ไจก้าไฟเขียวผลประมูลรถไฟฟ้าสีแดงสัญญา 1 แล้ว ร.ฟ.ท.จ่อลงนามกลุ่ม SU 31 ส.ค.นี้เร่งก่อสร้าง ขณะที่เตรียมจัดงานใหญ่ นิทรรศการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ดอนเมือง ก.พ. 56 ให้ความรู้ประชาชนปลุกกระแสสนับสนุนโครงการ ด้าน สนข.เผย ต.ค.นี้ เซ็นสัญญาที่ปรึกษาออกแบบ 2 เส้นทาง คาดเปิดประมูลก่อสร้างได้ต้นปี 57
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมาทางองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ได้ตอบกลับผลการพิจารณาการประกวดราคาสัญญา 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง) โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต มายัง ร.ฟ.ท.แล้ว ซึ่งบอร์ด ร.ฟ.ท.จะนัดประชุมกันภายในสัปดาห์นี้ และจะเป็นขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารด้วย โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ทันที
ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า SU ยอมปรับลดวงเงินการก่อสร้างเหลือ 29,862 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอราคาต่ำสุดประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 กรกฎาคม 2555 มีมติเห็นชอบปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง สัญญา 1 วงเงิน 29,826 ล้านบาท ซึ่งไม่เกิน 10% จากกรอบวงเงินเดิม 27,134 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
คาดเปิดประมูลรถไฟความเร็วสูงต้นปี 57
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงว่า ในเดือนตุลาคมนี้จะสามารถลงนามกับบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบ รวมถึงการจัดทำเอกสารประกวดราคาก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ สายเหนือ ระยะแรกช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก และสายใต้ ระยะแรกกรุงเทพฯ-หัวหิน โดยใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 14 เดือน โดยที่ปรึกษาจะต้องศึกษาความเหมาะสมโครงการ (Feasibility Study) ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตามระเบียบสำนักนายกฯ พ.ศ. 2548 โดยรับฟังความคิดเห็นประชาชนตลอดแนวเส้นทางด้วย คาดว่าจะประกวดราคาก่อสร้างได้ต้นปี 2557
ทั้งนี้ ในปี 2556 กระทรวงคมนาคมจะเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และประโยชน์ที่จะได้รับจากรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งเบื้องต้นจะจัดเป็นนิทรรศการขึ้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง บริเวณคลังสินค้า ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เพื่อให้ประชาชนเห็นรูปแบบการให้บริการของรถไฟฟ้าความเร็วสูงจริง และยังเป็นการเปิดเวทีให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อนำความคิดเห็นทั้งหมดที่ได้ไปปรับปรุงให้การดำเนินงานมีศักยภาพมากที่สุดต่อไป
ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ก่อนจะลงทุนโครงการมูลค่าหลายแสนล้านบาทจำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจว่า เมื่อประเทศไทยมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะเกิดประโยชน์และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างไร ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดกระแสต่อต้าน นอกจากนี้จะมีเวทีที่ใช้สำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีกับประเทศที่มีประสบการณ์และผู้ผลิตหัวรถไฟอีกด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการก่อสร้างจะใช้พื้นที่ตามแนวเขตทางของรถไฟเป็นหลักประมาณ 70-80 % มีการเวนคืนเล็กน้อย โดยจะเปิดประกวดราคาแบบสากล (International Bidding) ให้ทุกบริษัทที่สนใจเข้าร่วมได้มากที่สุด