xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ผ่าทางตันประมูลรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดทาง ITD ดัมป์ราคาสู้ ซิโน-ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “คมนาคม” จี้ ร.ฟ.ท.เร่งเคลียร์ปัญหาประมูลรถไฟฟ้าสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ล่าช้า “ยุทธนา” เตรียมชงบอร์ด 13 ก.พ.ผ่าทางตัน ประมูลสัญญา 1 แก้ปมผู้รับเหมาเสนอค่าก่อสร้างสูงกว่ากรอบ ครม.อนุมัติ เปิดทางเจรจากลุ่ม ITD รายที่ 2 ดัมป์ราคาสู้ ขณะที่ปัญหาสัญญา 3 รอ กวพ.ชี้ส่อฮั้วหรือไม่

นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า ยังมีปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้โครงการมีความล่าช้า คือ กระบวนการประกวดราคา 3 สัญญา ปัญหาแนวก๊าซและท่อน้ำมัน ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) กีดขวางการก่อสร้าง โดยภายในสัปดาห์นี้จะเชิญผู้เกี่ยวข้องจากกระทรวงพลังงาน และปตท.มาหารือ รวมถึงปัญหาการรื้อย้ายผู้บุกรุกล่าช้า ซึ่งได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.เร่งดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเร็ว

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง26 กิโลเมตร ว่า ขณะนี้จะต้องเร่งแก้ปัญหาการประกวดราคาสัญญาที่ 1 (งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) กรณีที่ผู้รับเหมาเสนอราคาสูงกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ โดยจะรายงานความคืบหน้าปัญหาอุปสรรคของโครงการต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.วันที่ 13 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาหาทางออก

ทั้งนี้ ปัญหาของสัญญาที่ 1 คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า SU ซึ่งประกอบด้วย บมจ.ซิโนไทย-เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เสนอราคาต่ำสุดที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่กรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ที่ 27,170 ล้านบาท ดังนั้น แนวทางที่จะดำเนินการ คือ เจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ให้ถึงที่สุด ซึ่งเป็นไปตามความเห็นขององค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศไทยแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) และหากตกลงกันไม่ได้ ต้องเจรจากับกลุ่ม บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้เสนอราคาอันดับ 2 แต่หากราคายังสูงกว่ากว่ากรอบ ก็จะใช้ระเบียบ ร.ฟ.ท.โดยเชิญผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายมาเจรจา อย่างไรก็ตาม หากราคาสุดท้ายยังสูงกว่ากรอบ ก็จำเป็นต้องเสนอครม.พิจารณาเพิ่มกรอบวงเงิน ส่วนการยกเลิกและเปิดประกวดราคาใหม่จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากจะยิ่งทำให้โครงการยิ่งล่าช้าออกไป

นายยุทธนา กล่าวว่า หากได้ข้อสรุปสัญญาที่ 1 แล้ว จะทำให้สามารถเปิดซองข้อเสนอราคาของสัญญาที่ 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) ระยะทาง 21 กิโลเมตร มูลค่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ยื่นซอง 3 ราย คือ 1.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 2.บมจ.ช.การช่าง และ 3.กิจการร่วมค้า SU ได้ ส่วนสัญญาที่ 3 (งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าทั้งช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 26,272 ล้านบาท ขณะนี้มีปัญหาเนื่องจากผู้ยื่นประมูลมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ขัดต่อเงื่อนไขการประมูล ซึ่งอยู่ระหว่างรอความเห็นจาก คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กพว.) ในการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า กรณีที่ 2 บริษัทมีกรรมการคนเดียวกัน เข้าข่ายเรื่องฮั้วหรือไม่ ซึ่งหากขัดกฎหมายฮั้วก็ต้องเปิดประกวดราคาใหม่

โดยผู้ยื่นซอง 4 ราย ประกอบด้วย 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าMHSC Consortium ประกอบด้วย บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd ,Hitachi, Sumitomo Corporation 2.กลุ่มกิจการร่วมค้า SMCK Consortium ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท SIEMENS Ak piengesellschaft, บริษัท SIEMENS LIM ITED, บริษัท MITSUBISHI CORPORATION

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัญหาความล่าช้าของโครงการทำให้การเบิกจ่ายเงินกู้ไจก้าล่าช้า ซึ่งตามเงื่อนไขไจก้าจะต้องมีการเบิกจ่ายเงินหลังลงนามสัญญาเงินกู้ 6 เดือน หากล่าช้ากว่ากำหนด จะต้องเสียค่าธรรมเนียมทางการเงินประมาณ 2 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ ได้มีการลงนามสัญญาเงินกู้กับไจก้าเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2552
กำลังโหลดความคิดเห็น