูงขึ้นไปอีก แม้จะมีการก่อสร้างได้สำเร็จจริงหรือไม่จริงก็ตาม แต่ราคาที่ดินที่นักการเมืองกว้านซื้อไว้ล่วงหน้าจะมีราคาสูงขึ้นไปก่อนหน้าแล้วอย่างมาก และส่วนใหญ่นักการเมืองก็จะเอาที่ดินนั้นมาขายต่อ ซึ่งอาจจะเป็นชื่อของนอมินีให้ประชาชนทั่วไปรับไว้ในราคาสูง แต่นักการเมืองได้ส่วนต่างราคาที่ดินตรงนี้ไปแล้ว แม้ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงจะเกิดขึ้นไม่ได้ก็ตาม

“ถ้ามีการสร้างจริง ที่ดินที่รถไฟความเร็วสูงผ่าน แต่ผ่ากลางที่ดินของตัวเอง ราคามันจะสูงจริงได้อย่างไร ถ้าใครไปแห่ซื้อที่ดินตามที่นักการเมืองประกาศก็มีแต่จะเสียเงินไปโดยไม่คุ้มค่า เพราะราคาที่ดินจะพุ่งอยู่เฉพาะช่วงที่เป็นสถานีเท่านั้น”

แหล่งข่าวบอกว่า หากเส้นทางก่อสร้างใดเกิดได้จริง นักการเมืองก็จะมีใบสั่งให้ผู้ออกแบบก่อสร้างเปลี่ยนเส้นทางไปผ่านที่ดินตัวเอง (แบบไม่ผ่ากลาง) ได้ ในท้ายที่สุด และถ้านักการเมืองคนนั้นมีอำนาจจริงก็สามารถสั่งให้สถานีรถไฟฟ้าไปอยู่ในที่ของตัวเองได้เช่นกัน

โดยบริเวณที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสถานีจะมีราคาสูงขึ้นมาก เพราะจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งคอมเมอร์เชียล ที่พักอาศัย ซึ่งเป็นธุรกิจที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องการจะลงทุนอยู่แล้ว
ภาพ : FB ร่วมสนับสนุนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
ตัวอย่างคลาสสิก “การเมือง” ย้ายหลักหมุดเข้าที่ตัวเอง

เขาบอกว่า อยากจะบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ประชาชนว่าอย่าไปตื่นข่าวแล้วแห่ไปกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร เพราะจริงๆ แล้วคนที่ได้ประโยชน์จากที่ดินล้วนแต่เป็นนักการเมือง ซึ่งพวกเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงรู้ดี ยกตัวอย่างวิศวกรในกรมทางหลวง รับผิดชอบการก่อสร้างถนนที่จะตัดไปทางราชบุรี รู้ว่าเส้นทางจะไปอย่างไร เพราะไปสำรวจขีดเส้นทางกับมือ ลงขันกันไปซื้อที่ดินราคาถูกไว้หลายแปลง

เมื่อถึงเวลาที่ถนนเส้นนี้จะเกิดขึ้นจริง นักการเมืองเขามีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงเส้นทางที่มีการปักหมุดไว้ชัดเจนว่าตรงนี้แหละที่จะเป็นถนน และ 2 ฟากฝั่งจะได้ประโยชน์จากโครงการ ปรากฏว่าถูกเปลี่ยนไปยังจุดที่เป็นที่ดินของนักการเมืองทันที บรรดาเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงที่เชื่อว่าตัวเองรู้ข้อมูล รู้หลักหมุดชัดเจน ยังต้องเจ็บตัวตามๆ กัน

“บอกได้เลยไม่มีใครทันกินนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน พวกเรากรมทางที่ว่าเจ๋ง รู้ทุกอย่าง ยังเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะนักการเมืองมีอำนาจสั่งบิดเส้นทางเข้าที่ตัวเองได้ง่ายๆ”

หรือกรณีเส้นทางรถไฟสายสีชมพู ที่จะทำเส้นแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 58,624 ล้านบาทนั้น ในช่วงเดือนธันวาคม 2555 ก็ได้มี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยดอดพบรมว.ชัชชาติ จนเป็นข่าวมาแล้วว่า ต้องการให้มีการปรับแนวรถไฟฟ้าตามแนวเส้นทางในแผนแม่บท มีจุดเริ่มต้นจากสถานีศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีใกล้แยกแคราย ถนนติวานนท์ เลี้ยวเข้าถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ไปสิ้นสุดปลายทางที่สถานีมีนบุรี แต่ ส.ส.ในพื้นที่เสนอให้เส้นทางไปตามแนวถนนสุวินทวงศ์แทนตลาดมีนบุรี ซึ่งในเบื้องต้น รมว.ชัชชาติได้ปฏิเสธไป

“ตรงนี้ต้องดูให้ดีว่า ที่สุดแล้ว นักการเมืองจะบิดเส้นทางอย่างไร เพราะถ้าไปทางสุวินทวงศ์ก็สามารถที่จะเชื่อมต่อไปทางแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทราได้ในอนาคต ซึ่งตรงนี้การซื้อขายที่ดินในจังหวัดฉะเชิงเทราก็จะคึกคัก แต่จะไม่มีใครทันนักการเมือง เพราะเขากว้านซื้อไว้แต่แรก”

ตั้งแต่ยุคน้าชาติถึงยุคยิ่งลักษณ์

ส่วนในเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่มีการออกข่าวในขณะนี้หลายเส้นทางนั้นแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ย้ำว่าข้อเท็จจริงแล้วได้มีการว่าจ้างศึกษาเส้นทางกันมาหลายรัฐบาล และบอกได้คำเดียวว่า เกิดยาก! และโอกาสเกิดขึ้นได้จริงมีน้อยมาก

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในมือ รมว.ชัชชาติ จะได้รับประโยชน์กลับมาในมือรัฐบาล หรือนักการเมือง ในรูปแบบของ “ข่าวดี” ที่ทำให้รัฐบาลดูมีแผนงานที่ดี มีแผนพัฒนาประเทศที่ก้าวหน้า แต่เป็นเพียงแค่การ “ขายฝัน” ทำไม่ได้จริง

“นักการเมืองปั้นกันทุกยุค ใครมานั่งคมนาคมก็หยิบโครงการมาปั้น มาปัดฝุ่นใหม่ ศึกษาใหม่ โดยเฉพาะรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นคนที่คิดโครงการพวกนี้เก่งมาก ดูอย่างโครงการเมืองใหม่นครนายก คนก็ไปแห่ซื้อที่ดินจังหวัดนครนายก จนวันนี้โครงการนี้พับไปแล้ว ไม่มีใครพูดถึงอีก”

เขาเปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการรถไฟฟ้ารางคู่นั้น ไม่ได้เป็นโครงการใหม่ที่เพิ่งคิดขึ้น แต่เป็นโครงการที่คิดขึ้นตั้งแต่สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว

โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงที่มีการศึกษาตั้งแต่ปี 2535 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี และมีความพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่องทุกรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช, รัฐบาลพลังประชาชน มาจนรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มีการเริ่มเจรจากับประเทศจีน และญี่ปุ่น เพื่อร่วมลงทุนในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ญี่ปุ่น) และเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย (จีน) แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลชุดใดดำเนินโครงการนี้สำเร็จ จนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ได้ประกาศเดินหน้าโครงการเหล่านี้เต็มที่ และจะมีการกู้เงิน 2.2 แสนล้านบาทมาดำเนินการดังกล่าว

เหมือนดังว่า จะต้องผลักดันให้สำเร็จให้ได้

อีกทั้งทางรัฐมนตรีชัชชาติเอง ขณะนี้ก็สั่งให้กระทรวงคมนาคมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-หัวหิน และเส้นทางการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี-พัทยา

ปัญหาคือ ทำไมระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการรถไฟความเร็วสูงจึงไม่เคย “ได้เกิด”

6 เหตุผล-รถไฟความเร็วสูงเกิดยาก!

แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ได้มีการศึกษาแผนระบบของรถไฟความเร็วสูงกันมานานและต่อเนื่อง พบว่าข้อเท็จจริงมี 6 เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้โครงการนี้เกิดยาก ประกอบด้วย

เงื่อนไขแรก กรณีรถไฟความเร็วสูงนั้นจะเป็นการบริหารงานที่ไม่เหมือนการบริหารงานรถไฟธรรมดา แต่ต้องใช้เทคนิคในการก่อสร้างสูง แล้วยังต้องมีบุคลากรที่ดูแลหลังการดำเนินงาน ที่จะต้องเป็นบุคคลที่เชี่ยวชาญทั้งทางด้านวิศวกรรม และคอมพิวเตอร์ ซึ่งยังไม่ปรากฏว่าภาครัฐได้เตรียมใครไว้ดูแล นอกจากนี้ในระบบการศึกษาไทยก็ยังไม่มีการผลิตบุคลากรด้านนี้ไว้รองรับ

“ปัญหานี้สำคัญมาก เนื่องจากการทำรถไฟความเร็วสูง จะต้องมีผู้ควบคุมดูแลระบบต่อเนื่องไปจนตลอดอายุการใช้งาน ขณะนี้รัฐบาลคิดแต่เพียงว่าสร้างทางรถไฟฟ้าให้เสร็จแล้วซื้อรถจักรเข้ามาถือว่าจบโครงการ ซึ่งไม่ใช่ อย่าง BTS เขาเป็นเอกชน เขายังต้องจ้างบริษัทซีเมนต์ ประเทศเยอรมนีเข้ามาดูการดำเนินงานของรถไฟฟ้า BTS เพราะคนไทยยังไม่เชี่ยวชาญพอ แต่ก็ต้องยอมรับว่าค่าจ้างในส่วนนี้สูงมาก”

ปัญหาที่ตามมาคือ ในการก่อสร้างเส้นทางต่างๆ นั้น จะต้องใช้เทคนิคชั้นสูงด้วย เพราะรถไฟความเร็วสูงจะไม่เหมือนรถไฟทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของรัศมีโค้ง อย่างรถไฟฟ้า BTS จะมีวิถีโค้งที่ประมาณ 500 เมตร แต่รถไฟความเร็วสูงจะต้องมีวิถีโค้งเกือบ 3 กิโลเมตร

“การศึกษาจะศึกษาแค่แผนการคร่าวๆ ไม่ได้ จะต้องลงไปศึกษาให้ละเอียดในพื้นที่ ว่าเส้นทางจะต้องผ่านอะไรบ้าง เพราะมันต้องมีพื้นที่ที่เป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ และอย่างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะไปโคราชนั้น เนื่องจากวิถีโค้งไม่ได้ ก็ต้องมีการขุดเจาะอุโมงค์ผ่านเขาใหญ่เพื่อตัดตรงแทนให้โค้งอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งศึกษากันมานานมาก และคนที่ศึกษาทุกคนต่างรู้ดีว่า ทำไม่ได้จริง อย่างเรื่องวิถีโค้ง ถ้าวิถีโค้งไม่ได้ ลองนึกดูว่าล้อเหล็กของรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นล้อเหล็กที่ไม่สามารถหดตัวได้ ถ้าระยะวิถีโค้งไม่ได้ แล้วรถไฟมาเร็วมาก อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้โดยสาร”

นอกจากนี้ในเรื่องของเทคนิค การบริหารงานรถไฟฟ้า จะต้องมีในส่วนของโรงซ่อมซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สอง และอุปกรณ์อะไหล่ไว้รองรับการซ่อมเวลารถเสียฉุกเฉินที่เป็นเงื่อนไขที่สามก็ยังไม่มีการพูดถึง

สำหรับโรงซ่อม ต้องกลับไปที่คำถามเดิมเรื่องช่างเทคนิคว่าเราได้เตรียมพร้อมหรือไม่ ก็ยังไม่มีการพูดถึง ส่วนอุปกรณ์อะไหล่ก็เช่นกัน การสั่งอุปกรณ์อะไหล่จากต่างประเทศมาชิ้นหนึ่งนั้น จะมีราคาสูงมาก สมมติชิ้นส่วนหนึ่งสั่งจากประเทศเยอรมนี ก็ต้องส่งมาทางเครื่องบินเพราะต้องใช้ด่วน ชิ้นส่วนหนึ่งก็มีขนาดใหญ่มาก สมมติราคาชิ้นส่วนนี้มีราคา 5 หมื่นบาท แต่รวมค่าขนส่งแล้วก็จะแพงไปอีกเป็นเท่าตัว

“ทุกวันนี้รู้ไหม เราแก้ปัญหาเรื่องอะไหล่อย่างไร อย่าง Airport link รัฐบาลใช้วิธีสั่งรถมา 5 คัน คันที่ 5 มีไว้เพื่อแกะเอาอะไหล่มาซ่อมคันที่ 1-4”
ส่วนในเรื่องเวนคืนที่ดิน จะเป็นเรื่องใหญ่เป็นเงื่อนไขที่สี่ ที่รัฐบาลจะหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง โดยการเวนคืนที่ดินนั้นจะมีที่ดินที่ต้องเวนคืนจำนวนมาก ในฐานะการเงินการคลังของประเทศตอนนี้คงจะทำได้ยาก

“การเวนคืนที่ดินของรัฐบาลในการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่เคยได้ชดเชยในราคาที่สูงกว่าราคาจริง แล้วสำหรับคนที่โดนพื้นที่ตัดผ่าน อย่าลืมว่ามันไม่ใช่แค่ระยะราง แต่มันจะต้องมีรั้วรอบขอบชิด ถ้าที่ดินของคุณถูกตัดเป็น 2 ส่วน แล้วจะเชื่อมต่อกันก็ไม่ได้ จะเดินทางไปที่ดินตัวเองอีกฝั่งก็ต้องไปไกลมาก ใครจะยอม”

ที่ดินนักการเมืองทำแผนผิดเพี้ยน!

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องของ “ที่ดินนักการเมือง” เป็นเงื่อนไขที่ห้าเข้าไปอีก ซึ่งเรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่

“ที่ดินของชาวบ้านทั้งหมดจะไม่มีทางเป็นสถานี ที่ดินที่เป็นสถานีต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นของนักการเมืองที่เขาจะมีการคุย และเตรียมการไว้แล้ว ดังนั้นที่ดินชาวบ้านจึงต้องทำใจว่าจะเป็นที่ดินที่มีรถไฟความเร็วสูงผ่าน ด้วยการล้อมรั้วแน่นหนา และความที่ไม่ใช่เป็นบริเวณสถานี หรือจุดจอดรถ ดังนั้นราคาที่ดินที่รถไฟความเร็วสูงตัดผ่านก็จะไม่มีราคาที่สูงขึ้น ราคาของที่ดินที่สูงขึ้นจะอยู่ในจุดจอดรถ หรือสถานีเท่านั้น”

นอกจากนี้ อย่าลืมว่า ไม่มีนักการเมืองไทยคนไหนที่ไม่อยากให้รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านที่ดินตัวเอง

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ สมมติจะมีการตัดถนนเส้นหนึ่ง หรือถนนมอเตอร์เวย์ แม้จะมีแผนการตัดถนนที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมหมดแล้ว พอใกล้จะตัดถนนเส้นนั้นจริงๆ ปรากฏว่าเส้นทางสามารถเปลี่ยนได้ ตามที่ดินของนักการเมืองที่มีอยู่แล้ว หรือที่ดินของนักการเมืองที่ไปกว้านซื้อไว้ล่วงหน้า คำถามคือใครจะไปทันนักการเมือง”

เงื่อนไขที่หก เป็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการศึกษาแผนการทำรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นเพียงแผนการคร่าวๆ ยังไม่มีการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาทำแผนอย่างละเอียด และจะต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเสียก่อน ทั้งเรื่องมลภาวะทางเสียง, มลภาวะทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละออง ฯลฯ

“ทั้งประชาชนเจ้าของพื้นที่ ทั้งเอ็นจีโอ เชื่อเถอะว่าจะมีการออกมาต่อต้าน โดยเฉพาะการตัดผ่านที่ดินชาวบ้านที่ทำให้เขาเดินข้ามไม่ได้”

สุดท้ายแล้วการสำรวจ จะต้องเป็นการสำรวจที่เรียกว่าลงภาคพื้นดิน ตรงไหนเป็นพื้นที่สำคัญทางโบราณคดี ตรงไหนเป็นแหล่งน้ำชั้น A รายละเอียดต้องชัดเจนให้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว
มองแล้ว โอกาสเกิดของรถไฟความเร็วสูง 5 ปีต่อจากนี้ไป จึงยังไม่เห็นทางสำเร็จ!

“ยิ่ง รมว.คมนาคมบอกว่า จะทำเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช ก่อนเลย แล้วก็จะซื้อหัวรถไฟมาไว้ก่อน ก็ต้องตั้งคำถามว่า ระยะวิถีโค้งของเส้นทางไปโคราชจะทำอย่างไร เพราะเป็นเส้นทางที่ต้องผ่านภูเขาจำนวนมาก ที่สำคัญโรงซ่อม และอะไหล่จะทำอย่างไร”

ไม่ต้องกล่าวถึงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในอนาคตอีก 5 สายที่รัฐบาลประกาศไว้ คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์

ทั้งหมดที่รัฐบาลประโคมข่าวก็อาจเป็นแค่ฝันเฟื่อง!

“ความจริงแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยควรทำคือทำระบบรถไฟรางคู่ให้ดี คือทำรางใหม่ ขยายจาก 1 เมตรเป็น 1.4 เมตรก็พอ จะมีประโยชน์มากกว่า และแนวเขตทาง 80 เมตรก็เพียงพอที่ไม่ต้องใช้ที่ดินเพิ่ม”

ส่วนรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้จริงนั้น ต้องเป็นประเทศที่มีความเด็ดขาดในการประกาศเวนคืนที่ดิน ประกาศแผน ประกาศสร้างเสาตอม่อในที่ดินของใครก็ได้ โดยนักการเมืองต้องไม่มาเกี่ยวข้อง ถึงจะทำสำเร็จ

“ในบ้านเรา เอาง่ายๆ ถ้าประชาชนออกมาต่อต้าน ไม่ยอมให้นักการเมืองตัดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่านที่ดินตัวเอง จะทำอย่างไร จะกล้าขัดไหม และยิ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ฐานเสียงในภาคอีสาน นักการเมืองไทยก็กลัวคะแนนเสียงถูกกระทบอยู่ดี” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุ

ที่สำคัญโครงการ 2.2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านตลาดหลักทรัพย์อย่างชัดเจน ส่วนบริษัทใดได้ประโยชน์

...โปรดติดตาม ตอน 2

กำลังโหลดความคิดเห็น