ครม.เห็นชอบเพิ่มค่าก่อสร้างรถไฟสายสีแดงสัญญา 1 อีก 4,800 ล้านจาก 2.71 หมื่น ล.เป็น 2.98 หมื่น ล. “จารุพงศ์” เผยเพิ่มไม่เกิน 10% ตามระเบียบทำได้ ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าลงนามกลุ่ม SU (ซิโน-ยูนิค) ใน ก.ค.นี้ พร้อมเดินหน้าเปิดซองสัญญา 2 วงเงิน 1.8 หมื่น ล.
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (3 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย สัญญา 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง)
วงเงิน 29,826 ล้านบาท ซึ่งไม่เกิน 10% จากกรอบวงเงินเดิม 27,134 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ หลังจากกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ซึ่งประกอบด้วย บมจ.ซิโนไทย-เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดที่ 34,650 ล้านบาทยอมปรับลดราคาลง
“ร.ฟ.ท.ได้เปิดประกวดราคาสัญญา 1 รถไฟสายสีแดงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 โดยผู้เสนอราคาต่ำสุดคือกลุ่ม SU แต่เกินกรอบวงเงิน จนล่าสุดเจราจาต่อรองเหลือ 29,826 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 4,800 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบการจ้างที่ปรับวงเงินไม่เกิน 10% ในขณะที่ ร.ฟ.ท.ได้ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังเข้ามาช่วยประเมินราคาค่าก่อสร้างก่อนยื่นซอง 28 วัน (เดือน พ.ย. 53) อยู่ที่ 29,828 ล้านบาท จึงเป็นราคาที่ยอมรับได้” นายจารุพงศ์กล่าวว่า
ทั้งนี้ สถานีบางซื่อของรถไฟสายสีแดงมีความทันสมัยและมีความสำคัญเนื่องจากเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการคมนาคม มี 22 รางสามารถรองรับการจอดรถไฟได้พร้อมกัน รองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าและรถไฟขนส่งสินค้าได้ทั้งหมด และช่วยแก้ไขปัญหาจุดตัดกับถนนได้ถึง 21 จุด ซึ่งจะช่วยให้การจราจรใน กทม.มีความคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อสรุปการประกวดราคาสัญญา 1 แล้วจะทำให้สามารถเปิดสัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) ระยะทาง 21 กิโลเมตร มูลค่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ยื่นซอง 3 ราย ประกอบด้วย บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ช.การช่าง และกิจการร่วมค้า SU ต่อไป โดยกิจการร่วมค้า SU ที่ได้งานสัญญา 1 ต้องถูกตัดสิทธิออกไปตามเงื่อนไข
นายจารุพงศ์กล่าวว่า หากสัญญา 1 ไม่สรุป สัญญา 2 จะเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งการปรับกรอบวงเงินเป็นวิธีที่ดีที่สุด นอกจากช่วยให้โครงการเดินหน้าและประหยัดได้แน่ๆ 4,800 ล้านบาท เนื่องจากหากยกเลิกและเปิดประกวดราคาใหม่ไม่มีใครรับรองได้ว่าราคาจะไม่เพิ่มมากกว่านี้ ส่วนที่ไม่ขอปรับกรอบทั้งโครงการที่ 75,548 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าในส่วนของสัญญา 2 และ 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า) มูลค่า 26,272 ล้านบาท ยังสามารถเจรจาต่อรองได้ เพราะหากเพิ่มไปก่อนจะทำให้ผู้รับเหมาไม่ลด แต่หากเกินกรอบค่อยเสนอ ครม.อีกครั้ง
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.กล่าวว่า หลังจากนี้ ร.ฟ.ท.จะเสนอข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดแจ้งไปยังองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) โดยคาดว่าไจก้าจะตอบกลับและลงนามสัญญากับกลุ่ม SU ได้ภายในเดือนกรกฎาคม โดยหลังจากไจก้าตอบกลับจะเปิดซองสัญญา 2 ได้ทันที