xs
xsm
sm
md
lg

สนข.คาดปี 61-62 รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่เกิด เดินหน้าชี้แจง-รับฟังความเห็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สนข.จัดรับฟังความเห็นโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชียงใหม่ แจงเตรียมออกแบบภายใน เม.ย. ส่วนการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ระยะ “กรุงเทพฯ-พิษณุโลก/พิษณุโลก-เชียงใหม่” คาดปลายปี 61 ไม่เกินต้นปี 62 ได้ใช้แน่ รับต้องชี้แจงข้อมูล-รับฟังความคิดเห็นเพราะโครงการกระทบหลายด้านทั้งสิ่งแวดล้อม-วิถีชีวิต แต่เชื่อประชาชนเห็นด้วย

วันนี้ (22 ม.ค.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขึ้น ณ ห้องอิมพีเรียลบอลรูม โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และภาคประชาชนจากจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และสุโขทัยเข้าร่วม

การสัมมนารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้มีขึ้นเพื่อนำเสนอแผนการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงและขอบเขตการดำเนินงานของโครงการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน หลังจากที่รัฐบาลได้เตรียมที่จะเร่งรัดพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและการขนส่งของประเทศ โดยกำหนดให้เส้นทางรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในเส้นทางเร่งด่วน โดยในการสัมมนาได้มีการนำเสนอถึงศักยภาพของรถไฟความเร็วสูงและประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งชี้แจงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการก่อสร้างและพัฒนาเส้นทางด้วย

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวให้ประชาชนได้รับทราบแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงที่จะเริ่มเดินหน้าโครงการอย่างจริงจัง โดยรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ ซึ่งจะเริ่มทำการออกแบบ ควบคู่ไปกับชี้แจงข้อมูลของโครงการและการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยในส่วนของเส้นทางระยะที่ 1 จะมีกระบวนการคัดเลือกผู้ออกแบบภายในเดือน มี.ค. และคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติงานได้ในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้

นายจุฬากล่าวว่า การที่แยกเส้นทางออกเป็น 2 ระยะนั้น เนื่องจากเส้นทางช่วงตั้งแต่ จ.อุตรดิตถ์ถึง จ.เชียงใหม่นั้นจะเข้าสู่พื้นที่สูง จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการออกแบบ ดังนั้นจึงแยกเส้นทางออกเป็น 2 ระยะเพื่อความสะดวกในการดำเนินการ โดยรัฐบาลได้จัดตั้งงบประมาณผ่านพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังในการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการ ซึ่งได้ประมาณการงบประมาณทั้งระบบในเบื้อต้นไว้ที่ 378,000 ล้านบาท และคาดว่าภายในปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่จะสามารถใช้งานได้ตลอดทั้งสาย

ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้างนั้น นายจุฬากล่าวว่าจะมีทั้งการศึกษาเรื่องที่ตั้งของสถานีย่อย การออกแบบสถานีผู้โดยสาร รวมถึงระบบคมนาคมที่จะนำมารองรับในพื้นที่ต่อจากรถไฟความเร็วสูง ขณะที่ด้านการลงทุนนั้นก็มีทางเลือกหลายทาง ทั้งการลงทุนโดยรัฐบาลเองทั้งหมด การลงทุนโดยเปิดให้ต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมหรือจะดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในแง่ของการพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานีรถไฟความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม การจะตัดสินใจเลือกแนวทางใดนั้นจะต้องพิจารณาจากการอออกแบบ ระบบของรถที่จะเลือกใช้ ผลประโยชน์ที่จะได้รับ รวมทั้งผลกระทบต่อประชาชน

นายจุฬาระบุด้วยว่า ในส่วนของการจัดหารายได้นั้นจะไม่ได้ยึดเฉพาะรายได้จากค่าโดยสารเท่านั้น เนื่องจากค่าโดยสารเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อต้นทุนทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องมีการหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่รอบๆ บริเวณสถานีรถไฟด้วย เพื่อที่จะสามารถควบคุมราคาค่าโดยสารไม่ให้สูงเกินกว่าที่ประชาชนส่วนใหญ่จะสามารถใช้บริการได้ ขณะเดียวกันการพัฒนาพื้นที่จะต้องคำนึงเรื่องการเติบโตของเมืองควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ด้วย

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรกล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากหากมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะส่งผลกระทบทั้งต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางรถไฟผ่าน ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นที่ จ.พิษณุโลกเมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากมองว่าจะส่งผลดีต่อประเทศในหลายๆ ด้าน โดยหลังจากนี้จะมีการลงไปชี้แจงข้อมูลถึงในระดับตำบลและหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้ว่าจะถือเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรเพราะการก่อสร้างจะกระทบวิถีชีวิตของคนเป็นจำนวนมากก็ตาม

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีระยะทางประมาณ 680 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยรถไฟแต่ละเที่ยวจะสามารถขนผู้โดยสารได้ประมาณ 800 คน และมีสถานีตลอดเส้นทาง 12 สถานี ขณะที่ราคาค่าโดยสารในเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ประมาณ 1,700-2,000 บาทต่อเที่ยวต่อคน

กำลังโหลดความคิดเห็น