xs
xsm
sm
md
lg

40 ส.ว. จับมือ ปชป. ยื่น ปธ.สภาฯ ชงต่อ ศาล รธน.ค้าน รบ.กู้ 2 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไพบูลย์-วิรัตน์” นำรายชื่อ ส.ว.-ส.ส. ร่วม 76 คน ยื่น “ค้อนปลอม” ส่งเรื่องศาล รธน. ตีความร่าง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน ย้ำขัด รธน. แถมเปิดช่องเอกชนร่วมลงทุนไม่ผ่านประมูล ขวาง ปชช.มีส่วนร่วม ปิดช่องตรวจสอบ ส่อโกงโยนภาระ ปชช. ตัวแทน 40 ส.ว. ชี้ดันร่างผ่านจะมีปัญหานำไปปฏิบัติ

วันนี้ (28 มี.ค.) ที่บริเวณหน้าห้องประชุมรัฐสภา อาคารรัฐสภา 1 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ยื่นรายชื่อสมาชิกรัฐสภา จำนวน 76 คน แบ่งเป็น ส.ว.42 คน และ ส.ส.ปชป.35 คน ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งความเห็นต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ... (พ.ร.บ.ร่วมทุน) มีข้อความขัดแย้งรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญ

เช่น 1.ในมาตรา 28 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวฯ กำหนดให้หากโครงการใดต้องมีการจ่ายงบประมาณของแผ่นดิน หรืองบประมาณของหน่วยงานเจ้าของโครงการ หรือจะต้องมีการก่อหนี้ โดยการกู้ หรือการค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ เมื่อคณะกรรมการเห็นชอบหลักการของโครงการแล้วให้เสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ และวงเงินงบประมาณรายจ่ายหรือวงเงินที่จะใช้ในการก่อหนี้ของโครงการ โดยให้ถือว่า การอนุมัติคณะรัฐมนตรีเป็นการอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี ซึ่งเห็นว่าการบัญญัติกฎหมายในลักษณะนี้จะขัดหลักการที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 169 ที่บัญญัติว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีที่กฎหมายบัญญัติ

2.ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้มีผลให้ยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ทั้งฉบับ โดยเฉพาะมาตรา 15 ที่บัญญัติว่าวิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการซึ่งจะต้องใช้วิธีประมูลได้ถูกยกเลิกไปด้วย ทั้งที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ การยกเลิกนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะทำให้การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการขาดความโปร่งใส ขัดต่อการบริหารบ้านเมือง 3.ร่างพ.ร.บ.ทั้งฉบับมีระบุเพียงให้รับฟังความเห็นสาธารณะชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 (1) (2) และ (3)

และ 4.ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ในมาตรา 4 ที่ระบุว่า การร่วมลงทันกับภาคเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใด หรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาตหรือให้สิทธิไม่ว่าลักษณะใด โดยไม่ได้จำกัดว่าหากกรณีเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ รัฐต้องเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่าร้อยละ 51

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ... นอกจากขัดรัฐธรรมนูญแล้วยังเปิดช่องให้ใช้เงินของรัฐร่วมธุรกิจกับเอกชนอย่างง่ายดาย โดยใช้วิธีคัดเลือกที่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องใช้วิธีประมูลแต่ละโครงการหลายแสนล้านบาทเพื่อเป็นการอนุมัติโครงการรองรับการใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท อีกทั้งจะปิดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่จะก่อให้เกิดการหาประโยชน์ของนักการเมือง และผลักภาระให้ประชาชนต้องเสี่ยงกับภาระหนี้สาธารณะ

ดังนั้น จึงเห็นว่า พ.ร.บ.ร่วมทุน ในมาตรา 28, 38 และหมวดที่ 3 มาตรา 19, 20, 21 และ 22 ตราขึ้น โดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 75 วรรคแรก ประกอบมาตรา 78 (4) (5) มาตรา 84 (11) มาตรา 87 (1) (2) และ (3) และมาตรา 169

นายไพบูลย์ กล่าวว่า เชื่อว่า นายสมศักดิ์ จะเร่งส่งหนังสือดังกล่าวให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีการตรวจสอบตามขั้นตอนที่แล้วเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าแม้ว่านายสมศักดิ์ จะเป็นคนของรัฐบาล และการส่งให้ตีความร่าง พ.ร.บ.เอกชนร่วมทุนฯ จะเป็นสิ่งที่ทำให้การบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีปัญหาในอนาคต เพราะขาดเครื่องมือในการนำไปปฏิบัติ และเกิดความล่าช้า แต่โดยรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ชัดเจนจะทำให้นายสมศักดิ์ส่งเรื่องไปทันที

“ตนเป็นห่วงว่า หากร่าง พ.ร.บ.เอกชนร่วมทุนกับรัฐบาล ถูกประกาศใช้จะเป็นสิ่งที่ทำให้การดำเนินการตามโครงการที่ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ได้รับการตรวจสอบ” นายไพบูลย์กล่าว ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากตนรับเรื่องแล้วจะดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน และส่งศาล รธน.โดยเร็ว




กำลังโหลดความคิดเห็น