“คมนาคม” สั่ง ร.ฟ.ท.สรุปค่าก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต เสนอใหม่ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เผยมติ ครม.ปี 52 เห็นชอบกรอบ 7.5 หมื่น ลบ.ขณะที่เห็นชอบคลังกู้ไจก้าสร้างสายสีแดงที่ 8.9 หมื่น ลบ. ชี้ ร.ฟ.ท.ยันกรอบ 7.5 หมื่น ลบ.อาจไม่เพียงพอเนื่องจากเห็นฐานปี 52 แนะเร่งสรุปสัญญา 1 เพื่อให้เห็นค่าก่อสร้างจากการประมูลจริง
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมพิจารณากรอบวงเงินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ทำหนังสือยืนยันวงเงินค่าก่อสร้างที่ 7.5 หมื่นล้านบาทโดยเป็นฐานราคาในปี 2552 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานะปัจจุบัน จึงให้ ร.ฟ.ท.ทบทวนใหม่และให้เสนอกลับมาภายใน 1 เดือน เพื่อสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป และเห็นว่า ร.ฟ.ท.ควรเร่งสรุปการประกวดราคาสัญญาที่ 1 เพราะจะทำให้สามารถประเมินวงเงินค่าก่อสร้างที่แท้จริงของโครงการทั้งหมดได้
ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังหารือกรอบวงเงินรถไฟสายสีแดงที่เพียงพอและเหมาะสม ซึ่งยังไม่ได้เสนอกลับไป ในขณะที่ในวันเดียวกัน ครม.เห็นชอบให้คลังกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) สำหรับสายสีแดงไว้ที่ 8.9 หมื่นล้านบาท
นายจำรุญกล่าวว่า สิ่งที่ ร.ฟ.ท.ต้องทำเพิ่มเติมคือ การแยกรายละเอียดค่าดำเนินการในแต่ละรายการให้ชัดเจน โดยเฉพาะค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) เนื่องจากการใช้เงินกู้ไจก้าจะไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะที่กรอบวงเงินที่ ร.ฟ.ท.เสนอ ครม.ที่ 7.5 หมื่นล้านบาทนั้นประเมินโดยไม่ได้พิจารณาว่าใช้เงินกู้ในประเทศหรือกู้ไจก้า
“ร.ฟ.ท.ไม่เสนอค่าก่อสร้างที่ใช้ฐานคำนวณในปี 2554 หรือปี 2555 แต่ยืนยันวงเงินที่คำนวณจากฐานต้นทุนปี 2552 ซึ่งกระทรวงคมนาคมมองว่าอาจจะไม่เพียงพอและเหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน อีกทั้งที่ผ่านมาแม้จะเปิดซองราคาสัญญาที่ 1 ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า SU เสนอราคาต่ำสุดซึ่งทำให้รู้ราคาเบื้องต้นแล้วแต่ ร.ฟ.ท.ไม่สรุปให้จบทำให้เรื่องคั่งค้างและล่าช้าไปถึงสัญญาที่ 2 และ 3 อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเมื่อสรุปสัญญาที่ 1 ได้ภาพของทั้งโครงการจะชัดขึ้นว่ากรอบที่มีเพียงพอหรือไม่”นายจำรูญกล่าว
สำหรับกรอบวงเงินก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต มี 2 กรอบ คือ 1. กรอบวงเงินที่จะเสนอขอกู้เงินจากไจก้า โดยประเมินตามหลักเกณฑ์ของทางไจก้า วงเงิน 89,695 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานโยธา 44,779 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล 13,372 ล้านบาท ค่าตู้รถไฟฟ้า 6,560 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 3,353 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 4,939 ล้านบาท ค่า price escalation 11,606 ล้านบาท ค่า adminstration cost 1,694 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% วงเงิน 3,392 ล้านบาท
2. กรอบของ ร.ฟ.ท. 75,548 ล้านบาท แยกเป็นค่างานโยธา 44,779 ล้านบาท งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล 13,372 ล้านบาท ค่าตู้รถไฟฟ้า 6,131 ล้านบาท ค่ารื้อย้าย 105 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 2,332 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,381 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% วงเงิน 1,295 ล้านบาท
โดยสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง กลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บมจ.ซิโนไทย-เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เสนอราคาที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ที่ 27,170 ล้านบาท
สำหรับสัญญาที่ 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) ระยะทาง 21 กิโลเมตร มูลค่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ยื่นซอง 3 ราย คือ 1. บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 2. บมจ.ช.การช่าง และ 3. กิจการร่วมค้า SU จะเปิดซองราคาได้เมื่อสรุปผลสัญญาที่ 1 ก่อน ส่วนสัญญาที่ 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าทั้งช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 26,272 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอความเห็นไจก้าเรื่องคุณสมบัติของผู้ยื่นซอง 4 ราย