“ยุทธนา” เผยการประมูลรถไฟสายสีแดงยังดำเนินการตามระเบียบไม่ถึงขั้นที่ต้องล้มประมูล ล่าสุดบอร์ดสั่งรอผลที่ปรึกษาประเมินตัวเลขใหม่ยึดฐานต้นทุนปี 53 ช่วงยื่นซองประมูล คาดพฤษภาคมเสนอตัวเลขใหม่ให้ “คมนาคม” รับทราบได้ เผยระเบียบปรับได้อีก 10% หรือ 7,500 ล้านบาท
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธาน ได้พิจารณาการประกวดราคาโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งได้รับอนุมัติกรอบวงเงินจากคณะรัฐมนตรี (ครม) ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท โดยยังให้เดินหน้าพิจารณาตามกรอบเดิม ซึ่งขณะนี้ได้ให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง พิจารณาศึกษารายละเอียดที่ชัดเจนของทั้ง 3 สัญญาอีกครั้ง
โดยคาดว่าจะสรุปตัวเลขใหม่ได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะรายงานบอร์ดรับทราบ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อหารือกับกระทรวงการคลังก่อน ร.ฟ.ท.จึงจะนำตัวเลขดังกล่าวมาเจรจากับผู้รับเหมาได้
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการจะยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะล้มประมูลได้ เพราะการดำเนินงานต่างๆ ยังอยู่ในกรอบของระเบียบและเงื่อนไขขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ในฐานะผู้ให้เงินกู้ ดังนั้นจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งกรอบ 7.5 หมื่นล้านบาทนั้นคำนวนจากฐานต้นทุนราคาค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อปี 2552 อาจจะไม่สอดคล้องเพราะมีการยื่นประมูลกันในเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งที่ปรึกษาฯ จะคำนวณฐานราคาวัสดุในช่วงที่ประมูล
อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบสามารถปรับกรอบราคาได้อีก 10% หรือประมาณ 7,500 ล้านบาท
สำหรับการประกวดราคารถไฟสายสีแดงต้องล่าช้ากว่าแผนกว่า 1 ปี เนื่องจากยังหาข้อสรุป สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงไม่ได้ หลังจากกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บมจ.ซิโนไทย-เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เสนอราคาที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ที่ 27,170 ล้านบาท
และส่งผลให้ไม่สามารถเปิดซองราคาสัญญาที่ 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) มูลค่า 18,000 ล้านบาท ที่มีผู้ยื่นซอง 3 ราย คือ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง และ 3.กิจการร่วมค้าเอสยู ไม่สามารถเปิดซองราคาได้ ส่วนสัญญาที่ 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าทั้งช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 26,272 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอความเห็นไจก้า เรื่องคุณสมบัติของผู้ยื่นซองประกวดราคา