xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์ล้มเหลวจ่อยุบบริษัท ตั้งเป็นหน่วยธุรกิจเดินรถของ ร.ฟ.ท.แทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ประภัสร์” เผยมีแนวคิดยุบบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด และตั้งเป็นหน่วยธุรกิจของ ร.ฟ.ท.เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์แทน หลังประเมินกว่า 2 ปี การบริหารล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่คล่องตัวเหมือนที่ตั้งเป้าไว้ และโอนพนักงานมาทั้งหมดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรถไฟความเร็วสูงด้วย    

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากได้มีการจัดตั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ขึ้นมาเพื่อเป็นผู้ให้บริการเดินรถรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วนั้น ปรากฏว่าการดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะยุบบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด โดยจะจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit : BU) ภายใต้ ร.ฟ.ท.แทน ซึ่งได้เสนอแนวคิดดังกล่าวต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.แล้ว และบอร์ดได้สั่งการให้จัดทำรายละเอียดที่ชัดเจนก่อนนำมาเสนอให้พิจารณาอีกครั้ง โดยที่ผ่านมาแม้บริษัทจะมีรูปแบบเป็นเอกชนแต่ไม่มีความคล่องตัวทำให้การบริหารงานมีปัญหา ไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนรายได้ปัจจุบันมีประมาณ 40 ล้านบาทต่อเดือน ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายที่มีถึง 48 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้จะโอนพนักงานทั้งหมดของบริษัทกลับมาอยู่ในหน่วยธุรกิจที่จัดตั้งขึ้น และมีหน้าที่บริหารจัดการเรื่องรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยจะดูแลรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับการบริการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เนื่องจากบุคลากรจากบริษัทมีความรู้ความสามารถด้านรถไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณภาครัฐในการหาบุคลากรด้วย

“เรื่องนี้ยังไม่ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคมให้รับทราบ แต่ได้มีการพูดคุยกับพนักงานเรื่องนี้แล้ว ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะการบริหารงานมีปัญหาจริง หลักการบริษัทต้องทำงานแบบเอกชน แต่ไม่สามารถทำได้จริง การบริหารจัดการมีปัญหา เช่น รถไม่เคยล้าง สกปรกมาก ทำให้บริการสู้กับเอกชนอย่าง BTS ไม่ได้ ค่าโดยสารงถูกควบคุมจากภาครัฐ ทำงานไม่คล่องตัว” นายประภัสร์กล่าว

สำหรับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เดิมขื่อบริษัท เดินรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 140 ล้านบาท ที่ผ่านมามีปัญหาการเงินไม่คล่องตัว การดำเนินงานยังอยู่ภายใต้ ร.ฟ.ท. คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (กนร.) จึงมีมติให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด เป็นรัฐวิสาหกิจใหม่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 100%

นายประภัสร์กล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงว่า ได้เสนอแนวคิดต่อสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครรวมถึงพื้นที่ภาคกลางทั้งหมดควรเป็นโครงสร้างยกระดับ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการทรุดตัวสูงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการเดินรถ และทำให้เสียค่าซ่อมบำรุงสูงด้วย ซึ่งไม่อยากให้การศึกษาออกแบบเน้นที่เรื่องค่าก่อสร้างที่ต่ำ เพราะสุดท้ายแม้ก่อสร้างได้ในราคาต่ำ แต่จะต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงที่แพงกว่าหลายเท่า
กำลังโหลดความคิดเห็น