“จารุพงศ์” ชง “นายกฯ” ยุติปัญหารถไฟสีแดง-ทางคู่ สัปดาห์หน้า ชี้ต้องเซ็นสัญญาสายสีแดงเพราะประมูลแล้ว ยันไม่ขัดแย้ง “ชัจจ์” แค่ความเห็นต่างกันเท่านั้น ด้าน”ชัจจ์”ค้านชนฝา ล้มประมูลสัญญา 2 สีแดง ใช้ราง 1.345 เมตรของแอร์พอร์ตลิงก์ แทน ร.ฟ.ท.เผยแก้สัญญาหรือล้มประมูลถูกผู้รับเหมาฟ้องแน่ และเสียโอกาส อีก 12 ปีถึงได้ใช้รถไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมประชุมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) อนาคตโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และโครงการทางคู่ เพื่อหาข้อสรุปในการก่อสร้างและการปรับขนาดรางจาก 1 เมตร (Meter Gauge) เป็นขนาด 1.345 เมตร (Standard Gauge) โดยมีสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รายงานการศึกษา โดยนายจารุพงศ์เปิดเผยว่า เบื้องต้นรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญา 1 (สถานีกลางบางซื่อ) จะต้องเซ็นสัญญากับกิจการร่วมค้า SU แน่นอน ส่วนสัญญา 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟ) เปิดซองราคาไปแล้วและส่วนต่อไปมหาชัย ซึ่งใช้ราง 1 เมตรจะปรับเป็น 1.345 เมตร และใช้ร่วมกับแอร์พอร์ตลิงก์ได้อย่างไร จะต้องประชุมในรายละเอียดอีกครั้ง
ส่วนรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง 873 กม. วงเงิน 7.7 หมื่นล้านบาทนั้น จำเป็นต้องเดินหน้าต่อไปเพราะเป้าหมายเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ 2% ตามแผน ส่วนข้อเสนอ พล.ต.ท.ชัจจ์ที่ให้เลือกก่อสร้างเป็นช่วงๆ เฉพาะจุดที่มีปัญหารอหลีกเพื่อประหยัดค่าก่อสร้างและนำเงินไปลงทุนรถไฟความเร็วสูงนั้นจะต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยให้ ร.ฟ.ท.ทำข้อมูลแต่ละแนวทางและข้อดีข้อเสียเพื่อ รายงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และประชุมหาข้อสรุปในสัปดาห์หน้าซึ่งเชื่อว่าจะได้ข้อยุติที่ชัดเจน
“นายกฯ ให้รัฐมนตรีคมนาคมทั้ง 3 คนร่วมกันหาคำตอบให้ชัดเจนว่า อนาคตของรถไฟฟ้าสีแดงและรถไฟทางคู่จะเป็นอย่างไร จะมีหรือไม่มี วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียและเงินลงทุนที่ต้องใช้เพิ่มที่ประชุมไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะความเห็นแตกต่างกันได้ ซึ่งข้อเสนอและเรื่องที่ พล.ต.ท.ชัจจ์เป็นห่วงให้ ร.ฟ.ท.นำไปปรับปรุงแก้ไขและจะอยู่ในรายงานนี้ด้วย” นายจารุพงศ์กล่าว
พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวว่า ยังยืนยันความคิดที่ควรยกเลิกรถไฟสีแดงสัญญา 2 ซึ่ง บมจ.อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ชนะประมูล เพราะการวางรางขนาด 1 เมตร แนวเส้นทางซ้อนกับแอร์พอร์ตลิงก์ซ้อนที่มีทั้งขบวนรถด่วน (Express Line) และรถธรรมดา (City Line) โดยสามารถต่อขยายจากดอนเมืองไปถึงรังสิตได้ สีแดงจึงไม่จำเป็นต้องสร้าง ส่วนรถไฟทางคู่ 6 เส้นทางควรก่อสร้างเฉพาะช่วงรอหลักเพื่อประหยัดเงินลงทุนเอาไปใช้โครงการรถไฟความเร็วสูงที่เป็นศักดิ์ศรีของประเทศดีกว่า และไม่เห็นด้วยกับรายงานของ ร.ฟ.ท.ที่จัดทำมาเพราะมีหลายข้อไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ด้าน นายชัชชาติกล่าวว่า รถไฟสีแดงจะเชื่อมการเดินทาง 2 ระบบทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางไกล ยกระดับทำให้ไม่มีปัญหาจุดตัดกับถนนส่วนราง 1 เมตรนั้น หากเห็นว่าไม่เหมาะสมสามารถปรับเป็น 1.435 เมตรได้ หรืออาจจะปรับลดจำนวนราง 1 เมตรที่ตัวสถานีกลางบางซื่อได้ หลักการคือต้องดูว่าโครงสร้างไหนใช้ร่วมกันได้บ้างเพื่อประหยัดเงินลงทุน สำหรับรถไฟทางคู่นั้น จะต้องนำแผนรถไฟความเร็วสูงมาพิจารณาร่วมและปรับให้เหมาะสมในแต่ละเส้นทาง เป็นต้น
นายวรวุฒิ มาลา ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การศึกษาข้อมูลในการดำเนินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิตพบว่า หากลงนามในสัญญากับผู้รับเหมาในขณะนี้จะสามารถดำเนินโครงการได้ทันที ไม่เกิดความสูญเปล่ารวมถึงสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่ก่อสร้างเสร็จแล้วก็จะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงที่สถานีบางซื่อได้ภายใน 5 ปี แต่หากมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานใหม่ จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3-5 ปี ในการออกแบบรายละเอียด เงินกู้ต่างๆใหม่ และหากมีการยกเลิกโครงการเพิ่มเริ่มใหม่จะต้องใช้เวลา 8-12 ปี จึงจะสามารถใช้บริการได้
แต่หากแก้ไขแผนโดยทำสัญญาปลายเปิดเพื่อเปลี่ยนขนาดรางจาก 1 เมตรเป็น 1.435 เมตรได้ นอกจากสูญเสียงบประมาณสีแดงช่วงตลิ่งชันแล้วยังอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ชนะการประกวดราคาเพราะถือเป็นการแก้ไข TOR ในสาระสำคัญ และยังเสียโอกาสในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าทางไกลจากทั่วประเทศ ที่จะเข้าสู่ศูนย์กลางที่บางซื่อ