xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปมปริศนาเบื้องลึก สายรัดคาดก้อนเงิน “22 พฤศจิกายน 2552” จากธนาคารทหารไทย !?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เป็นข่าวอื้อฉาวและคลาสสิคที่สุด เมื่อเกิดเหตุการณ์โจรปล้นบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่คืนวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น มีข้อพิรุธชวนน่าสงสัยว่า ในวันเกิดเหตุ ภรรยาของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม (ไม่เปิดเผยชื่อในข่าว) เข้ามาพูดคุยกับผู้สื่อข่าวในลักษณะไม่อยากให้เรื่องนี้เผยแพร่เป็นข่าว พร้อมกับบอกว่าไม่มีอะไร เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเข้าใจผิดเท่านั้น

ลำพังที่เจ้าทุกข์ซึ่งเป็นผู้เสียหายถูกปล้นแสดงท่าที่ไม้ต้องการให้เป็นข่าวก็นับว่าแปลกประหลาดอยู่แล้ว แต่ที่น่าสงสัยไปมากกว่านั้นก็คือ “จำนวนเงิน”ของคดีนี้ฝ่ายโจรให้การสารภาพมากกว่าจำนวนเงินที่เจ้าของบ้านให้ปากคำ?

นายสิงห์ทอง ใจชมชื่น หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมที่เข้าร่วมในการปล้นครั้งนี้ให้การรับสารภาพว่า:

“ได้ปล้นเงินในบ้านทั้งหมดกว่า 200 ล้านบาท โดยโจรได้แบ่งกันไปใช้ 15 ล้านบาท ส่วนเงินสดที่เหลือหัวหน้าแก๊ง คือนายวีระศักดิ์ เชื่อลี (นายโก้) เป็นผู้เก็บเงินเอาไว้ก่อนและจะมาแบ่งกันภายหลัง โดยมีข้อตกลงกันว่าเงินทั้งหมด 50% จะแบ่งให้ลูกพี่ของนายวีระศักดิ์ ซึ่งเป็น“ข้าราชการ” และเงินอีก 30% จะเป็นของนายวีระศักดิ์เอง และ อีก 20%จะแบ่งส่วนที่เหลือให้กลุ่มโจรที่ปฏิบัติงานลงมือปล้น ส่วนภายในบ้านที่เกิดเหตุพบเงินสดซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าต่างๆ รวมประมาณ 700-1,000 ล้านบาท ส่วนเหตุที่ได้เข้าปล้นครั้งที่ทราบมาว่าเป็นเงินที่โกงมาจากทางราชการ”

ส่วนนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กลับให้สัมภาษณ์ว่า:

“เป็นขบวนการทำลายความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเงินที่หายไปนั้นเป็นเงินรับไหว้จากสินสอดเพียง 6 ล้านบาทเท่านั้น”

นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่เจ้าบ้านซึ่งถูกปล้นระบุจำนวนเงินที่ถูกปล้นน้อยกว่าคำสารภาพของโจร เพราะหากจำนวนเงินที่เหล่าโจรให้การสารภาพตามที่คณะโจรได้ให้การสารภาพเป็นความจริง ทรัพย์สินเหล่านั้นนอกจากจะต้องถูกยึดทรัพย์ฐานร่ำรวยผิดปกติแล้วยังจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาตามมาอีกด้วย

ผลที่ตามมานั้นก็ได้ทำให้กองเงินจำนวน 18 ล้านบาทที่ตำรวจยึดได้มาจากโจรในช่วงแรกนั้น ฝ่ายโจรบอกว่าเป็นเงินของเจ้าของบ้านทั้งหมด แต่ฝ่ายเจ้าของบ้านบอกเงินของตัวเองแค่ 6 ล้านบาทที่ได้มาจากค่าสินสอดของลูกสาว !!!?

ไหนๆ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ก็ได้แจ้งว่าตัวเองถูกทำลายความน่าเชื่อถือ เพราะมีเงินสดอยู่น้อยนิด นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม น่าจะได้ลองอ่านนิทานเรื่องหนึ่งย้อมใจเล่น เผื่อจะได้สบายใจขึ้นว่านิทานเรื่องดังต่อไปนี้ ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นกับนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อมได้โดยเด็ดขาด

กาลครั้งหนึ่ง ณ ประเทศสารขัณฑ์ (ขอย้ำว่าไม่ใช่ประเทศไทยและไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีการปล้นบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม โดยเด็ดขาด) อธิบดีไร้ฝุ่นคนหนึ่งซึ่งปลุกปั้นโครงการถนนสะอาดผลักดันจนเหล่าเสนาบดีและนักการเมืองยอมให้โครงการผ่านสำเร็จ จนโครงการเดินหน้าไปแล้วแต่ยังไม่ได้เงินที่แบ่งผลประโยชน์ตามที่ตกลงกัน จึงเดินทางไปทวงปลัดทบวงหนึ่งในเมืองสารขัณฑ์ ท่านปลัดบอกว่า “ผู้ใหญ่”เอาไปหมดแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร วันดีคืนดีอธิบดีไร้ฝุ่นใจกล้าเดินหน้าไปพบ “ผู้ใหญ่” ซึ่ง “ผู้ใหญ่”บอกว่าตัวเองได้เงินสัดส่วนเท่าไหร่ ความจึงได้แตก อธิบดีไร้ฝุ่นแค้นใจคิดจะหาทางในการทวงเอาคืนจากปลัดได้สักวันหนึ่ง

แต่ช่างประจวบเหมาะในความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่าง “อดีตหน้าห้องท่านปลัดทบวง” ชื่อ “ตุ๋ง” (นามสมมุติ)ซึ่งได้ดิบได้ดียกฐานะเป็น “คุณนาย”ไปแล้ว กับ “หน้าห้องปัจจุบันของท่านปลัด” ชื่อ “ติ๋ง” (นามสมมุติ) เดิมที “ตุ๋ง” กับ “ติ๋ง” เดิมเป็นเพื่อนสนิทกันดี ต่อมาขัดแย้งกันเพราะความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน “ติ๋ง” จึงถูกเนรเทศไปอยู่หน้าห้องคนอื่น แต่ก็ยังถูกตามราวีอีกเป็นที่ชอกช้ำระกำใจอย่างยิ่ง

ในที่สุด “ติ๋ง” ก็ได้มาเจอและปรับทุกข์กับ “อธิบดีไร้ฝุ่น” ซึ่งต่างก็อกหักมาทั้งคู่ ฝ่ายติ๋งรู้ที่ซ่อนเงินของปลัดเพราะใกล้ชิดสนิทแนบแน่นกับปลัดไม่แพ้ “ตุ๋ง” ฝ่ายอธิบดีไร้ฝุ่นแค้นใจต้องการทวงเงินคืน จึงเกิดการปล้นเงินบ้านท่านปลัดขึ้นโดยการจ้างวานมือปล้นเป็นมาเฟียสีเขียวได้เงินมาแล้วแล้วแบ่งกัน โดยฝ่ายอธิบดีไร้ฝุ่นเอาไปครึ่งหนึ่ง (ตามจำนวนที่เงินที่เชื่อว่าท่านปลัดอมไป) ส่วนที่เหลือก็แบ่งกันไปตามผลงาน”

และขอย้ำอีกทีว่านิทานเรื่องดังกล่าวข้างต้นไม่มีทางจะเกิดขึ้นกับกรณีของ สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคมของประเทศไทยโดยเด็ดขาด !!!


และถือว่าเป็น “แจ๊กพ็อต” อย่างยิ่ง สมมุติหากมีเงินก้อนเยอะแยะเป็นพันล้านบาทในบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม แต่เหล่าโจรกลับเลือกปล้นเงินซึ่งถูกจับของกลางได้มีสายรัดมัดก้อนเงินประทับตราธนาคารทหารไทย ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2552 และเงินบางส่วนมาจากสาขาอุดรธานี ที่พอจะบอกเบาะแสได้พอสมควร ว่าเงินก้อนนี้เบิกมาจากธนาคารทหารไทย สาขาอะไร และใครเป็นผู้เบิกเงินสดออกมามากมายขนาดนี้

ช่างบังเอิญอย่างร้ายกาจเช่นกัน ที่ธนาคารทหารไทย มีผู้รับเหมางานใหญ่รายหนึ่งซึ่งรับงานเกี่ยวกับรถไฟฟ้าเป็นลูกค้าที่ยาวนานกับธนาคารทหารไทยตั้งแต่ในอดีต และช่างบังเอิญอีกเช่นกันผู้รับเหมารายนี้มีโครงการและสายสัมพันธ์ใกล้ชิดอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงใช้บริการธนาคารในจังหวัดที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นประจำ ซึ่งยังต้องลุ้นต่อไปว่าเงินก้อนนี้ใครเบิกมา (หากไม่สมคบกันเป่าคดีนี้เสียก่อน)

แต่ที่แน่ๆก็คือ เงินสดมีสายรัดมัดเอาไว้ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2552 นั้นคงย่อมเป็นไปไม่ได้ว่าจะเป็นเงินสินสอดที่ถอนเป็นเงินสดออกมาโดยเตรียมการล่วงหน้าเอาไว้ถึง 2 ปี ซึ่งเดาได้ว่านายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ก็คงจะให้การปฏิเสธอีกว่าเงินสดก้อนมัดเหล่านี้ไม่ใช่มาจากของบ้านตัวเองอีก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แปลว่าเงินทั้งหมดที่ยึดได้จากโจรในเวลานี้ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อมไม่อยากได้คืนจากเงินโจรเหล่านี้แม้แต่บาทเดียวกันแล้วใช่ไหม?

ถ้าเป็นเช่นนั้น สุดท้ายคดีนี้ โจรอาจหลุดพ้นความผิด ถ้าของกลางที่ยึดได้ทั้งหมดเจ้าทุกข์ไม่ยอมแสดงความเป็นเจ้าของ!!!?

อย่างไรก็ตาม หากสายรัดมัดเงินที่ปล้นมาจากกระทรวงคมนาคม คือวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 จริง ก็เท่ากับว่าเป็นเงินสดที่เบิกออกมาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีนายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

สิ่งที่นายโสภณ ซารัมย์ จะทำได้ในฐานะผู้กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ก็คือออกโรงค้ำประกันความบริสุทธิ์ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อมในทางสาธารณะตามคำสัมภาษณ์ที่ให้ไว้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ความว่า:

“ผมเชื่อว่าท่านปลัดจะหนักแน่นพอ ซึ่งรับราชการมานานจะชี้แจงข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นได้เพราะตลอดชีวิตการรับราชการของท่านสุพจน์ ไม่เคยมีประวัติมัวหมองแม้กระทั่งสมัยที่ผมทำงานในช่วงที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมาตลอด 2 ปี ก็ไม่มีเรื่องมัวหมอง”

แต่คำพูดและภาพลักษณ์ของนายโสภณ ซารัมย์ ก็คงไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นในทางสาธารณะเท่าไหร่ เพราะทำให้สังคมส่วนหนึ่งเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่านายโสภณให้สัมภาษณ์เช่นนี้เพียงเพื่อต้องการส่งสัญญาณไปยังนายสุพจน์ให้ “หนักแน่นเข้าไว้ อย่าเอานายโสภณไปเกี่ยวข้องด้วย” ใช่หรือไม่?

แต่สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลซึ่งนำโดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้นำมาแถลงข่าวเปิดประเด็นนั้นระบุพุ่งเป้าไปที่โครงการสร้างรถไฟฟ้าของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดข่าวอื้อฉาวอย่างมากในปี 2552

เริ่มต้นจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่มีการเปิดซองประมูลในเดือน มกราคม 2552 และมีการปรับราคาสูงเพิ่มขึ้นเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาในกรอบวงเงิน 36,055 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยประกอบไปด้วยค่าเนื้องานในโครงการ 29,724 ล้านบาท เป็นเงินสำรองจ่ายเผื่อสำหรับรื้อย้ายสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ให้ออกจาพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งจะเบิกจ่ายตามสภาพการใช้งานจริงหน้างานประมาณ 3,972 ล้านบาท และเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,359 ล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ใช้วิธีหัวใสเพิ่มงบประมาณให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งได้ประมูลไปแล้วดังต่อไปนี้

1.มีการอ้างอิงประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2535 ว่าหากเป็นโครงการเงินกู้ต่างประเทศให้ใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 ทำให้ผู้รับเหมาไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (ทั้งๆที่ตอนตั้งงบประมาณและตอนยื่นซองประกวดกลับกำหนดกรอบงบประมาณที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย)

ผลจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้ราคาที่ผู้รับเหมาประกวดราคาและต่อรองราคาไปแล้วทั้ง 3 สัญญา และสัญญาระบบราง (สัญญาที่ 6) ที่เพิ่งเปิดซองประมูลไปที่ไม่ต้องมีภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเป็นเงิน 35,620 ล้านบาท ในขณะที่กรอบวงเงินตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551 นั้น ตั้งเอาไว้เฉพาะค่างานที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่เพียงแค่ 29,724 ล้านบาท

ผลการประกวดราคาและราคาที่ปรับปรุงแล้ว เทียบกับงบประมาณที่ตั้งไว้แบบไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551 มีส่วนต่างกันถึง 5,896 ล้านบาท!!!


2.งบประมาณตามเงินกู้ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเตรียมเอาไว้ 2,359 ล้านบาท ได้โยกให้มาสมทบเป็นงบประมาณค่างานให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งหมด

3.มีการปรับเนื้องานสัญญาที่ 6 (ระบบราง) ซึ่งยังไม่ได้ประมูลนั้น ให้ลดงบประมาณจาก 4,076 ล้านบาท ลงเหลือเพียง 3,638 ล้านบาท (ลดไป 438 ล้านบาท) ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีวัสดุหลักคือ เหล็ก ซึ่งการปรับลดเช่นนี้ย่อมสวนทางในการขึ้นราคาสัญญาอื่นๆที่ได้ประกวดไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

ในเวลานั้นน่าเคลือบแคลงสงสัยว่าเป็นวิธีการเพื่อหาความชอบธรรมในการปั่นและตกแต่งตัวเลขลดมูลค่าในสัญญาที่ยังไม่ประมูลมาสมทบเพิ่มให้กับสัญญาที่ได้ประมูลไปแล้วเสียก่อน เพราะเป็นผลประโยชน์เฉพาะหน้าในรัฐบาลตนเอง ใช่หรือไม่?

4.มีการปรับลดเงินสำรองเผื่อจ่ายสำหรับการรื้อย้ายสาธารณูปโภค เช่น สายไฟฟ้า ท่อประปา และสายโทรศัพท์ ให้ออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งจะเบิกจ่ายตามการใช้จริงหน้างานจาก 3,972 ล้านบาท ให้ลดลงเหลือ 435 ล้านบาท ไปสมทบราคาในสัญญาที่สูงเกินจริงซึ่งได้ประกวดราคาไปแล้ว ใช่หรือไม่ และไม่มีหลักประกันว่างบประมาณสำรองสำหรับรื้อย้ายสาธารณูปโภคดังกล่าวจะเพียงพอต่อการรื้อย้ายสาธารณูปโภคดังกล่าวจะเพียงพอต่อการรื้อย้ายสาธารณูปโภคจริง และอาจมีการเพิ่มงบประมาณในภายหลังได้อีก ใช่หรือไม่?

6 สิงหาคม พ.ศ. 2552 นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ทำหนังสือเสนอให้คณะรัฐมนตรี “พิจารณาให้ความเห็นชอบ” ทั้งๆที่ได้มีการร้องเรียนและปรากฏเป็นข่าวถึงความผิดปกติอย่างมาก ต่อมาคณะรัฐมนตรีในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมีการประชุมวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552 และลงมติเลี่ยงคำเป็น “รับทราบ” แทน และปล่อยให้โครงการเดินหน้าต่อไป

26 สิงหาคม 2552
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างสัญญาที่ 1 จาก เตาปูน-สะพานพระนั่งเกล้า ระยะทาง 12 กิโลเมตร กับกลุ่มกิจการร่วมค้า CKTC (ช.การช่าง-โตคิว) วงเงิน 14,292 ล้านบาท

ซึ่งนับจากวันลงนามไปอีกประมาณ 60 วัน ก็ตกประมาณปลายเดือนตุลาคม ถึง ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ซึ่งจะเป็นเงินงวดแรกที่ผู้รับเหมาจะได้เงินล่วงหน้า 10% หรือประมาณ 1,429 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากสมมุติมีการวิ่งเต้นกัน เงินก้อนนี้ก็จะถูกทวงถามจากเหล่าข้าราชการและนักการเมืองพอดิบดีในประมาณเดือน พฤศจิกายน 2552

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 ดูเหมือนว่าจะมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในเรื่องงบประมาณรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เป็นเสมือนการต่อยอดจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งช่างบังเอิญอย่างร้ายกาจที่เหตุการณ์นี้เกิดพอดิบพอดีใกล้เคียงกับช่วงเวลาของ สายรัดมัดก้อนเงินวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2552 พอดีอีกด้วย

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็เกิดความแปลกประหลาดที่สุด เพราะมีข่าวลือกันก่อนหน้านี้ที่ชวนตั้งคำถามว่า เดิมจะมีการแบ่งงานกันว่าจะสลับกันได้ระหว่างสัญญาที่ 1 กับสัญญาที่ 2 ระหว่าง กลุ่มอิตาเลียนไทย กับ กลุ่ม ช.การช่าง แต่จะเกิดการ “หักกัน”อย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะในที่สุดเปิดซองประกวดราคามา ช.การช่าง ราคาต่ำสุดทั้ง 2 สัญญา แต่ในที่สุดก็มีการแก้เกมว่าให้แก้ไขราคาโดยให้ “อิตาเลียนไทย”ได้งานไป 1 สัญญา โดยมีการะทำที่แปลกประหลาดที่สุดโดยอ้างว่า “กลุ่มอิตาเลียนไทย คำนวณผิดพลาด” หลังจากที่ยื่นซองประกวดราคาไปแล้ว และ ช.การช่างก็ไม่กล้าร้องเรียนอะไรเพิ่มเติม

แต่ในที่สุดเรื่องนี้แม้แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติ แต่รัฐบาลก็ยังปล่อยให้เดินหน้าต่อไป

3 พฤศจิกายน 2554 นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ได้ตรวจสอบพบความผิดปรกติดังนี้คือ

1.การตั้งราคากลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการตามระเบียบ
ซึ่งเมื่อคณะอนุกรรมาธิการได้ท้วงติงไป กลับชี้แจงว่า เอกสารมีจำนวนมากกว่าแสนหน้า และเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถพิจารณาได้อย่างละเอียด และขอเวลากลับไปพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งที่ได้มีการดำเนินการในขั้นตอนประมูลไปแล้ว ทำให้ผู้ยื่นราคาต่ำเป็นอันดับ 2 เป็นผู้ชนะการประมูล รวมทั้งยังไม่มีการระบุแบบในการก่อสร้างอย่างชัดเจน โดยระบุเพียงว่า เป็นการก่อสร้างในลักษณะดีไซน์แอนด์บิวท์

2.การปรับรายละเอียดของบริษัทเอกชนภายหลังจากที่มีการยื่นซองประกวดราคาไปแล้ว ซึ่งผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ชัดเจน

3.การกำหนดราคากลางที่อ้างว่าใช้ราคาการก่อสร้างรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล เมื่อปี 2539 เป็นเกณฑ์ แต่กลับคำนวณราคาต่อระยะทางสูงกว่าของเดิมถึง 4 เท่าตัว !!!

ทั้งนี้นายชาญชัย ได้กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดพบว่ามีการใช้งบประมาณเกินกว่าความเป็นจริงที่คาดไว้กว่า 1 หมื่นล้านบาท
ซึ่งส่งกลิ่นความไม่ชอบมาพากลว่าน่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้น จึงต้องการให้มีการตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้นายชาญชัยได้ทราบมาว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 มีความพยายามนำเรื่องการลงนามจัดจ้างก่อสร้างทั้ง 5 สัญญา ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนี้เข้าเป็นวาระจรในที่ประชุม แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้สั่งระงับเอาไว้ก่อน เนื่องจากได้ทราบข้อมูลถึงความไม่ชอบมาพากลองโครงการจากนายชาญชัยมาก่อนหน้านี้

22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 สายรัดคาดเงินก้อนออกมาจากธนาคารทหารไทย ที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นเงินที่กลุ่มโจรได้ปล้นมาจากบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ถูกถอนออกจาธนาคารในวันดังกล่าว

จากเดิมที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งระงับโครงการไว้ก่อนตอนต้นเดือนพฤศจิกายน 2552 แต่หลังจากวันที่ 22 พฤศจิกายน 2552 แล้ว โครงการนี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับ “เลิกระงับ” การเพิ่มกรอบงบประมาณและปล่อยให้โครงการนี้เดินหน้าได้ต่อไป

24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
คณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอนุมัติผลการทบทวนกรอบวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จากจำนวน 48,821 ล้านบาท เป็นกรอบวงเงินใหม่จำนวน 52,460 ล้านบาท เป็นเงินเพิ่มมาถึง 3,636 ล้านบาท

เรื่องโครงการรถไฟฟ้า เป็นมหากาพย์แห่งความอัปยศที่กระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้ล่าสุด สัญญาที่ 6 ระบบราง ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง JICA ซึ่งเป็นเจ้าของเงินกู้จากญี่ปุ่น ไม่ยอมอนุมัติขั้นตอนการดำเนินการให้ เพราะเห็นว่ามีการสมรู้ร่วมคิดแก้ไขวิธีการให้คะแนนซองเทคนิค ทั้งๆที่ รฟม.เองได้เคยเสนอวิธีการในการพิจารณาซองเทคนิคให้ JICA ไปแล้ว ถือเป็นการกระทำที่ต้องการช่วยเหลือผู้รับเหมาก่อสร้างบางรายอย่างน่าเกลียด อันถือเป็นเรื่องฉาวโฉ่น่าอับอายขายหน้าไปในระดับนานาชาติ แม้ล่าสุดจะได้มีการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว แต่ก็ได้ข่าวว่ามีนักการเมืองคนหนึ่งในกระทรวงคมนาคมยุคปัจจุบันพยายามขัดขวางการตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงดังกล่าวอีก

โครงการรถไฟฟ้า ของการถไฟฟ้ามวลชนแห่งประเทศไทย คือหลักฐานความล้มเหลวทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และจะเป็นหลักฐานอีกครั้งหนึ่งที่แสดงความล้มเหลวของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

กำลังโหลดความคิดเห็น