สนข.สั่งกรมเจ้าท่าทบทวนแผนท่าเรือปากบารา ประเมินปัจจัยแวดล้อมใหม่หลัง ทวายเกิด เผยกรมทางหลวงเตรียมผุดมอเตอร์เวย์ หาดใหญ่-สะเดา มูลค่า 9.2 พันล้านบาท เชื่อมมาเลเซีย ยันรถไฟทางคู่เดินตามแผน แต่ช้ากว่ามาเลเซียที่จะเสร็จ 1,500 กม.ในปี 57
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงแผนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูลอีกครั้ง โดยประเมินภาพรวมการขนส่งปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่นกรณีผลกระทบจากท่าเรือทวายและการขยายท่าเรือสงขลา ซึ่งเร็วๆ นี้จะต้องสรุปผล โดยภาพรวมท่าเรือปากบารามีความจำเป็นต่อการนำเข้าและส่งออกของไทย แต่จะต้องทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อผลักดันโครงการให้เกิดขึ้น เนื่องจากขณะนี้สินค้าทางภาคใต้ของไทย เช่น ยางพารา ต้องขนส่งทางรถไฟและถนนไปที่ท่าเรือของมาเลเซีย ซึ่งเป็นการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศอย่างมาก
ส่วนโครงข่ายคมนาคมเชื่อมภาคใต้กับมาเลเซียนั้นยังมีความไม่สะดวกอยู่ ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) กำลังศึกษาทบทวนแผนก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) จาก อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา ระยะทาง 54 กิโลเมตร มูลค่า 9,250 ล้านบาท ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เดินทางเข้าออกระหว่างมาเลเซียกับไทยที่เพิ่มมากขึ้นจนเกิดความแออัด และช่วยให้การขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนรถไฟทางคู่สายใต้ ระยะเร่งด่วนคือ ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบตามแผนจะก่อสร้างเสร็จในปี 2558 ส่วนระยะ 2 ช่วงหัวหิน-ประจวบฯ และช่วงชุมพร-สุราษฎร์ฯ แล้วเสร็จปี 2562 ส่วนระยะ 3 ช่วงสุราษฎร์ฯ-ปาดังเบซาร์ และหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก แล้วเสร็จปี 2575
ในขณะที่ขณะนี้ทางมาเลเซียกำลังดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะทางรวม 1,500 กิโลเมตร ขนาดราง 1 เมตรจะแล้วเสร็จในปี 2557 ซึ่งจะทำให้สินค้าทางภาคใต้ของไทยไปส่งออกที่ท่าเรือปีนังของมาเลเซียมากขึ้นเพราะรองรับการวิ่งในความเร็วสูงสุดถึง 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนการขนส่งผู้โดยสารนั้น มาเลเซียมีรถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการแก่ประชาชนไปแล้ว 2 ปี คืออิโป-กัวลาลัมเปอร์ ระยะทาง 300 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงครึ่ง ราคา 350 บาท มีประชาชนเข้าใช้บริการประมาณ 8 แสนคนต่อปี และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยแนวคิดในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ของไทยและมาเลเซียเหมือนกันคือ แก้ปัญหาจุดตัดกับถนน โดยก่อสร้างสะพาน หรือทางลอดให้มีความปลอดภัยสูงสุดและเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง แต่ปัญหาการขาดหัวรถจักรทำให้ปริมาณการขนส่งทางรถไฟทางใต้ลดลงจาก 10 ขบวนต่อวันเหลือ 4-5 ขบวนต่อสัปดาห์ และผู้ประกอบการหันไปใช้รถยนต์แทน
อย่างไรก็ตาม การเตรียมระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งของไทยเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน (AEC) นั้นยังต้องเร่งในหลายส่วน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มาเลเซียพัฒนาระบบรถไฟทางคู่,ถนนและท่าเรือได้อย่างรวดเร็วเพราะไม่มีปัญหาด้านเงินลงทุน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนให้ความร่วมมือในการผลักดันไม่มีการคัดค้านมากนัก