xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันกษัตริย์และประชาชนกับความชอบธรรมของประชาธิปไตยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

แม้ว่าระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบร่วมคือความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถพึ่งพาการใช้พลังความรุนแรงได้ หากผู้บริหารประเทศใช้กำลังบีบบังคับขืนใจประชาชน ความขัดแย้งและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่จะทำให้ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพคือ ความมีประสิทธิผล (effectiveness ของระบอบการเมืองและความชอบธรรม (legitimacy) หรือการยอมรับสิทธิอำนาจในการปกครองอย่างเป็นระบบนั่นเอง

ประสิทธิผลทางการเมืองหมายถึง ระดับผลการปฏิบัติงานที่เป็นจริงของระบอบการเมืองซึ่งประกอบด้วยสถาบันทางการเมืองที่หลากหลาย เช่น รัฐบาล รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระของรัฐ พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ เป็นต้น ว่าสามารถตอบสนองความคาดหวังของสมาชิกส่วนใหญ่ของสังคม หรือความคาดหวังของกลุ่มสมาชิกที่ทรงพลังอำนาจภายในสังคมที่อาจคุกคามต่อระบบ เช่น กองทัพ ได้มากน้อยเพียงใด ความมีประสิทธิผลของระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับความมีธรรมาภิบาลภายในระบบการตัดสินใจและการปฏิบัติงานของรัฐบาลและองค์กรของภาครัฐทั้งมวล

ด้านความชอบธรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมรรถภาพของระบบการเมืองในการสร้างและดูแลรักษาความเชื่อซึ่งดำรงอยู่ในสถาบันทางการเมืองว่ามีความเหมาะสมต่อสังคมได้มากน้อยเพียงใด ความชอบธรรมจึงสะท้อนออกมาโดยการแสดงความยอมรับและปฏิบัติตามระเบียบและกฎเกณฑ์ของสมาชิกในสังคม ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลต่อเนื่องอย่างยาวนาน อาการวิกฤติความชอบธรรมเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกของสังคมส่วนใหญ่ปฏิเสธและท้าทายกฏเกณฑ์หรือการปฏิบัติงานของสถาบันทางการเมือง

การเกิดขึ้นของวิกฤติความชอบธรรมมีอยู่สองลักษณะหลักคือ การเกิดวิกฤติของการเปลี่ยนแปลง กับวิกฤติการเข้าถึงการเมือง วิกฤติของการเปลี่ยนแปลงเป็นปัจจัยรากฐานที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบประชาธิปไตย กล่าวคือระหว่างการเปลี่ยนแปลงไปสู่โครงสร้างสังคมการเมืองใหม่ หากกลุ่มทางสังคมส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเมืองในช่วงต้นของระยะการเปลี่ยนผ่านหรือในช่วงที่มีความต้องการทางการเมือง หรือสถานภาพของสถาบันทางการเมืองดั้งเดิมถูกคุกคามระหว่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง วิกฤติความชอบธรรมของระบบประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นมา

หลังจากโครงสร้างทางการเมืองใหม่ได้รับการสถาปนาขึ้นมา หากระบบใหม่ไม่สามารถประคับประคองความคาดหวังจากกลุ่มอำนาจหลักในสังคมไว้ได้อย่างยาวนานเพียงพอเพื่อพัฒนาความชอบธรรมที่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานใหม่ วิกฤติครั้งใหม่ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาอีก

จากการศึกษาเปรียบเทียบความมีเสถียรภาพของระบบประชาธิปไตยในหลายประเทศโดยศาสตราจารย์แซมมวล ลิบเซ็ท นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ในค.ศ. 1959 พบว่า หากสถานภาพและสัญลักษณ์ของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่สำคัญไม่ถูกคุกคามระหว่างช่วงของการเปลี่ยนผ่าน แม้ว่ากลุ่มนี้อาจสูญเสียอำนาจไปเกือบทั้งหมด ประชาธิปไตยก็ดูเหมือนมีความมั่นคง หลักฐานในการศึกษาบ่งชี้ว่า การเชื่อมโยงระหว่างการดำรงรักษาความชอบธรรมของสถาบันประเพณีดั้งเดิมและประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์กับเสถียรภาพทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย

ความมีเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศในแถบยุโรปเหนือและเครือจักรภพของสหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็รักษาความชอบธรรมเชิงประเพณีที่มีรากฐานจากสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง หากปราศจากสถาบันและประเพณีดั้งเดิมดำรงอยู่ ประชาธิปไตยของประเทศเหล่านั้นอาจไม่พัฒนาไปดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้

การรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ทำให้การเปลี่ยนผ่านสังคมมีความราบรื่นเพราะกลุ่มที่มีความจงรักภักดีทั้งในระดับชนชั้นสูงและชาวบ้านทั่วไป ไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านระบบใหม่ที่รุนแรงมากนัก แต่หากประเทศใดที่ยกเลิกหรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ประชาชนที่ยังเห็นคุณค่าและจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ก็จะปฏิเสธความชอบธรรมของระบบใหม่ ความขัดแย้งและความรุนแรงของสังคมก็จะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

หลายประเทศที่มีการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แทนที่จะมีการพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้ามากขึ้น กลับกลายเป็นว่ามีระบบเผด็จการฟาสซิสต์ขึ้นมาแทน เช่น สาธารณรัฐฝรั่งเศส ประเทศอิตาลี ประเทศสเปนและประเทศเยอรมัน เป็นต้น และกว่าที่ประเทศเหล่านี้จะเข้าสู่การพัฒนาประชาธิปไตยได้ในภายหลัง สังคมมีความขัดแย้งและเกิดการสูญเสียอย่างมากมาย ขณะที่ประเทศในเครือจักรภาพของอังกฤษและประเทศแถบยุโรปเหนือซึ่งรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ กลับมีการเปลี่ยนผ่านสังคมอย่างราบรื่นและมีการพัฒนาระบบประชาธิปไตยได้อย่างต่อเนื่องไม่มีความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงเกิดขึ้น

จากข้อมูลประวัติศาสตร์ของหลายประเทศ ทำให้เราได้ข้อสรุปว่า ความคิดหรือความเชื่อที่ว่าสถาบันกษัตริย์เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยจึงเป็นความเชื่อที่ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง ทั้งในทางความสมเหตุสมผลเชิงตรรกะและความสมจริงเชิงประวัติศาสตร์ ในทางกลับกันสถาบันกษัตริย์กลับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งทางสังคมลดลงและช่วยให้การพัฒนาประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่นมากขึ้น

สำหรับการสูญเสียความชอบธรรมธรรมประเภทที่สองเกี่ยวข้องกับวิถีที่สังคมจัดการกับปัญหา การเข้าสู่การเมือง สังคมใดที่มีการออกแบบระบบการเข้าสู่การเมืองโดยการส่งเสริมหรือเปิดโอกาสให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าถึงอำนาจมากกว่าอีกกลุ่มอื่นๆ หรือไปปิดกั้นกีดกันกลุ่มอื่นๆจากการมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจทางการเมือง โอกาสที่ระบบการเมืองนั้นจะสูญเสียความชอบธรรมมีสูงเป็นอย่างยิ่ง

การออกแบบระบบการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่จะดำรงรักษาความชอบธรรมของระบบเอาไว้ได้ จะต้องคำนึงถึงกลุ่มยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองทุกกลุ่ม โดยจะต้องมีการสร้างช่องทางให้กลุ่มยุทธศาสตร์เหล่านั้นได้เข้าถึงอำนาจทางการเมือง การออกแบบระบบการเมืองโดยการลอกเลียนจากประเทศอื่นอย่างเป็นกลไกและขาดการวิเคราะห์ถึงสภาพความเป็นจริงทางสังคมและโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่ในสังคมนั้น มีแนวโน้มทำให้แบบแผนของระบบการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองขาดความสมดุล และเป็นเชื้อเพลิงของความขัดแย้งที่รอวันปะทุขึ้นมา

ในสังคมไทยหลัง พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา วิกฤติความชอบธรรมของระบบประชาธิปไตยเกิดขึ้นมาและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญคือ ความไร้ประสิทธิผลของสถาบันทางการเมืองทั้งในส่วนของรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง ความไร้ประสิทธิผลดังกล่าวเกิดมาจากการทุจริตฉ้อฉลใช้อำนาจในทางที่มิชอบและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มพลังทางสังคมได้เพียงพอและเท่าเทียม อย่างไรก็ตามระดับของวิกฤติการณ์ยังไม่รุนแรงและสร้างความแตกแยกทางสังคมมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ยังไม่ถูกคุกคามและบั่นทอนจากกลุ่มทุน ทำให้สามารถดำรงความชอบธรรมอย่างสูงในการเชื่อมโยงข่ายใยของสังคมเอาไว้

ระดับความรุนแรงของวิกฤติความชอบธรรมของระบบประชาธิปไตยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังการปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2540 เพราะว่าระบบการเมืองถูกออกแบบให้กลุ่มทุนเข้าถึงอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ และแม้ว่าจะมีการออกแบบให้กลุ่มพลังอื่นๆทางสังคมเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง แต่กลับถูกกลุ่มทุนใช้อำนาจเพื่อกดทับและปิดกั้น มิให้อำนาจของกลุ่มอื่นๆได้มีโอกาสในการแสดงออกมา ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มทุนยังได้รุกล้ำและบ่อนทำลายอาณาบริเวณอำนาจของสถาบันประเพณีดั้งเดิมเพื่อให้การขยายอำนาจในการครอบงำสังคมแผ่ขยายออกไปอย่างไม่จำกัดขอบเขต

กลุ่มพลังสังคมทั้งพลังจากภาคประชาชนและพลังจากประเพณีดั้งเดิมจึงปฏิเสธและไม่ยอมรับการครอบงำอำนาจของกลุ่มทุน และยังรวมไปถึงปฏิเสธระบบการเมืองที่ค้ำจุนอำนาจของกลุ่มทุน การท้าทายอำนาจของกลุ่มทุนจึงนำไปสู่การเกิดวิกฤติความชอบธรรมครั้งใหญ่ของระบบประชาธิปไตยขึ้นมา ต่อมาวิกฤตินี้ก็ขยายตัวออกไปเมื่อกลุ่มทุนได้จัดตั้งมวลชนอุปถัมภ์เพื่อต่อสู้และตอบโต้กลุ่มที่คัดค้านพวกเขา และยังจัดตั้งกลุ่มและขบวนการทางการเมืองเพื่อปฏิบัติงานด้านการบั่นทอนและทำลายคุณค่าของสถาบันดั้งเดิมอย่างเป็นระบบ

เสถียรภาพของระบบประชาธิปไตยไทยจึงถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง หากกลุ่มทุนประสบความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อเปิดทางกลุ่มตนเองเข้าถึงอำนาจทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ปิดกั้นการมีส่วนร่วมในอำนาจของภาคประชาชนและภาคประเพณีดั้งเดิม ก็จะทำให้พวกเขาสามารถยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จทางการเมืองได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งทางสังคมก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

แต่หากกลุ่มทุนยอมปรับตัวและไม่ยึดอำนาจเอาไว้ภายในกลุ่มของตนเองเพียงกลุ่มเดียว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้ความขัดแย้งทางสังคมลดลง และเปิดโอกาสให้ระบบประชาธิปไตยเดินไปในทิศทางที่มีความมั่นคงมากขึ้น

การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมทางอำนาจทางการเมืองอย่างมีประสิทธิผล และการดำรงรักษาคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเงื่อนสำคัญของการสร้างและรักษาความชอบธรรมของระบบประชาธิปไตย อันจะทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพที่ยั่งยืนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น