xs
xsm
sm
md
lg

จีนส่งพิมพ์เขียว “รถไฟความเร็วสูง” พร้อมลงทุนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 3 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชัชชาติ” เผยหารือจีนเสนอลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วงเงิน 3 แสนล้าน ชูความเร็วที่ 250-300 กม./ชม.เพราะเน้นขนส่งผู้โดยสาร ค่าโดยสาร 2.1-2.5 บาท/กม. และปรับแบบก่อสร้างเจาะเขาทำอุโมงค์เพื่อย่นระยะทางและเลี่ยงออกนอกเมืองลดผลกระทบโบราณสถาน ส่วนคมนาคมเตรียมปรับแบบสถานีบางซื่อเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง พร้อมเปิดประมูลแบบนานาชาติปีหน้า

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารร่วมในระดับรัฐมนตรีดำเนินงานความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (JSC) ครั้งที่ 2 วานนี้ (6 ธ.ค.) ว่า จีนได้เสนอผลศึกษาการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ค่าก่อสร้างประมาณ 3 แสนล้านบาท ใน 2 รูปแบบ คือ ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำหนดค่าโดยสารที่ 2.1 บาทต่อคนต่อกิโลเมตร และความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งค่าก่อสร้างจะสูงกว่าประมาณ 9% กำหนดค่าโดยสาร 2.5 บาทต่อคนต่อกิโลเมตร ทำให้มีรายได้มากกว่า 20% เพราะต้องการเน้นผู้โดยสารเป็นหลัก

ทั้งนี้ ทางจีนต้องการให้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-ภาชี ระยะทางประมาณ 54 กิโลเมตรก่อนเพื่อทดสอบระบบการให้บริการ โดยชุมทางภาชีจะเป็นสถานีร่วมของรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางสายเหนือ และสายอีสานด้วย โดยจีนจะปรับรูปแบบการก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ช่วงที่มีความคดเคี้ยวตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ขึ้นไป โดยเจาะช่องเขาสร้างเป็นอุโมงค์ ซึ่งนอกจากทำให้วิ่งเร็วขึ้นแล้วยังลดระยะทางลงจาก 740 กิโลเมตรเหลือ 680 กิโลเมตร และปรับแนวเส้นทางช่วงที่ผ่านโบราณสถานจังหวัดลพบุรีเลี่ยงออกนอกเมือง ซึ่งในส่วนของไทยได้ให้ที่ปรึกษาปรับแนวเส้นทางเช่นกัน

ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กิโลเมตร กำหนดให้วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง งบประมาณ 1.98 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ที่อัตราค่าโดยสาร 2.1 บาทต่อคนต่อกิโลเมตร หากให้ความเร็วถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะคิดค่าบริการ 2.5 บาทต่อคนต่อกิโลเมตร โดยจีนได้แจ้งว่ารถไฟความเร็วสูงส่วนที่อยู่ในประเทศลาวจะเริ่มก่อสร้างได้ในอีก 1 ปี ใช้ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อประเทศไทยก่อสร้างแล้วเสร็จก็สามารถเชื่อมต่อไปถึงประเทศจีน รวมถึงมาเลเซียได้ในอนาคต

นายชัชชาติกล่าวว่า จะมีการปรับแบบก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อด้วย เนื่องจากแบบในปัจจุบันไม่ได้รองรับรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นไปได้ที่จะต้องสร้างสถานีเฉพาะรถไฟความเร็วสูงหรือเพิ่มชานชาลาในตัวสถานีเดิม โดยให้รถไฟความเร็วสูงอยู่ชั้น 3 ส่วนรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟอื่นๆ อยู่ชั้น 2 ซึ่งการปรับแบบจะไม่กระทบกับที่ได้ประกวดราคาสถานีกลางบางซื่อไปแล้ว เพราะเป็นการปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทั้งฝ่ายจีนและไทยจะมีความร่วมมือในเรื่องการฝึกอบรมบุคลากร การจัดนิทรรศการแสดงรูปแบบรถไฟความเร็วสูงในปี 2556 และคาดว่าจะเปิดประกวดราคาแบบนานาชาติให้ทุกประเทศที่สนใจเข้าร่วมดำเนินโครงการได้ประมาณไตรมาส 3-4 ในปี 2556

สำหรับผลการศึกษาของจีนเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 677.67 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 317,185 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี (2557-2562) เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี (2557-2559) เฟส 2 ช่วงบ้านภาชี-เชียงใหม่ (2559-2562) ปริมาณผู้โดยสาร ในปี 2563 ที่เปิดบริการประมาณ 36,108 คน/วัน (เฉพาะช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี ประมาณ 24,191คน/วัน ) ระบบตัวรถ EMU (8 คัน) ความจุผู้โดยสาร 600 คน/ขบวน ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ 13.74% รูปแบบการลงทุน การร่วมทุนภาครัฐ-เอกชน (PPP)

เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 524.76 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 203,730 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (2559-2562) ปริมาณผู้โดยสาร 31,917 คน/วัน ในปี 2563 ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ 14.99% การให้บริการขนส่งสินค้า (ในปี 2563 ที่เปิดบริการ) ช่วงแก่งคอย-ขอนแก่น รองรับการให้บริการ 12 ขบวนต่อวัน ช่วงขอนแก่น-หนองคาย รองรับการให้บริการ 14 ขบวนต่อวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น