xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คค.คาดเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง กทม.-ภาชีอีก 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานเสวนาพิเศษเรื่อง Hi-speed Thailand โอกาสธุรกิจในยุคความเร็วสูงว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะหากดำเนินการได้จะช่วยให้ไทยก้าวกระโดด ทั้งในเรื่องของการพัฒนาประเทศ การสร้างคน และการสร้างเทคโนโลยี แต่การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อันตราย เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะมีความรุนแรงมากกว่าการใช้ความเร็วปกติ
ทั้งนี้เส้นทางแรกที่จะดำเนินการก่อสร้าง คือ กรุงเทพฯ-ภาชี ระยะทาง 82 กิโลเมตร โดยจะเปิดให้บริการได้ภายใน 5 ปี จากเส้นทางทั้งหมดที่จะก่อสร้างคือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งจะก่อสร้างระยะที่ 1 ก่อนคือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 342 กิโลเมตร กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 256 กิโลเมตร และกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กิโลเมตร เป็นต้น โดยรวมระยะทางของรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ประเทศไทยจะมีทั้งหมด 2,563 กิโลเมตร ในงบประมาณ 9.7 แสนล้านบาท
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณในการลงทุนก่อสร้างเฉลี่ย 500 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ต่ำกว่าประเทศญี่ปุ่นที่ใช้งบลงทุนเฉลี่ย 1,200 ล้านบาทต่อกิโลเมตร แต่สูงกว่าประเทศจีน ที่ใช้งบลงทุน 200-300 ล้านบาทต่อกิโลเมตร สาเหตุที่ใช้งบลงทุนไม่เท่ากัน เนื่องจากมีพื้นที่การก่อสร้างไม่เหมือนกัน บางพื้นที่จะต้องเจาะอุโมง ทางลอด และเชื่อมต่อต่างๆ เป็นต้น ส่วนอัตราค่าบริการเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 2.1-2.7 บาทต่อกิโลเมตร อาจจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มร้อยละ 5 ทุก 5 ปี หรือจะส่งผลให้เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ มีอัตราค่าบริการประมาณ 1,200 บาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความเร็วรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาให้บริการจะอยู่ที่ 250-300 กิโลเมตร จะไม่เน้นความเร็วสูงมากนัก เพื่อให้มีความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งความเร็วสูงในระดับนี้จะเหมาะสมกับประเทศไทยที่มีระยะทางรถไฟความเร็วสูงแต่ละเส้นทางประมาณ 200-900 กิโลเมตร หากความเร็วมากกว่านี้คงจะไม่เหมาะสม ส่วนรูปแบบของรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาให้บริการจะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่กำหนดให้ทุกโบกี้เป็นความเร็วสูง จะไม่ใช้หัวรถจักรความเร็วสูงมาลากโบกี้รถไฟ
นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงคมนาคมยังเตรียมรูปแบบการให้บริการอาหารที่เสิร์ฟบนรถไฟให้เป็นในลักษณะของปิ่นโต ซึ่งคล้ายกับญี่ปุ่นที่ให้บริการที่เรียกว่า เบนโตะด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้นำทดลองออกมาเสิร์ฟในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาสินค้าของไทยแล้ว ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วย เพราะจะเป็นการนำอาหารไทยมาทำเป็นปิ่นโต เช่น น้ำพริกปลาร้า หรือไส้อั่ว เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น