“จารุพงศ์” ยันไม่ล้มประมูลสีแดง สั่งเซ็นสัญญาผู้รับเหมาแบบปลายเปิดให้สามารถแก้รายละเอียดขนาดรางภายหลังได้ สั่ง ร.ฟ.ท.จัดเวิร์กชอปเปลี่ยนรางรถไฟจากขนาด 1 เมตรเป็น 1.435 เมตร สรุปใน 2 สัปดาห์ เน้นใช้รางเก่าให้คุ้มค่า โครงการใหม่มุ่ง1.435 เมตร “ชัชชาติ” ชี้ประเทศไทยต้องมีรางทั้ง 2 แบบ เล็งปรับแอร์พอร์ตลิงก์และรถไฟความเร็วสูงใช้โครงสร้างเดียวกันลดค่าก่อสร้าง
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมยังยืนยันเดินหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และจะไม่ยกเลิกการประกวดราคา สัญญาที่ 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง) และสัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) โดยมอบหมายให้ ร.ฟ.ท.จัดประชุมเวิร์กชอป ภายในสัปดาห์หน้าเพื่อหาข้อสรุปในการเปลี่ยนขนาดราง จากเดิมที่ออกแบบเป็นขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) เป็นขนาด 1.345 เมตร (Standard Gauge) ของสายสีแดง และระบบรางของรถไฟทั่วประเทศทั้งหมดซึ่งจะมีทั้งโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าความเร็วสูง ทั้งในเรื่องการลงทุน ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านจากรางเก่า 1 เมตรไปสู่รางใหม่ 1.435 เมตร โดยหลักการคือจะต้องใช้ประโยชน์ทางและรางเก่าที่มีอยู่ให้มากที่สุด ส่วนทางใหม่จะมุ่งไปที่ขนาด 1.435 เมตร
ทั้งนี้ รถไฟสายสีแดงนั้น สัญญา 1 มีความสำคัญเพราะมีสถานีกลางบางซื่อรองรับรถไฟได้ 21 ขบวน และประมูลไปแล้ว ซึ่งหากต้องมีการปรับขนาดรางเป็น 1.435 เมตร ร.ฟ.ท.จะต้องลงนามสัญญากับผู้รับเหมาเป็นสัญญาปลายเปิดที่สามารถปรับแก้รายละเอียดได้ภายหลัง และจะต้องไม่ให้เกิดปัญหาถูกผู้รับเหมาที่ร่วมประมูลรายอื่นฟ้องร้องได้ และการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะต้องไม่กระทบทำให้โครงการล่าช้า และหากงบประมาณก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นต้องไม่เกิน 10%
“การเปลี่ยนรางรถไฟทั่วประเทศจาก 1 เมตรเป็น 1.435 เมตรเป็นเรื่องใหญ่ ใช้เงินไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท และใช้เวลาหลายปี ดังนั้นต้องพิจารณาอย่างสุขุมรอบคอบ คำนึงถึงประโยชน์สูงสุด หมายความว่ารางเก่า 1 เมตรที่มีก็ยังต้องดูแลและใช้งานต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนโครงการใหม่ๆ น่าจะเป็นขนาด 1.435 เมตรเพื่อเชื่อมกับจีนได้ โดยให้สรุปความชัดเจนใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งจะพอดีกับที่สัญญา 1 จะเซ็นสัญญากับผู้รับเหมา
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องมีรางทั้ง 2 ระบบ คือ 1 เมตร และ 1.435 เมตร ซึ่งการเวิร์กชอปจะทำให้เห็นภาพและตัดสินใจได้ ส่วนสายสีแดงนั้นออกแบบรางไว้ 1 เมตร โดยมีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือ เป็นรถไฟฟ้าชานเมือง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และรถไฟทางไกล โดยโครงสร้างยกระดับข้ามจุดตัดถนนมาที่บางซื่อ ซึ่งจะต้องดูความจำเป็น กรณีที่ทับซ้อนกับโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง) ซึ่งเฉพาะช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองเป็นแนวเส้นทางที่มีค่ามากเพราะเป็นทางหลักเชื่อมภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเข้า กทม. มีทางรถไฟ 7 ทาง คือ สายสีแดง (1 เมตร) 3 ทาง แอร์พอร์ตลิงก์ (1.435 เมตร) 2 ทาง และรถไฟฟ้าความเร็วสูง (1.435 เมตร) 2 ทาง ส่วนสถานีบางซื่อมี 24 ทาง รองรับเฉพาะรถไฟทางไกลถึง 12 ทาง
“ก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดที่จะใช้บ้านภาชีเป็นชุมทางรถไฟทางไกลเข้ามาแค่นั้นจากนั้นให้ผู้โดยสารต่อระบบรถไฟฟ้าเข้าเมือง หรือดูว่าแอร์พอร์ตลิงก์และรถไฟความเร็วสูงสามารถใช้โครงสร้างเดียวกันได้หรือไม่ โดยแบ่งเป็น 2 ชั้น จากแบบเดิมที่แยกโครงสร้างกัน ซึ่งก็อาจจะช่วยประหยัดค่าก่อสร้างลงได้ เป็นต้น” นายชัชชาติกล่าว
ปัจจุบันทั่วโลกใช้รางขนาด 1 เมตรประมาณ 20% หรือ 2 แสนกิโลเมตร ที่เหลือใช้รางขนาด 1.435 เมตร โดยเฉพาะทางยุโรป ส่วนในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ใช้ ขนาด 1 เมตร มีจีนที่เป็น 1.435 เมตร ดังนั้นประเทศไทยจะต้องคิดว่าทิศทางการลงทุนต่อไปจะเป็นแบบไหน โดยพิจารณาถึงความต้องการของประเทศ ในแง่การขนส่งผู้โดยสารและสินค้า การเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งราง 1 เมตรจะมีความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ขนาด 1.435 เมตรสามารถทำความเร็วได้ 300-400 กม./ชม.
ด้าน พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนรางจาก 1 เมตรเป็น 1.435 เมตรจะไม่กระทบต่อโครงการจัดซื้อหัวรถจักร 20 คันและ 50 คัน ซึ่งใช้กับราง 1 เมตร เพราะขณะนี้ ร.ฟ.ท.มีปัญหาขาดแคลนหัวรถจักรมาก โดย 20 คันนั้นจะนำมาใช้กับขบวนรถสินค้าจากไอซีดีลาดกระบังไปท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประมูล ที่อาจจะมีการตั้งราคากลางสูงเกินไปเข้าข่ายการเตรียมทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ เนื่องจากผู้ชนะเสนอราคาต่ำสุดเพียง 1,916.6 ล้านบาทหรือ 98.08 ล้านบาทต่อคัน ขณะที่ ร.ฟ.ท.กำหนดราคากลางไว้ที่ 3,000 ล้านบาท