xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.หวังรายได้ทรัพย์สินช่วยจ่ายบำเหน็จบำนาญเผยภาระอีกกว่า 6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ” สั่ง “ร.ฟ.ท.” ทำแผนบริหารทรัพย์สินประเมินมูลค่าที่ดินและประมาณการณ์รายได้เพื่อนำไปจ่ายค่าบำเหน็จบำนาญพนักงานที่ค้างจ่ายกว่า 2 พันล้าน และภาระในอนาคตอีก 6-7 หมื่นล้าน ให้เวลา 2 สัปดาห์ ยันแผนไม่ชัดจะไม่เสนอ ครม.ให้อุดหนุน ด้าน ร.ฟ.ท.ที่แปลงใหญ่ต้องร่วมทุนช่วงแรกผลตอบแทนไม่สูงหวังแปลงที่รอต่อสัญญารอบสองสร้างรายได้มากกว่า ส่วนที่ดินตามแนวรถไฟความเร็วสูงต้องชะลอทำสัญญาเช่าจนกว่าแนวและสถานีจะชัดเจน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ได้สั่งให้นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งทำแผนการบริหารจัดการทรัพย์สินซึ่งร.ฟ.ท.จะต้องสำรวจที่ดินทั่วประเทศว่ามีทั้งหมดกี่แปลง พร้อมกับประเมินมูลค่าและรายได้ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากนโยบายต้องการให้นำรายได้จากทรัพย์สินมาจ่ายค่าค่าบำนาญของพนักงาน ร.ฟ.ท. ซึ่งค้างจ่ายกว่า 2 พันล้านบาท และยังมีภาระที่ต้องจ่ายในอนาคตคิดเป็นเงินอีกประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท โดยให้เสนอแผนมายังกระทรวงคมนาคมภายใน 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ เห็นว่าที่ดินรถไฟทั่วประเทศมีจำนวนมาก แต่ไม่มีแผนการใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ที่ชัดเจน โดยหลักการที่ต้องการนำรายได้จากทรัพย์สินไปจ่ายเงินบำนาญ เพื่อลดภาระของภาครัฐ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องขอกู้เงินมาโดยตลอด เบื้องต้นเชื่อว่าจะเพียงพอแน่นอนโดยเฉพาะที่ดินแปลงใหญ่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน

“การจ่ายค่าบำเหน็จบำนาญมีข้อตกลงและผูกพันกันไว้ ไม่ให้ไม่ได้ เพราะถือเป็นเรื่องที่ต้องตอบแทนพนักงาน โดยตามข้อตกลงพนักงานจะได้รับ 30 เท่าของเงินเดือน แบ่งจ่ายล่วงหน้าในช่วงที่มีชีวิต 15 เท่าและเมื่อเสียชีวิตอีก 15 เท่า ทำให้ในขณะนี้ ร.ฟ.ท.มีค่าบำเหน็จค้างจ่ายประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีภาระเฉลี่ยอีกประมาณ 60-70 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากไม่ทำแผนการใช้ทรัพย์สินมาก็จะยังไม่เสนอ ครม.เพื่อขออุดหนุนค่าบำนาญค้างจ่ายให้” นายชัชชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้มีการแก้ระเบียบโดยพนักงานที่เข้าทำงานหลังปี 2542 จะไม่ได้รับแล้ว แต่ ร.ฟ.ท.ยังต้องมีภาระจ่ายให้พนักงานที่เข้าทำงานก่อนปี 2542 ซึ่งคาดว่าจะหมดอย่างช้าปี 2582 หากนับตามอายุเกษียณ

นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. หน่วยธุรกิจการบริหารทรัพย์สินกล่าวว่า ขณะนี้ที่ดินที่จะสร้างรายได้มีไม่มากเพราะที่ดินที่อยู่สองข้างทางแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ยังต้องชะลอการให้เช่าทั้งหมด ตามนโยบายเพื่อรอความชัดเจนของแนวเส้นทางและที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูง เช่น หัวหิน ขอนแก่น เนื่องจากหลังกำหนดจุดสถานีชัดเจนแล้ว จะกระทบผังเมืองและมูลค่าทรัพย์สินและค่าเช่าจะปรับเปลี่ยนไปด้วย

ส่วนที่ดินที่ไม่ได้อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงนั้นสามารถดำเนินการได้ทันที มี 2 ส่วนคือ ที่ดินแปลงใหญ่ เช่น ที่ดินย่านมักกะสัน พื้นที่ 512 ไร่ ย่านพหลโยธิน บริเวณ กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ ย่านสถานีแม่น้ำ พื้นที่ 277 ไร่ จะมีการประกวดราคาหาเอกชนมาร่วมลงทุน ซึ่งในระยะแรกลงทุนสูงผลตอบแทนจึงยังไม่มากนัก ส่วนที่ดินแปลงใหญ่ที่ทำสัญญาไปแล้ว และรอครบกำหนดเพื่อต่อสัญญารอบสอง เช่น บริษัท ปตท. โรงแรมโซลทวิน, โรงแรมโซปิเทล หัวหิน เป็นต้นนั้น ถือเป็นที่ดินที่จะสร้างรายได้มากกว่า เพราะจะมีการประเมินมูลค่าที่ดินใหม่ และทรัพย์สินจะเป็นของ ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการต่อสัญญาเช่าของห้างเซ็นทรัลกว่า 47 ไร่ย่านสามเหลี่ยมพหลโยธิน
กำลังโหลดความคิดเห็น