ส.ส.โคราช ภท.เชื่อ กู้ 2 ล้านล้าน “แม้วคิด-ปูกู้-คมนาคม ผลาญ-ปชช.ใช้หนี้” ชี้กลืนน้ำลายแถลงนโยบาย ปชช.ถูดรีดภาษีรับเคราะห์ ไม่โปร่งใสส่อทุจริต จี้ถอนร่าง “อรรถวิชช์” บี้นำเอกสารโครงการแนบเพื่อผลทาง กม. แฉยัดไส้โครงการเล็กเป็นใหญ่ ตั้งฉายารถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการกุด เหตุไม่จริงอย่างที่พูด “วราเทพ” ยันตัดงบได้ แต่อยู่ที่เสียงข้างมาก ยัน รบ.ใหม่แก้โครงการได้ ย้ำไม่ขัด รธน.
วันนี้ (28 มี.ค.) นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรณ์ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... วงเงิน 2 ล้านล้านบาทว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ สตรีคนแรกและกำลังจะเป็นรัฐบาลที่สร้างประวัติศาสตร์ที่เอาประเทศเป็นหลักประกัน และเอาประชาชนจำนวน 64 ล้านคนเป็นนายประกัน อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวยังขัดต่อการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 54 ที่ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง และเงินกู้ดังกล่าวได้สร้างดอกเบี้ยและเงินต้นจำนวน 5.16 ล้านล้านบาท ตนเชื่อว่าโครงการนี้ “ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์กู้ รัฐมนตรีคมนาคมใช้เงิน แต่ประชาชนร่วมใช้หนี้ และตนเชื่อว่าทุกคนเสียชีวิตไปหนี้ก็ยังใช้ไม่หมด และหนี้ก็ตกกลับลูกหลานคนไทยจำนวน 1.5 แสนบาทต่อคน ทั้งนี้ ตนได้อ่านกฎหมายดังกล่าวทั้งหมด 19 มาตรา อย่างละเอียดไม่มีที่มาของการหารายได้มาใช้หนี้แต่อย่างใด คงหนีไม่พ้นที่ประชาชนจะต้องใช้หนี้ด้วยการถูกรีดภาษี
นายบุญจงกล่าวว่า โครงการไม่มีรายละเอียด ส่อไปในทางไม่โปร่งใส อย่างการใช้เงินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีรายละเอียดอย่างชัดเจน ถือว่าไม่มีความพร้อม และเชื่อว่าต่อไปผู้รับเหมาจะต้องมาเขียนราคากลางอย่างแน่นอน ทั้งนี้ตนเรียกร้องนายกฯ ให้ถอนร่างออกไปและขอไปทำประชามติไปสอบถามประชาชนก่อน
ส่วนนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า กรณีที่รัฐบาลไม่ยอมนำเอกสารรายละเอียดโครงการ 261 หน้ามาใส่ไว้ในบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.บ.ดังกล่าวเท่ากับไม่มีผลทางกฎหมาย จึงส่งผลให้การตั้งคณะกรรมาธิการหลังรับหลักการวาระ แรก ก็ไม่มีผลตามไปด้วย และรัฐบาลจึงสามารถโยกเงินงบประมาณได้อย่างสนุกสนานเหมือนกับการตีเช็คเปล่า จึงขอเสนอให้รัฐบาลนำเอกสารดังกล่าวไปไว้ในบัญชีแนบท้ายเพราะฝ่ายค้านจะได้ตัดงบประมาณได้และมีสภาพใช้เป็นกฎหมาย นอกจากนี้ บางโครงการยังมีการยัดไส้ ทั้งที่ไม่ใช่โครงการใหญ่แล้วไปให้อำนาจกรมทางหลวง พัฒนาด้านการเกษตร อุตสาหกรรมและท้องถิ่น รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ระบุว่าจะทำเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านแต่ก็ไปไม่ถึง ดังนี้จึงขอเรียกว่า “โครงการกุด” ยกตัวอย่างเช่น สายอีสานก็ไปถึงแค่โคราช ภาคใต้ก็ไปถึงแค่หัวหิน และภาคเหนือก็ไปถึงแค่แค่เชียงใหม่
ด้านนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า การพิจารณาในวันนี้เป็นการพิจารณารับร่างหลักการในวาระที่ 1 จากนั้นต้องมีการตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 เราคงไม่สามารถพูดได้หมดในวาระรับหลักการนี้ เพราะมีเป็นพันๆ โครงการ และเอกสารอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่แตกต่างกับงบประมาณประจำปีปกติเลย ทั้งนี้ เราหลีกเลี่ยงการใช้ พระราชกำหนด (พรก.) เพราะเห็นว่าหากใช้ พรก. ทางสภาจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย มีแต่เพียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบเท่านั้น ซึ่งการเสนอแบบ พ.ร.บ. สภายังสามารถเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในรายละเอียดได้
นายวราเทพ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะ ส.ส. หรือ กมธ. เอกสารที่ท่านรับไปมีจำนวนกว่า 300 หน้า ท่านยังสามารถเสนอแปรญัตติได้ทั้งหมด เหมือนกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเวลาเสนอร่างก็มีเพียงไม่กี่มาตรา โดยแต่ละมาตราก็จะระบุว่าในแต่ละกระทรวงรับงบประมาณไปจำนวนเท่าไหร่และอาจจะมีการแบ่งย่อยไปในแต่ละกรม เป็นเอกสารที่เรียกว่าเป็นกฎหมาย จากนั้นเราจะได้รับเอกสารที่เป็นกล่องที่เรียกว่าเอกสารขาวคาบแดง ในวาระที่ 1 โดยในเอกสารจะมีรายละเอียดของโครงการเฉกเช่นเดียวกับเอกสารจำนวน 300 หน้า ที่ได้มีการแจกให้กับสมาชิกไป ซึ่งหากท่านเห็นว่าไม่เห็นด้วยในบางโครงการก็สามารถตัด ปรับ ลด ได้ และหากมีเสียงข้างมากเห็นด้วยก็มีผลให้ทำได้อยู่แล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้งบประมาณไม่ถึง 2 ล้านล้านบาท โดยตัดลดเหลือเท่าไหร่ก็เหลือจำนวนเท่านั้น ตามที่ใช้คำว่าเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท
นายวราเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่บอกว่า เมื่ออนุมัติไปแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเทียบเคียงกับ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี เช่น อนุมัติงบให้กรมทางหลวง แต่รายละเอียดไม่ได้เป็นตัวกฎหมาย เมื่อทำไปแล้วเกิดปัญหา เช่น มีการเวนคืนที่ดินแล้วเกิดปัญหา งบประมาณดังกล่าวก็จะไม่ได้ถูกใช้ และอาจต้องตกไปในปีต่อไป หรืออาจมีการปรับเปลี่ยน ก็เป็นอำนาจของผู้บริหาร ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติเองก็สามารถตรวจสอบโดยการสอบถามว่าเหตุจึงไม่เป็นไปตามงบประมาณ ซึ่งสามารถตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารได้
นายวราเทพ กล่าวต่อว่า หากนายชัชชาติได้รับอนุมัติ พรบ.เงินกู้นี้ และหากทำไม่ได้ในบางโครงการจะต้องมาชี้แจงในสภาถึงสาเหตุ และไม่สามารถเปลี่ยนไปทำโครงการอื่นได้เนื่องจากโครงการอื่นนั้นไม่ได้อยู่ในแผนงานในบัญชีแนบท้าย เพราะถือว่าขัดต่อกฎหมาย เช่นเดียวกับงบประมาณประจำปี ทั้งนี้ ตนขอถามว่า จะเอาทั้งหมดมายัดในบัญชีแนบท้ายตามที่ท่านท้านั้นมันยาก อีกทั้งไม่ปรากฏแม้แต่ในงบประมาณประจำปีที่ให้นำโครงการยิบย่อยมาใส่ใน พ.ร.บ. เพราะหากเกิดเหตุการณ์จำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ก็ต้องนำกลับเข้าสภาเพื่อแก้ไขจึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะเอารายละเอียดพันๆ โครงการ ไปใส่ในเอกสาร พ.ร.บ.เงินกู้ เช่นตัวอย่างที่ผ่านมา
นายวราเทพ กล่าวด้วยว่า คุณบุญจง เองก็เคยลงมติรับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ให้กระทรวงการคลังกู้ เพื่อฟื้นฟูประเทศ เมื่อปี 2552 ในวงเงิน 4 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงขอถามว่าในวันนั้นท่านได้อภิปรายเหมือนในวันนี้หรือไม่ และในวันนั้น สภาได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทต่อจาก พ.ร.ก. 4 แสนล้าน ซึ่ง ครม.ก็ได้ให้ความเห็นชอบโดยไม่มีเอกสารประกอบมาแล้ว ซึ่ง พ.ร.บ. ในวันนั้นกับวันนี้ ก็มีการเขียนคล้ายๆ กันหมด โดยในวันนั้นมี 13 มาตรา แต่ในวันนี้มี 19 มาตรา แต่โชคดีที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จเพราะไม่มีรายละเอียดโครงการ ซึ่งเขียนเพียงว่าโครงการต่างๆ เมื่อ ครม.ให้ความเห็นชอบในกรอบจึงจะกลับมารายงานต่อสภาให้รับทราบเท่านั้นเอง และที่สำคัญระหว่างที่มีการดำเนินการใน 7 ปี ใครเป็นเสียงข้างมากหรือมีความต้องการแก้ตรงไหนก็สามารถที่จะแก้ได้ ดังนั้นการที่บอกว่าเซ็นเช็คเปล่าตนขอเรียนว่าต่างจาก พรก. และ พรบ 4 แสนล้านของโครงการไทยเข้มแข็งเพราะตรงนั้นไม่มีรายละเอียดของโครงการ และที่ระบุว่าอาจจะขัดต่อวิธีการงบประมาณนั้น ขอเรียนว่าเอกสารที่ดำเดินการได้ล้อกับวิธีการงบประมาณทุกประการ โดยทำตามคำแนะนำของทางราชทั้งสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง
นายวราเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนที่มองว่าขัดต่อ รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของศาลที่จะต้องตีความ ซึ่งในวันนี้เราเองก็พึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลเช่นเดียวกับเมื่อสมัยที่ฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลเมื่อครั้งออก พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งเช่นกันซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีก็ได้ให้ความเห็นมาว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในมาตรา 169 กำหนดว่าว่าการจ่ายเงินแผ่นดินจะต้องทำตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายื่นที่ให้อำนาจส่วนการจ่ายเงินนั้นตาม พ.ร.บ กู้เงิน ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินแผ่นดิน ดังนั้นจึงไม่ได้ขัดหรือแย้ง รธน.แต่อย่างใด