xs
xsm
sm
md
lg

สั่งรถไฟทำแผนพัฒนาที่ดินรอบสถานีทั่วประเทศใหม่ รับชุมชนเกิดใหม่ตามแนวทางคู่และไฮสปีด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.” สั่งสำรวจพื้นที่รอบสถานีรถไฟทั่วประเทศทำแผนแม่บทพัฒนาเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางและรถไฟความเร็วสูง ชี้จะมีชุมชนเกิดใหม่ตามสถานีเหตุเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น รวมถึงการทำ CY เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ต้องเบรกต่อสัญญา หรือประมูลใหม่รอแผนชัด ระบุควรปรับแนวคิดให้เช่าทำตึกแถวอย่างเดียว

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ รักษาการรองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงมีความชัดเจนและจะเกิดขึ้นภายใน 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการขนส่งทางรางแบบยั่งยืน ทั้งเป็นการขนส่งที่ลดการใช้พลังงาน สะดวกรวดเร็วตรงเวลา และมีความปลอดภัย ดังนั้น ร.ฟ.ท.จะต้องปรับแนวคิดการพัฒนาพื้นรอบข้างสถานี เนื่องจากจะเกิดชุมชนและที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ขึ้นตามสถานีรถไฟต่างๆ จึงได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.สำรวจที่ดินตามย่านสถานีทั่วประเทศและทำเป็นกลุ่มเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่สอดคล้องกับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ จะต้องสำรวจที่ดินตามสถานีต่างๆ ว่าแปลงใดมีศักยภาพเหมาะสมสำหรับการพัฒนาเป็นอะไร เช่น ที่อยู่อาศัย หรือย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยจะต้องร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เพื่อวางแผนพัฒนาร่วมกันแบบยั่งยืนและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากที่ดินรถไฟ เพราะหากพึ่งรายได้จากค่าโดยสารอย่างเดียวจะมีปัญหาขาดทุนเหมือนเดิม ต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นจากที่ดินมาช่วยลดการขาดทุน 

“รถไฟต้องปรับแนวคิดใหม่ จากที่ให้เช่าพื้นที่ย่านสถานีทำเป็นตึกแถวอย่างเดียว โดยให้แนวทางการดำเนินงานในระหว่างนี้ว่าหากแปลงใดที่กำลังจะหมดสัญญาหรือหมดสัญญาแล้วไม่ควรต่อสัญญา แปลงใดว่างก็ควรสงวนไว้ก่อนเพื่อเอาที่ดินกลับมาอยู่ในมือไม่ให้ติดสัญญาผูกพันเพราะจะทำให้วางแผนพัฒนายาก ซึ่งให้เร่งสำรวจทำข้อมูลจัดกลุ่มที่ดินที่มีศักยภาพ และแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่สถานีตามแนวโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้แล้วเสร็จภายในปีนี้” นางสร้อยทิพย์กล่าว

สำหรับความคืบหน้ารถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 767 กิโลเมตร มูลค่า 6.6 หมื่นล้านบาท โดย ร.ฟ.ท.รับผิดชอบศึกษาออกแบบรายละเอียด 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สายตะวันออกเฉียงเหนือช่วงมาบกะเบา-ถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร สายเหนือช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 118 กิโลเมตร สายใต้ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร โดยได้ลงนามว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการแล้ว โดยจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน คาดว่าในต้นปี 56 จะเสนอ ครม.เพื่อประกวดราคา ส่วนอีก 2 เส้นทาง คือ สายนครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร และสายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ศึกษาออกแบบรายละเอียด จะเสนอ ครม.ขอประกวดราคาได้ภายในปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น