xs
xsm
sm
md
lg

มายาคติ เรื่อง รถไฟความเร็วสูง เชื่อมไทยสู่โลกที่สถานีไหน ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มายาคติ หรือ Myth หมายถึง ความเชื่อ ทัศนคติ ที่เป็นมายา หรือ ความเชื่อ ที่ไม่เป็นความจริง เรื่องโกหก ที่คนเชื่อกันว่า เป็นเรื่องจริง

คนไทยจำนวนมากมีมายาคติว่า น้ำหวาน สีเหลืองๆคล้ายน้ำชา คือชาเขียว ที่คนญี่ปุ่นดื่มเป็นประจำ หรือน้ำผสมสารปรุงแต่งรสชาติ ที่เรียกกันว่าซุปไก่ ซุปรังนกฯลฯ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มายาคติเช่นนี้ ทำให้ผู้ผลิตน้ำหวานที่เรียกว่าชาเขียว และซุปไก่ ซุปรังนก ร่ำรวยจากการขายสินค้าเหล่านี้ ปีละหลายพันล้านบาท ต่อเนื่องกันมาหลายปี

ประเทศที่ประชาชนจำนวนมากเชื่อว่า น้ำ ใส่สารให้ความหวานคือชาเขียว ที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่ม หรือเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้ปกครองจะสร้างมายาคติ ให้ประชาชน หลงเชื่อในเรื่องโกหก ที่รัฐบาลต้องการให้เชื่อ เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง

มายาคติ เรื่องล่าสุด ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อจากเรื่อง จำนำข้าว รถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย โครงการเมกะโปรเจ็คป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ฯลฯ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง

ตลอดระยะเวลา 1 ปีเศษที่ผ่านมา โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง แทบทุกสัปดาห์ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร ( สนข.) สลับกันให้ข่าวความคืบหน้าของ การผลักดันโครงการ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ และเชื่อว่า ประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นแน่

จนมาถึง การจัดนิทรรศการ Thailand 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ระหว่างวันที่ 8-12 มีนาคม และขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 16 มีนาคม โดยอ้างว่า มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก ไฮไลท์ สำคัญของงานนี้ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง

นิทรรศการนี้ ซึ่งใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท ถูกนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดึงไปให้บริษัทจัดอีเวนท์ และประชาสัมพันธ์ในสังกัดของตน เป็นผู้จัดงาน เกิดขึ้นในช่วงที่ รัฐบาลกำลังผลักดัน พรบ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านสภาฯ นิทรรศการนี้ จึงถูกจัดขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับ กฎหมายฉบับนี้ ที่ออกมาเพื่อให้รัฐบาลกู้เงิน โดยไม่ต้องชี้แจงรายละเอียดว่า กู้ไปทำอะไร และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายค้าน เหมือน การกู้เงิน ในกฎหมายงบประมาณปกติ โดยเอาเรื่อง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง มาเป็นข้ออ้างถึงความจำเป็น

ก็เหมือนกับ เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลต้องการกู้เงิน โดยไม่ผ่านสภา ฯ โดยการออกพระราชกำหนด กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในระบบป้องกันน้ำท่วม โดยอ้างว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน และมีการจัดนิทรรศการ ในลักษะนี้เช่นกัน ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว

แต่เวลาผ่านไปเกือบปีแล้ว โครงการป้องกันน้ำท่วมที่อ้างว่า จำเป็นเร่งด่วน ไม่มีรายละเอียดของแต่ละโครงการว่า เป็นอย่างไร มีแต่การเปิดประมูลให้บริษัทต่างชาติเข้ามาเสนอแผนการป้องกันน้ำท่วมให้กับประเทศไทย เงินกู้ที่ขอไว้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องกู้ให้ครบ ภายในเดือนมิถุนายนนี้ มีการกู้ไปใช้เพียงไม่กี่หมื่นล้านบาท

ทั้ง พรก. เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนระบบน้ำ และ พรบ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในที่สุดแล้ว ต่าง มีวาระแอบแฝงเหมือนกันคือ เพื่อหลีกเลี่ยง การตรวจสอบ การใช้เงินของรัฐสภา อันเป็นกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลของตระกูลชินวัตร ต้องการเอาเงินมากองไว้กับตัวก่อน จะใช้อะไรค่อยคิดอีกที โดยอ้างเอาโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติขึ้นบังหน้า

โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สาย ใช้งบประมาณในการลงทุน 1.64 ล้านล้านบาท เท่ากับ 82 % ของเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะเริ่มประมูลได้ภายในปีหน้า และจะเปิดใช้สายแรกประมาณปี 2562 

มายาคติเรื่องรถไฟความเร็วสูงนี้ ทำให้คนไทยจำนวนมากฝันว่า อีก 6 ปีจะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงไปถึงเชียงใหม่ โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง ไปถึงหัวหินและโคราชในเวลาชั่วโมงเดียว

โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สายนี้ ประกอบด้วย 1. สายกรุงเทพ- เชียงใหม่ 2. สายกรุงเทพ โคราช 3. สายกรุงเทพ- พัทยา และ4. สายกรุงเทพ- หัวหิน

พิจารณาดูจุดหมายปลายทางของทุกสายแล้ว ไม่เห็นว่า จะเชื่อมไทยสู่โลก หรือทำให้เกิด Conectivity กับอาเซียน ซึ่งเป็นคำที่นายกรัฐมนตรีท่องจนขึ้นใจได้ที่สถานีไหนเลย

เส้นทางสายเหนือที่สิ้นสุดที่เชียงใหม่ไม่ต่อไปให้ถึงเชียงราย เพื่อเชื่อมกับจีน จะทำให้ความฝันของนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ฝันว่า รถไฟความเร็วสูงจะทำให้การเดินทางไปจีนใช้เวลาเพียง 3-4 ชั่วโมง สามารถเดินทางไปยุโรปได้ใน 4 วัน เป็นจริงได้อย่างไร เพราะเมื่อลงรถไฟความเร็วสูงที่เชียงใหม่แล้ว หากจะเดินทางไปจีน ต้องนั่งเครื่องบิน หรือรถยนตร์ไปอีก หลายชั่วโมง

เส้นทางสายอีสานที่ไปสิ้นสุดที่โคราช ไม่ไปให้ถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงของลาวที่ต่อไปยังจีนได้ จะมีประโยชน์อะไร เพราะปัจจุบัน การเดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพ ถึงโคราชใช้เวลาไม่ถึง สองชั่วโมง และกรมทางหลวง กำลังจะสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน โคราช ซึ่งจะยิ่งทำให้ รถไฟความเร็วสูง สายนี้ เป็นการลงทุนทีสูญเปล่า

เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำเรื่องนี้ ไปเย้ยหยันบนเวทีผ่าความจริง ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 มีนาคมว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล จะสร้างให้ถึงหนองคายเลย ทำให้อีกสองวันต่อมา นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเงินกู้ 2.ล้านล้านบาท ให้ตระกูลชินวัตร ต้องออกมายืดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากเดิมที่ไปถึงโคราช ให้ไปถึงหนองคายบ้าง 

การกำหนดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง4 สายนี้ ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมือปลายเดือนกุมภาพันธ์ และเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนถึง 82 เปอร์เซ็นต์ ของเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนได้เลยนี้ เป็นตัวอย่างง่ายๆ แต่ชัดเจนที่สุดว่า รัฐบาลไม่ได้ มีแผนการลงทุนที่ชัดเจนในเรื่องรถไฟความเร็วสูงแต่อย่างใดเลย การลงทุนทำโครงการรถไฟความเร็วสูง แม้เพียงเส้นเดียว ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องศึกษาความเป็นไปได้ ในเรืองต่างๆอีกมาก ซึ่งรัฐบาลยังไมได้ทำ แต่เอาเรื่องนี้มาหลอกประชาชนว่า อีก หก ปี คนไทยจะนั่งรถไฟความเร็วสูง เพราะต้องการกู้เงินนอกงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ไปกองไว้ที่หน้าตัก

แนวความคิดเรื่องการลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูง เป็นสินค้าส่งออกของประเทศจีน ที่เสนอโครงการร่วมลงทุน ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกับประเทศไทยและลาว เพื่อเปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้สู่มหาสมุทรอินเดีย ผ่านลาวและไทย และเพื่อขายเทคโนโลยี่ รวมทั้งรถไฟ ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีการร่วมลงนามในข้อตกลงว่า ไทยกับจีนจะร่วมทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางคือ จากหนองคายมาถึงกรุงเทพ ซึ่งจะเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงที่จีนจะสร้างจากมณฑลยูนนาน ผ่านประเทศลาว อักเส้นทางหนึ่งคือ จากกรุงเทพลงใต้ไปถึงปาดังเบซาร์ เพื่อเชื่อมต่อเข้ามาเลเซีย และไปยังสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟความเร็วสูงในลาว หยุดชะงักลงไประยะหนึ่ง เพราะรัฐบาลลาวเห็นว่า จีน เอาเปรียบมากเกินไป คือ จะขอกรรมสิทธิ์ในที่ดินสองข้างทางรถไฟ ในระยะห่างจากทางรถไฟนับร้อยกิโลเมตร รัฐบาลลาวและจีนเพิ่งจะตกลงกันได้ และมีการเซ็นสัญญาร่วมลงทุนอย่างเป็นทางการ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง

ในส่วนของประเทศไทยไทย หลังจากการเซ็นเอ็มโอยู ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ไม่มีความคืบหน้าใดๆ มาถึงสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โครงการรถไฟความเร็วสูงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจาณา และมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง โดยเพิ่มเส้นทางกรุงเทพ เชียงใหม่เข้าไป

โครงการรถไฟความเร็วสูงที่จีนเสนอนั้น ความจริงแล้ว ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูงที่วิ่งด้วยความเร็วมากกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เหมือนรถไฟ อีจีวี ในยุโรป รถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่น หรือรถไฟความเร็วสูงของจีน หากแต่เป็น โครงการรถไฟรางคู่ ที่วิ่งด้วยความเร็ว 160 -200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับขนทั้งผู้โดยสารและสินค้า เพราะรถไฟความเร็วสูงมีต้นทุนค่าก่อสร้างสูงมาก ยิ่งเร็ว และวิ่งไกลมากเท่าไร การก่อสร้างก็จะแพงขึ้น เหมาะสำหรับ การวิ่งในระยะทางสั้นๆ ที่สะดวก และประหยัดกว่าเดินทางโดยเครื่องบิน

แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย ในยุครัฐบาลยิ่งลักษ์ณ โครงการรถไฟรางคู่กลับกลายเป็นรถไฟความเร็วสูง ที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปได้

รถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศเช่นที่ยุโรป และญี่ปุ่นนั้น เกิดขึ้นเพราะบริการรถไฟที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถรองรับความต้องการได้ จึงมีการลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงขึ้นในบางเส้นทาง เส้นทางรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศนั้น มีชุมชนที่หนาแน่น เป็นเมืองใหญ่ กระจุกอยู่สองข้างทางรถไฟอยู่ก่อนแล้ว มีจำนวนผู้โดยสารที่มีฐานะเศรษฐกิจดี หรือเป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถที่จะจ่ายค่าโดยสารซึ่งมีราคาแพงมากได้

ในประเทศไทย วิธีคิดในการทำโครงการรถไฟความเร็วสูง กลับหัวกลับหางกับประเทศอื่นๆ คือ ไม่มี การวิเคราะห์ความต้องการว่า มีอยู่จริงเท่าไร คุ้มกับการลงทุนหรือไม่ แต่กลับเอาความต้องการที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงมาเป็นตัวตั้ง แล้วหาเหตุผลมารองรับความจำเป็นที่จะต้องสร้าง เช่น การอ้างถึง การลดต้นทุนค่าขนส่ง ทั้งๆที่ รถไฟความเร็วสูง ใช้สำหรับขนคน ไม่ใช่ขนสินค้า เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง การอ้างถึงความเจริญ ชุมชนที่จะเกิดขึ้นในที่ๆรถไฟความเร็วสูงแล่นผ่าน การอ้างผลการศึกษาว่า ต้นทุนในการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง ตก กิโลเมตรละ 2 .50 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลอยๆ ไม่รู้ว่า อ้างอิงจากสมมติฐานใด จริงหรือไม่ ไม่มีใครรู้ แต่ต้องการทำให้เห็นว่า รถไฟความเร็วสูงไม่แพง

ประเทศไทย มีเมืองใหญ่เมืองเดียวคือ กรุงเทพ ทีมีประชากรมากกว่า 5 ล้านคน ไม่เหมือนญี่ปุ่น จีน หรือยุโรป ที่มีเมืองใหญ่ๆ อยู่ตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ลองจินตนาการดูว่า เส้นทางจากกรุงเทพ ไปเชียงใหม่ แต่ละสถานีที่เป็นจังหวัดใหญ่ๆ ช่น อยุธยา นครสวรรค์ พิจิตร เด่นชัย ลำปางฯลฯ จะมีผู้โดยสารขึ้นลงที่สถานีเหล่านี้สักกี่คน และวันหนึ่ง รถไฟความเร็วสูงสายนี้ จะวิ่งกี่เที่ยว จำนวนผู้โดยสารจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่

ข้อมูลเหล่านี้ คือ สิ่งที่รัฐบาลไม่รู้ ตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้ศึกษา อยากจะสร้างอย่างเดียว

ประเทศไทยไม่ต้องการรถไฟความเร็วสูง แต่ต้องการรถไฟที่มีความเร็วมากกว่ารถไฟในปัจจุบัน คือ วิ่งด้วยความเร็ว 120-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากทุกวันนี้ที่วิ่งได้เร็วที่สุดๆไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการสร้างรถไฟรางคู่ ขนาดกว้างเท่าเดิมคือ 1 เมตร ปรับปรุงหัวรถจักร ตู้รถไฟ ระบบอาณัต สัญญาณ ระบบการบริหารจัดการ

การรถไฟแห่งประเทศไทย มีแผนทำโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ มีการศึกษาความเป็นไปได้ มีการทำแผนกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว ใช้งบประมาณราวๆ1-2 แสนล้านบาท โครงการนี้ รอเสนอ ครม. อยู่หลายปี มาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรววงคมนาคม คนที่แล้ว พลตำรวจโทรชัจจ์ กุลดิลก สั่งให้ยุติโครงการรถไฟรางคู่ เพราะจะเอาเงินไปสร้างรถไฟความเร็วสูงแทน 

คนไทยคงฝันเรื่องรถไฟความเร็วสูงไปอีกพักใหญ่ จนกว่า พรบ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะผ่านสภาฯ และรัฐบาลหาเรื่องใหม่มาโกหกแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น