xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ผ่าทางตันประมูลสีแดง เปิดทาง ITD ดั๊มพ์ราคาสู้ซิโน-ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“คมนาคม”จี้ร.ฟ.ท.เร่งเคลียร์ปัญหาประมูลรถไฟฟ้าสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ล่าช้า “ยุทธนา”เตรียมชงบอร์ด 13ก.พ. ผ่าทางตัน ประมูลสัญญา 1 แก้ปมผู้รับเหมาเสนอค่าก่อสร้างสูงกว่ากรอบครม.อนุมัติ เปิดทางเจรจากลุ่ม ITD รายที่ 2 ดั๊มพ์ราคาสู้ ขณะที่ปัญหาสัญญา 3 รอ กวพ. ชี้ส่อฮั้วหรือไม่
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้โครงการมีความล่าช้า คือ กระบวนการประกวดราคา 3 สัญญา ปัญหาแนวก๊าซและท่อน้ำมัน ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) กีดขวางการก่อสร้าง โดยภายในสัปดาห์นี้จะเชิญผู้เกี่ยวข้องจากกระทรวงพลังงาน และปตท.มาหารือ รวมถึงปัญหาการรื้อย้ายผู้บุกรุกล่าช้า ซึ่งได้มอบหมายให้ร.ฟ.ท. เร่งดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเร็ว
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการฯร.ฟ.ท.กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง26 กิโลเมตรว่า ขณะนี้จะต้องเร่งแก้ปัญหาการประกวดราคาสัญญาที่ 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) กรณีที่ผู้รับเหมาเสนอราคาสูงกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ โดยจะรายงานความคืบหน้าปัญหาอุปสรรคของโครงการต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.วันที่ 13 ก.พ. นี้ เพื่อพิจารณาหาทางออก
ทั้งนี้ ปัญหาของสัญญาที่ 1 คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า SU ซึ่งประกอบด้วย บมจ.ซิโนไทย-เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เสนอราคาต่ำสุดที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่กรอบวงเงินที่ครม.อนุมัติไว้ที่ 27,170 ล้านบาท ดังนั้น แนวทางที่จะดำเนินการ คือ เจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ให้ถึงที่สุด ซึ่งเป็นไปตามความเห็นขององค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศไทยแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) และหากตกลงกันไม่ได้ ต้องเจรจากับกลุ่ม บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้เสนอราคาอันดับ 2 แต่หากราคายังสูงกว่ากว่ากรอบ ก็จะใช้ระเบียบร.ฟ.ท.โดยเชิญผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายมาเจรจา อย่างไรก็ตาม หากราคาสุดท้ายยังสูงกว่ากรอบ ก็จำเป็นต้องเสนอครม.พิจารณาเพิ่มกรอบวงเงิน ส่วนการยกเลิกและเปิดประกวดราคาใหม่จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากจะยิ่งทำให้โครงการยิ่งล่าช้าออกไป
นายยุทธนากล่าวว่า หากได้ข้อสรุปสัญญาที่ 1 แล้ว จะทำให้สามารถเปิดซองข้อเสนอราคาของสัญญาที่ 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) ระยะทาง 21 กิโลเมตร มูลค่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ยื่นซอง 3 ราย คือ 1.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 2.บมจ.ช.การช่าง และ 3.กิจการร่วมค้า SU ได้ ส่วนสัญญาที่ 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าทั้งช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า26,272 ล้านบาท ขณะนี้มีปัญหาเนื่องจากผู้ยื่นประมูลมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ขัดต่อเงื่อนไขการประมูล ซึ่งอยู่ระหว่างรอความเห็นจาก คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กพว.) ในการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า กรณีที่ 2 บริษัทมีกรรมการคนเดียวกัน เข้าข่ายเรื่องฮั้วหรือไม่ ซึ่งหากขัดกฎหมายฮั้วก็ต้องเปิดประกวดราคาใหม่
โดยผู้ยื่นซอง 4 ราย ประกอบด้วย 1. กลุ่มกิจการร่วมค้าMHSC Consortium ประกอบด้วย บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd ,Hitachi, Sumitomo Corporation 2. กลุ่มกิจการร่วมค้า SMCK Consortium ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท SIEMENS Ak piengesellschaft , บริษัท SIEMENS LIM ITED, บริษัท MITSUBISHI CORPORATION
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัญหาความล่าช้าของโครงการฯ ทำให้การเบิกจ่ายเงินกู้ไจก้าล่าช้า ซึ่งตามเงื่อนไขไจก้าจะต้องมีการเบิกจ่ายเงินหลังลงนามสัญญาเงินกู้ 6 เดือน หากล่าช้ากว่ากำหนด จะต้องเสียค่าธรรมเนียมทางการเงินประมาณ 2ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ ได้มีการลงนามสัญญาเงินกู้กับไจก้าเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2552
กำลังโหลดความคิดเห็น